พระสมเด็จ กรุวัดโพธิ์บางปะอิน
ประวัติความเป็นมาของพระกรุนี้ นับว่าเป็นเรื่องราวที่แสดงถึง เจตนาอันบริสุทธิ์ของฆราวาสท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่น และศรัทธาอันแรงกล้า หวังสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยไม่หวั่นเกรงกับคำครหา และบุญกุศลในการมุ่งหวังจะสร้างพระให้ครบ 84,000 องค์ ตามพระธรรมขันธ์ ได้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างในท้องถิ่นของท่าน ตลอดจนแวดวงพระเครื่อง ในทุกวันนี้
ตาหนอม คือชื่อของชายเชื้อสายจีน ผูกเรืออาศัยอยู่ริมน้ำบริเวณปากคลองบ้านโพธิ์ ตะแกมีอาชีพพายเรือขายหมากขายพลู แกมีศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา ใช้เวลาว่างจากงาน ประดิษฐ์พิมพ์พระขึ้นมาหลายพิมพ์ อาทิพิมพ์พระปิดตา พิมพ์สมเด็จ พิมพ์พระพุทธองค์ประทับบนตัวเม่น (คล้าย ๆ พระหลวงพ่อปาน) เมื่อปั้นกดพิมพ์และเผาตามกระบวนการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แกก็ได้นำไปบรรจุในโกฎิเจดีย์ร้างองค์เล็ก ๆ องค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดโพธิ์ บางปะอิน พระเจดีย์นี้ค่อนข้างทรุดโทรมมีโพรงอยู่ด้านบน การทำพระพิมพ์ต่าง ๆ ตาหนอมจะใช้เวลาว่างทำไปเรื่อย ๆ ช่วงเวลาในการทำพระจะเริ่มมาตั้งแต่ปี 2450 -249... เห็นจะได้เมื่อคำนวนจากช่วงอายุของแกเมื่อตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ละแวกนั้น
นับถึงวันนี้ก็ล่วงมากว่าร้อยปีแล้ว เมื่อสร้างพระได้จำนวนหนึ่งแกก็นำไปเทใส่เจดีย์เล็ก ๆ องค์นั้น แกทำของแกอยู่อย่างนั้นโดยที่ชาวบ้านในละแวกข้างเคียง มองกันว่าแกมีจิตไม่ปกติ แต่ก็ต่างเห็นพ้องกันว่าตาหนอมเป็นคนยึดมั่นอยู่ในศิลในธรรม ความไม่ปกติของแกที่ชาวบ้านลือกันจนทุกวันนี้ อาจมาจากการมุ่งมั่นสร้างพระอย่างไม่มีวันสิ้นสุดของแกนั่นเอง
บั้นปลายชีวิตของแก เสียชีวิตไปอย่างที่ไม่มีใครทราบสาเหตุหรือสนอกสนใจเหมือนคนมีอายุที่อาศัยอยู่อย่างสันโดษ ไม่ข้องแวะกับทางโลก เจดีย์เล็ก ๆ ข้างพระอุโบสถ ก็เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นพระของตาหนอมสร้างบรรจุไว้ พระของแกได้ออกมาปรากฏให้เห็นก็ล่วงไปเป็นระยะเวลานาน เมื่อมีเด็กแถว ๆ วัด ได้เก็บพระที่คงทะลักมาตามรอยแตกของพระเจดีย์ นำมาเล่นทอยเส้นกัน บางคนก็ใช้ดินเหนียวติดกับกิ่งไม้สอดเข้าไปตามรอยแตก เด็ก ๆ จะเรียกกันว่าพระกระเบื้อง
ผู้ใหญ่บางคนที่ได้พบเห็น ก็นำไปเก็บไว้ที่เดิม จวบจนเวลาล่วงมาถึงปี ๒๕๐๙ ทางวัดได้พยายามหาทุนเพื่อไปสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ มีคนหัวใสใช้เล่ห์ใช้อุบาย ขุดเจดีย์ที่ตาหนอมสร้างพระไปบรรจุไว้ นำออกจำหน่ายพร้อมเขียนประวัติเผยแพร่ โดยนำพระของตาหนอมไปนั่งเทียนแล้วผูกเรื่องอยู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต มีการเชื้อเชิญคนใหญ่คนโตในจังหวัด สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ไปจนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทำพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ เป็นที่โจษจันท์กันไปทั่วประเทศ ในวาระนั้นยังมีการตอกย้ำโดยสร้างรูปเคารพองค์สมเด็จโตไว้ที่วัด
ชาวบ้านที่ รู้ความเป็นมาของพระตาหนอม ก็ไม่มีใครกล้าปริปาก ส่วนหนึ่งก็ไม่มีใครอยากขวางความเจริญที่เข้ามาสู่วัดและท้องถิ่น อนึ่งคนในผ้าเหลืองกลุ่มนี้ได้ออกอุบายเช่นนี้มาหลายแห่งหลายวัดแล้วเช่นกัน
เหตุเพราะพระที่สร้างโดยชาวบ้านชาวช่องคนหนึ่ง ๆ มีหรือจะเทียบกับพระที่สร้างโดยสมเด็จโต แม้จะเป็นเรื่องอุบายเสริมแต่งก็ตามที แต่ที่มองข้ามไปคือเจตนาอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธที่หาได้ยากยิ่ง คำครหาที่มีต่อตาหนอมว่าวิกลจริต ไม่ต่างจากคำครหาที่มีต่ออดีตพระ-ฆราวาสผู้เรืองเวทย์ในอดีตหลาย ๆ ท่านเช่นกัน
ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้ไปสอบถามประวัติ กับคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ละแวกวัด ทุก ๆ คนจะชี้ไปทางต้นมะขามใหญ่ใกล้รั้วที่ล้อมรอบพระอุโบสถไว้ พร้อมกับบอกว่า เจดีย์ใส่พระของตาหนอมเคยตั้งอยู่ตรงนั้น หรือตาหนอมเป็นคนจิตไม่ปกติผูกเรืออยู่ปากคลองบ้านโพธิ์ สร้างพระมาไว้ในเจดีย์ร้าง
เมื่อพิจารณาถึงพระเครื่องกรุวัดโพธิ์บางประอิน และนึกถึงตาหนอม ฆราวาสผู้มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า สร้างพระอย่างไม่ท้อถอย โดยใช้ทุนทรัพย์จากหยาดเหงื่อแรงกายของคนเพียงคนเดียว แค่เรื่องการเผาพระให้ได้เนื้อหาเช่นนี้ จะต้องลงแรงกายแรงใจไปเท่าไหร่ ก็มิอาจคะเนได้ เพื่อให้ครบจำนวน 84,000 องค์ พระแต่ละพิมพ์โดยเฉพาะพระปิดตาเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าพระมีองค์ประกอบทางศิลปที่ลงตัว ไม่ลอกเลียนแบบใคร และดินที่ใช้ทำพระเป็นลักษณะดินกรอง ที่ต้องผ่านกรรมวิธีที่ยุ่งยากพอควร กว่าจะกดพิมพ์และเผาให้ได้พระที่มีความสวยงามทิ้งมรดกเราได้พบเห็นกันจนทุกวันนี้
สรุปพระกรุวัดโพธิ์ บางปะอิน เป็นพระที่นักนิยมพระรุ่นใหม่ควรให้ความสนใจ เนื่องด้วยเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้
พระมีอายุเก่าแก่ประมาณร้อยปี ราคาไม่แพงเพียงหลักร้อย
สร้างด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นอุตสาหะซึ่งข้อนี้หาได้ยากยิ่ง
เป็นพระมีประสปการณ์เป็นที่โจษจันท์กันมาก จนปัจจุบันมีการทำของเทียมเลียนแบบกันมากมาย
เป็นพระที่ก่อให้เกิดความเจริญแก่วัดโพธิ์ และท้องถิ่น เป็นรูปธรรมที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
เป็นพระที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ตรงตามจุดประสงค์หลักของผู้สร้าง คือสืบทอดพุทธศาสนา
ก่อนจากวัดโพธิ์ บางปะอินมาพบเห็นสิ่งปลูกสร้างซึ่งโดยมากจะเป็นของใหม่เสียเกือบทั้งหมด มองดูล้วนครบถ้วนอุดมสมบูรณ์ดีทุก ๆ สิ่ง ซีกหนึ่งก็กำลังปลูกสร้างอะไรกันอยู่มองไม่ถนัด แต่ยังรู้สึกว่าขาดอะไรไปสักอย่างที่วัดอื่น ๆ ที่มีพระกรุดัง ๆ มีกันแต่วัดนี้ไม่มี จวบจนเมื่อกลับมาแล้วจึงนึกขึ้นได้ภายหลังว่า ทางวัดยังลืมหรือขาดซึ่งรูปหล่อไว้เป็นที่ระลึกของตาหนอม ฆราวาสผู้อุปถัมป์ค้ำชูและจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนานั่นเอง
|