พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ พิมพ์กลาง ปี2506
"พระอาจารย์ทิม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2506 แล้วมอบให้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เพื่อแจกจ่ายแก่ชาวล้านนา"
พระหลวงพ่อทวดรุ่นที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นการอาราธนาจากใต้ขึ้นเหนือกันเลยทีเดียว นั่นคือ “พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ ปี 2506” นับเป็นของดีที่มีประวัติการจัดสร้างชัดเจน และสนนราคาพอเช่าหากันได้อยู่ครับผม
พระอาจารย์ทิม ธรรมธโร วัดช้างให้ ได้นำพระเครื่อง พระบูชาและกระดาษพระคาถาฯมามอบให้วัดพระสิงห์ ในปีพ.ศ. 2506 ซึ่งในขณะนั้นตรงกับสมัยที่ พระธรรมราชานุวัตร (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) เป็นเจ้าอาวาส จำนวน 1 กล่อง ก็หลายพันองค์อยู่ โดยองค์พระบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก ถุงละ 5 องค์ 5 พิมพ์ด้วยกัน ในถุงยังมีกระดาษพิมพ์คาถาบูชาหลวงพ่อทวด ‘นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา’ ใส่กำกับมา นอกจากนี้ พระอาจารย์ทิมยังได้นำส่วนหนึ่งไปแจกที่วัดไทร จ.นครสวรรค์ และในปีนั้นเองทางวัดก็ได้นำวัตถุมงคลเหล่านี้ ออกมาให้ประชาชนได้บูชา และเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนท้องถิ่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาถึงในปี พ.ศ. 2516 เมื่อพระธรรมราขานุวัตร ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อเสร็จสิ้นงานพระราชทานเพลิงศพในปีพ.ศ 2517 ทางวัดจึงได้รวบรวมวัตถุมงคลทั้งหมด เข้าไปเก็บรักษาไว้ใน กุฎิตึกการรถไฟ ต่อมา ปีพ.ศ. 2535 กุฎิตึกการรถไฟ จึงถูกเปิดอีกครั้งเพื่อทำการบูรณะซ่อมแซม ทางวัดจึงได้นำวัตถุมงคล หลวงปู่ทวดวัดพระสิงห์ ออกมาให้ประชาชนได้บูชาอีกครั้ง เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ที่ทำให้วัตถุมงคลหลวงปู่ทวดวัดพระสิงห์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
วัตถุมงคลหลวงปู่ทวดวัดพระสิงห์ ถือว่าได้มีพิธีปลุกเสกด้วยกันทั้งหมดสองครั้ง
โดยครั้งแรก พระอาจารย์ทิม ได้ทำพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้ ก่อนจะนำมามอบให้กับวัดพระสิงห์ ในพ.ศ. 2506 ครั้งที่สอง ได้กระทำการปลุกเสกพร้อมกับพิธีพุทธาพิเษก พระกริ่งนเรศวรเมืองงาย ในปีพ.ศ. 2512 ณ. วัดพระสิงห์ ซึ่งในครั้งนั้น พระอาจารย์ทิม ได้เดินทางมาร่วมพิธีด้วย โดยพิธีจัดให้มีขึ้นในวันที่ 15 มกราคม ปีพ.ศ.2512 ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยพระสงฆ์เกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายมาร่วมพิธีปลุกเสก เช่นเดียวกัน สำหรับพิธีพุทธาพิเษกในครั้งนี้ มีพระอาจารย์ไสว สุมโน วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
1. พระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม) วัดช้างให้ ปัตตานี
2. พระเทพวิสุทธิเมธี (หลวงพ่อเจีย) วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ
3. พระครูวิริยะกิติ (หลวงปู่โต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ
4. พระครูโสภณกัลยาณมิตจร (หลวงพ่อเล่ง) วัดกัลยานิมิตร กรุงเทพฯ
5. พระครูพิพัฒน์สิริธร (หลวงพ่อคง) วัดบ้านสวน พัทลุง
6. พระครูพุทธิวัฒน์ วัดธรรมจักร พิษณุโลก
7. พระครูอภัยจริยานิยม (หลวงพ่อตุ้ย) วัดใหม่ พิษณุโลก
8. พระครูพิพัฒน์วิหารกิจ วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ
9. พระครูปลัดสงัดคณิสสโร วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ
10. พระราชวิสุทธิ วัดสวนดอก ลำปาง
11. พระราชมุนี วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
12. พระราชปัญญาโสภณ วัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ
13. พระอาจารย์ ชินะวโรภิกขุ (หลวงพ่อนำ) วัดดอนศาลา พัทลุง
14. พระอาจารย์สมคิด วัดรังโฆษิตาราม สุพรรณบุรี
15. พระอาจารย์สม วัดหัวข่วง ลำปาง
16. พระอาจารย์ชุม วัดเกาะ ลำปาง
17. พระวิบูลย์เมธาจารย์ วัดดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
18. พระอริยเมธี วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
19. ครูบาวัง วัดบ้านเด่น ตาก
20. หลวงพ่อนอ วัดท่าเรือ อยุธยา
21. หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติการาม อยุธยา
22. หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์ ลพบุรี
23. หลวงพ่อเที่ยม วัดกษัตรา อยุธยา
24. หลวงพ่อชื่น วัดตำหนักเหนือ นนทบุรี
25. หลวงพ่อคล้าย วัดจันดี นครศรีธรรมราช
26. หลวงพ่อจ้วน วัดเขาลูกช้าง เพชรบุรี
27. หลวงพ่อเปี่ยม วัดเทพธิดา กรุงเทพฯ
28. หลวงพ่อก๊ก วัดดอนขมิ้น กาญจนบุรี
29. หลวงพ่อแจ่ม วัดวังแดงเหนือ อยุธยา
30. หลวงพ่อเล็ก วัดดินแดง นครปฐม
31. หลวงพ่อแดง วัดบางเกาะเทพศักดิ์ สมุทรสงคราม
32. หลวงพ่อเตี่ยง วัดเขารูปช้าง พิจิตร
33. หลวงพ่อจ้อน วัดริ้ว สมุทรสาคร
34. หลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน ลำปาง
35. พระพิธีธรรม 4รูป วัดราชนัดดา กรุงเทพฯ
36. พระพิธีธรรมรามัญ 4รูป วัดตำหนักเหนือ นนทบุรี
37. พระพิธีธรรมภาคพายัพ สำนักจังหวัดเชียงใหม่
พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ ปี 2506 เป็นพระเนื้อว่านผสมดินละเอียดและเกสรดอกไม้ ตามเทคนิคการสร้างพระของเมืองใต้ สีขององค์พระขึ้นอยู่กับปริมาณว่านที่ใช้ผสม ถ้าผสมว่านและกากยายักษ์มาก องค์พระก็จะออกสีดำ แต่ถ้าผสมดินและผงมากกว่าว่าน สีก็จะออกเป็นสีเทาดำ สีน้ำตาลก็มีแต่จำนวนไม่มากนัก มีพิมพ์ทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ
พิมพ์ใหญ่ ฐานรอยพระบาท ลักษณะองค์หลวงพ่อทวดจะคล้ายกับ ‘พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นลอยน้ำ ปี 2502 – 2508’ นั่งบนฐาน ประทับด้วยรอยพระบาท พิมพ์นี้ถือว่าออกแบบได้อย่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำพิมพ์กับพระหลวงพ่อทวดที่สร้างจากวัดไหนเลย ถือเป็น ‘พิมพ์นิยม’ แบ่งย่อยออกได้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าธรรมดาและพิมพ์หน้าผากมีขีด มีทั้ง สีดำ สีเทาดำ และสีน้ำตาล
พิมพ์ใหญ่ ฐานบัว ลักษณะเดียวกับ ‘พิมพ์ฐานรอยพระบาท’ แต่ที่ฐานจะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย แบ่งย่อยออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ลึกและพิมพ์ตื้น พิมพ์ตื้นมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ลึกเล็กน้อย มีทั้ง สีดำ สีเทาดำ และสีน้ำตาล
พิมพ์กลาง ลักษณะเหมือน ‘พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดใหญ่’ อาจเป็นการถอดพิมพ์มา พิมพ์นี้มีจำนวนน้อย เนื้อองค์พระมีสีดำและสีเทา
พิมพ์เล็ก ลักษณะเหมือนกับ ‘พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก หลังตัวหนังสือ’ ซึ่งน่าจะถอดพิมพ์มาเช่นกัน องค์พระส่วนใหญ่จะสวยและคมชัด ด้านหลังเรียบ มีสีดำและสีเทา
พิมพ์จิ๋ว น่าจะเป็นการแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ องค์พระมีขนาดเล็กกว่าทุกพิมพ์ รวมทั้งความสวยงามและรายละเอียดขององค์พระค่อนข้างน้อยกว่าพิมพ์อื่น
และน่าจะมีพิมพ์พิเศษ หน้าปี97 เนื้อดินผสมว่าน สร้างไม่เกิน 50องค์
|