พระปิดตาเจ้าคุณผล วัดหนัง ปี2509 เนื้อตะกั่ว หลังจาร
“พระสุนทรศีลสมาจาร” หรือ “หลวงปู่ผล คุตตจิตโต” พระเกจิชื่อดังวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ชาวบ้านมักนิยมเรียกขานว่า “เจ้าคุณผล”
เป็นศิษย์เอกหลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร หรือ “หลวงพ่อวัดหนัง”ชาวบ้านในุชมชนวัดหนังและย่านนั้น ต่างทราบกันดีว่า หลวงปู่ผล มีวิทยาคมแก่กล้า จึงได้ขอให้ช่วยสร้างเครื่องรางของขลังให้ มีทั้งหมากทุยตามแบบหลวงปู่เอี่ยม แต่หมากทุยทำยากมาก ต้องหามาให้ถูกต้องตามตำรา อีกทั้งวิธีเก็บหมากทุยจากต้น ก็มีกรรมวิธีที่ทำได้ไม่มากนักต่อครั้ง
ดังนั้น จึงมีน้อยและหายาก หมากทุยรุ่นเก่าๆ บางคนเอามาตีเป็นหมากทุยของหลวงปู่เอี่ยม โดยหมากทุยของหลวงปู่ผล ซึ่งมีพุทธคุณเยี่ยมไม่ต่างจากของพระอาจารย์
ชาวบ้านและลูกศิษย์ล้วนอยากได้ของขลังจากหลวงปู่ผล จึงขออนุญาตสร้างเหรียญรูปเหมือน ก็ได้รับความนิยมจากชาวบ้านมาก มีประสบการณ์แตกต่างกันไป
นอกจากนี้ ยังสร้างพระปิดตาตามแบบฉบับหลวงปู่เอี่ยมอีกด้วย เช่น พระปิดตาเนื้อตะกั่ว เป็นพิมพ์ปิดตานะหัวเข่า พิมพ์พระปิดตาท้องอุ ด้านหลังจะจาร และพระปิดตาเนื้อผงหัวบานเย็น ด้านหลังฝังแผ่นโลหะและมีรอยจาร พระปิดตาเนื้อผงหัวบานเย็นมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากทำยาก กว่าจะเก็บรวบรวมผงบานเย็นได้พอก็ใช้เวลามาก
พระปิดตารุ่นนี้ มีประสบการณ์มาก เคยมีคำร่ำลือว่า มีผู้ถูกอันธพาลดักทำร้ายอยู่หลายราย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เรียกว่าเหนียวจริง ชาวบ้านในแถบวัดหนังต่างรู้ดีและหวงแหนมาก
จนกลายเป็นที่มาของผู้เสาะแสวงหาพระปิดตาของหลวงปู่เอี่ยมไม่ได้ ก็จะหาพระปิดตาของหลวงปู่ผลแทน ก็ได้ผลไม่ต่างกันเช่นกัน ปัจจุบันเริ่มหายาก
อัตโนประวัติเกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2437 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเมีย จุลศักราช 1256 ในรัชกาลที่ 5 ที่บ้านโคกขาม ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
อายุ 12 ปี ได้มาอยู่วัดหนัง เรียนอ่านเขียนหนังสือไทยในสำนักของพระครูสังวรยุตินทรีย์ (คำ) เรียนภาษาบาลี กับนายมิ่ง รักชินวงศ์ อาจารย์สอนบาลีแห่งวัดหนัง
วันที่ 27 มีนาคม 2458 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดหนัง ต.คุ้งเผาถ่าน (บางค้อ) อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี มีพระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม) วัดหนัง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการนิ่ม วัดโคกขาม และพระปลัดแจ้ง วัดหนัง เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
จำพรรษาที่วัดหนัง ศึกษาพระปริยัติธรรม และวิปัสสนาในสำนักพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2478 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท เป็นกำลังช่วยบริหารกิจการของวัด แบ่งเบาภาระเจ้าอาวาส จนกระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 นับแต่สถาปนาเป็นพระอารามหลวง มีความเคารพต่อพระธรรมวินัย ข้อบังคับระเบียบ และคำสั่งของคณะสงฆ์ ปฏิบัติงานเด็ดขาดเป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลผู้อยู่ภายใต้การปกครอง และประชาชนทั่วไป
ศึกษาภาษาขอมจนเกิดความชำนาญในการอ่านและการเขียนเป็นอย่างดี และต่อมาค้นคว้าหลักวิชาการ ในแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเป็นผู้ฝึกแนะนำให้กุลบุตรได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกที่ควรดำเนิน เพื่อให้เกิดเป็นสุปฏิบัติ โดยควรแก่ความรู้ความสามารถ ที่ได้วิริยอุตสาหะ สั่งสมอบรมมา นับว่าเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาที่จะช่วยกันทำนุบำรุงพระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
งานบูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างเสนาสนะนั้น หลวงปู่ผลทำมาก่อนที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จับงานมาแต่สมัยเป็นผู้ช่วย
ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ปรับปรุงเพิ่มเติม กุฏิ มณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองหน้าวัด ด้านทิศเหนือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เปลี่ยนเครื่องบน มุงกระเบื้อง ยกช่อฟ้าใหม่ ซ่อมศาลาพุทธบาท ศาลาราย บอกบุญสร้างเมรุ ศาลาทึม และปฏิสังขรณ์เสนาสนะไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้พระอารามเป็นที่เจริญตา เจริญใจ
ได้รับสมณศักดิ์และรับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้
พ.ศ.2467 เป็นพระครูใบฎีกา ฐานานุกรมของพระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม)
พ.ศ.2468 เป็นพระครูสมุห์ ฐานานุกรมของพระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม)
พ.ศ.2470 เป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของพระวิเชียรกวี (ฉัตร)
พ.ศ.2478 เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วย เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท (ฝ่ายวิปัสสนา)
พ.ศ.2494 เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก
พ.ศ.2500 เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระสุนทรศีลสมาจาร
พ.ศ.2503 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนัง
ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่เอี่ยม นอกจากนี้ ยังได้ขออนุญาตออกธุดงค์ไปที่ต่างๆ อยู่เสมอ และหลังหลวงปู่เอี่ยมมรณภาพแล้ว เจ้าคุณพระวิเชียรกวี ก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน จนถึงปี พ.ศ.2503 พระวิเชียรก็มรณภาพ จากนั้นจึงได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เนื่องจากมีลูกศิษย์ลูกหามาก มีผู้ถูกคุณไสยหรือเจ็บไข้ได้ป่วยต่างพากันมาให้รักษามากมาย
จนกาลลุล่วงไป และมีอาการอาพาธ มรณภาพโดยอาการสงบ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2513 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 74 ปี พรรษา 54 •
|