แม่นางกวักโบราณ ศิลปะล้านนา
นางกวักมีตำนานถึงความเป็นมาไม่แน่ชัด เป็นนิทานเล่าขานแฝงด้วยคติชนผูกติดอยู่กับคติความเชื่อการนับถือผีของคนไทยมาอย่างยาวนาน คติการนับถือนางกวักพัฒนาขึ้นจากการยอมรับนับถือให้เพศหญิงเป็นใหญ่ในเผ่าหรือตระกูลมาแต่ครั้งดั่งเดิมแต่โบราณกาล เช่นเดียวกับคติการนับถือแม่โพสพ อันหมายถึงเพศแม่จะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อผ่านกาลตามยุคสมัยจึงสร้างนางกวักขึ้นจากผีพื้นเมืองตามความเชื่อดั่งเดิมก็พัฒนาเป็นเทพสตรีหรือเทพีแห่งโชคลาภที่คอยกวักความอุดมสมบูรณ์มาให้ โดยมีการหล่อปั้นนางกวักครั้งแรกสันนิษฐานว่าราวยุคกรุงศรีอยุธยา โดยมากพบเป็นขนาดบูชา สร้างจากเนื้อโลหะ, ดินเผา หรือสลักจากไม้ ส่งอิทธิพลให้มีการกล่าวถึงนางกวักในรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ด้วย ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์คติการนับถือนางกวักปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สยามมีเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีการขยายตัวของกิจการร้านในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ๆ จะมีรสนิยมศรัทธาแม่นางกวักในอานิสงส์แห่งความอุดมสมบูรณ์จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า มีคนรักใคร่เข้ามาเยี่ยมเยือนชนิดมากันแน่นขนัดหัวกระไดบ้านไม่แห้ง ยิ่งกว่านั้นจะนำโชคลาภแก้วแหวนเงินทองมาให้ และเจริญร่ำรวยจากการค้าขาย ทำให้ครอบครัวร่ำรวยขึ้น ความศรัทธาดังกล่าวของคนไทยจะเห็นได้ว่าส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน นางกวักจัดเป็นเครื่องรางชั้นสูงอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับ ตะกรุด,ผ้าประเจียด,ผ้ายันต์,ลูกสะกด,ลูกอม,เบี้ยแก้,แหวนพิรอด,พระขรรค์ เป็นต้น ของเหล่านี้สำเร็จด้วยอำนาจไสยเวทแห่งคาถาและอำนาจคุณพระเป็นที่ยอมรับนิยมนับถือกันมานานส่วนในภาพเป็นนางกวักโบราณคติล้านนาเป็นรูปหญิงสวมเครื่องแต่งกายพื้นเมืองล้านนา รูปพรรณงดงามสมส่วน ยกมือซ้ายขึ้นกวักโดยยกสูงขึ้นเสมอใบหู สะพายถุงเงินถุงทองไว้ด้านขวามือ.
|