พระกริ่งหน้าอินเดีย สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2482
ลักษณะเป็นการเททองหล่อโบราณ แบบกริ่งในตัว คือ บรรจุเม็ดกริ่งไว้ภายในองค์พระ ขณะเป็นหุ่นขี้ผึ้ง มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าใหญ่ และพิมพ์หน้าเล็ก
พระกริ่งหน้าอินเดีย จัดสร้างขึ้น ในปี พ.ศ.2482 เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม (ประเทศไทยประกาศสงครามอินโดจีนปี พ.ศ.2483) ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะหวาดกลัว และหวั่นวิตก คณะศิษย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) คือ พระอาจารย์แสวง วัดสระเกศ พระชัยปัญญา อธิบดีศาลอาญา พระราชอากร อธิบดีกรมสรรพากร ได้ดำริร่วมกันที่จะสร้างพระกริ่ง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชน จึงนำความกราบบังคมทูล และทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ไปเป็นประธานสร้างพระกริ่งที่วัดสระเกศฯ แต่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงเมตตาอนุญาตและให้หล่อที่วัดสุทัศน์ โดยทรงมอบหมายให้ ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) เป็นผู้ดำเนินงาน
ในการสร้างพระกริ่งหน้าอินเดียของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เริ่มตั้งแต่การลงแผ่นยันต์อักขระ 108 อย่าง แล้วก็ยังมียันต์ 14 นะ ขณะลงเหล็กจารต้องกำหนดจิตเป็นสมาธิ รวมกับเงินพดด้วงตรายันต์และตราราชวัตรองค์ละ 1 เม็ดน้ำหนัก 1 บาท โดยใช้โลหะทองล่ำอู่เหลืองเป็นตัวยืน โดยมีบันทึกว่าใช้เงินพดด้วงทั้งหมดประมาณ 2 กระป๋องน้ำขนาดเล็ก โดยพิธีหล่อได้กำหนดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2482 ณ อุโบสถวัดสุทัศน์ฯ
|