ประวัติการจัดสร้าง พระสมเด็จวัดปากน้ำ รุ่น 4 หรือ พระธรรมขันธ์ จากการที่พระของขวัญรุ่น 3 ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำได้สร้างไว้เป็นรุ่นสุดท้ายได้หมดลงแล้ว และปรากฏว่ายังมีผู้นิยมต้องการพระวัดปากน้ำอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทางวัดปากน้ำโดยคณะศิษยานุศิษย์จึงได้ทำการจัดสร้างพระขึ้นใหม่อีกรุ่นหนึ่ง นับเป็นรุ่นที่ 4 ต่อจากรุ่นที่ 3 ที่หลวงพ่อสดได้สร้างเอาไว้ ทางวัดได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นโดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาส วัดปากน้ำเป็นประธาน และได้มอบหมายให้พระภาวนาโกศลเถร (วีระ คณุตฺตโม) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระดำเนินการจัดสร้างพระผงธรรมขันธ์รุ่น 4 ขึ้น โดยได้เริ่มจัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมาพระรุ่น 4 นี้มีชื่อเรียกว่า “พระธรรมขันธ์” ส่วนมวลสารขององค์พระ สร้างโดยการนำผงของพระของขวัญ เดิมซึ่งแตกหักชำรุดที่ทางวัดได้เก็บรักษาไว้ทั้ง 3 รุ่น คือ สมเด็จวัดปากน้ำพระรุ่น 1, รุ่น 2 และ รุ่น 3ซึ่งเป็นพระของขวัญของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)ได้สร้างเอาไว้ มาเป็นส่วนผสมในเนื้อพระรุ่นนี้และ ผสมรวมกันกับผงพุทธคุณใหม่ที่ทางวัดได้ทำผงพุทธคุณขึ้นใหม่ เรียกว่า พระธรรมขันธ์ และเพื่อทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเข้าพิธีปลุกเสกโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่สำเร็จได้วิชชาธรรมกายปลุกเสกให้ตลอดไตรมาส 3 เดือน ในพรรษา และได้เริ่มแจก ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2515 อันเป็นวันออกพรรษาและหมดลงในปี พ.ศ.2527 การอธิษฐานจิตในการใช้บูชา เมื่อท่านทั้งหลายได้รับไปแล้วจงเก็บรักษาไว้ให้ดี เมื่อมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นจงตั้งจิตอธิษฐานเอาเถิดฯ พระธรรมขันธ์ หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า พระวัดปากน้ำ รุ่น 4 ถือเป็นพระผงของขวัญของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ รุ่นแรก ที่สร้างหลังจากหลวงพ่อสดได้ มรณะภาพ พระผงธรรมขันธ์รุ่น 4 นี้ ถึงแม้จะเป็นรุ่นที่คณะศิษย์ของหลวงพ่อเป็นผู้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกหรือเป็นรุ่นแรกที่คณะศิษย์ได้สร้างขึ้นก็ตาม หากจะกล่าวถึงในด้านชื่อเสียงและความนิยมโดยทั่วไปแล้วก็นับได้ว่าไม่แตกต่างจากพระของขวัญรุ่น 1 รุ่น 2 และรุ่น 3 ที่หลวงพ่อสดได้สร้างขึ้นเพราะว่าในรุ่นนี้ ได้นำเอาผงเก่าพระของขวัญของหลวงพ่อสดทั้ง 3 รุ่นมาเป็นส่วนผสมด้วยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือได้ทำพิธีบรรจุอานุภาพตามหลักวิชชาธรรมกายเหมือนรุ่น 1-2-3 ซึ่งทางคณะศิษย์ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย จนถึงปัจจุบัน พระธรรมขันธ์รุ่น 4 นี้ จึงคงความศักดิ์สิทธิ์มีผู้นิยมนำไปสักการบูชากันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งหมดในปี พ.ศ. 2527