“พระอุปคุต เขมร เนื้อสัมฤทธิ์” ( เลี่ยมทองฝั่งเพชร )
พระอุปคุต เขมร เป็นพระที่มีอายุการสร้างประมาณ 100 ถึง 200 ปี พุทธลักษณะเป็นศิลปะแบบเขมร ในยุคต้นจะสร้างด้วยเนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน ผิวออกเทาอมดำ ยุคต่อมาสร้างด้วยสัมฤทธิ์ทอง สัมฤทธิ์ลงหิน พระอุปคุตทุกองค์ไม่ว่าจะสร้างขึ้นในสมัยใดก็ตาม จะไม่เหมือนกันเลยแม้แต่องค์เดียว เพราะใช้วิธีปั้นหุ้นทีละองค์ ไม่ได้เทหล่อในแม่พิมพ์ พุทธคุณเน้นหนักทางอิทธิปาฏิหาริย์และอยู่ยงคงกระพัน
“พระอุปคุต” หรือ "พระบัวเข็ม" เดิมเป็นพระพุทธรูปมอญ เข้ามาแพร่หลายในไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระรามัญได้นำมาถวายพระวชิรญาณภิกขุ ( ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ) โดยเชื่อในพุทธคุณว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย และมีอิทธิฤทธิ์ในทางขอฝนอีกด้วย
“พระอุปคุต” หรือ “พระบัวเข็ม เป็นพระที่เป็นที่นิยมของชาวมอญ ชาวเขมร ชาวไทยทางเหนือ และอีสาน สมัยก่อนพระมอญได้นำพระบัวเข็มมาถวายรัชกาลที่ 4 ในตอนที่พระองค์ทรงผนวชอยู่ แม้รัชกาลที่ 5 ก็ยังทรงกล่าวถึงความเป็นมาในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนด้วย
ชีวประวัติเชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบพระยามาร มีเรื่องเล่ามาว่า ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี ( ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพระยามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพระยามารจนพระยามารยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า "พระบัวเข็ม"
ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยวนว่า “พระบัวเข็ม” หรือ”พระอุปคุต” ยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวไทยวนจะเรียกว่าเป็น "วันเป็งปุ๊ด" พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น
|