สีผึ้งหลวงพ่อเขียนวัดสำนักขุนเณรผู้มีวาจาสิทธิ์
ปาฏิหาริย์หลวงพ่อเขียน ธมฺมรกฺขิโต วัดสำนักขุนเณร ตำบลสำนักขุนเณร อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร
เรื่องราวของกรรมตามทันที่เกิดขึ้นจากการเข่นฆ่าหรือมีจิตเจตนาจะฆ่าฟันสัตว์เลี้ยงที่พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงอภิญญาได้เลี้ยงดูไว้ มักบังเกิดผลให้เห็นอยู่เสมอๆ ดังเช่นสัตว์เลี้ยงของหลวงพ่อเขียน แห่งวัดสำนักสงฆ์ขุนเณร ตำบลวังงิ้ว อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
มีเรื่องราวปาฏิหาริย์อันเนื่องมาจากสัตว์เลี้ยงของหลวงพ่อเขียนอยู่หลายเรื่อง ดังจะเล่าสู่กันฟังในที่นี้กัน
เมื่อครั้งที่หลวงพ่อเขียนท่านยังจำพรรษาที่วัดวังตะกู มีคนนำลูกกวางมาถวายให้หลวงพ่อเขียนไว้ตัวหนึ่ง สีสันสวยงาม รูปร่างปราดเปรียว เป็นที่ถูกตาถูกใจผู้พบเห็น ซึ่งหลวงพ่อเขียนได้รับเลี้ยงไว้ด้วยความเมตตา และเพื่อบ่งบอกให้ผู้คนได้รู้ว่าเป็นกวางที่หลวงพ่อเขียนท่านเลี้ยงไว้ จึงได้เอาเศษจีวรผู้คอกวางน้อยไว้เป็นที่สังเกต
ไม่ว่าหลวงพ่อเขียนจะไปไหนเจ้ากวางน้อยจะติดตามหลวงพ่อเขียนไปด้วยเสมอ แต่มีบางคราวที่เจ้ากวางน้อยแอบหนีหลวงพ่อเขียนไปแอบกินข้าวในนาเหยียบย่ำต้นข้าวชาวบ้านเสียหายอยู่บ่อยๆ ต่อมาหลวงพ่อเขียนได้นำกวางตัวนี้ไปฝากให้พระอาจารย์เทิน วัดสำนักสงฆ์ขุนเณร เลี้ยงดูแทนท่าน โดยก่อนนำไปฝากหลวงพ่อเขียนได้บอกกล่าวกับเจ้ากวางน้อยว่า
“เอ็งไปอยู่กับอาจารย์เทิน วัดสำนักขุนเณรนั่นน่อ แล้วไม่ต้องกลับมาหาข้าอีกน่อ” นับแต่ที่กวางไปอยู่กับพระอาจารย์เทินแล้ว กวางตัวนี้ก็ไม่ได้ย่างกรายมายังวัดวังตะกูเลย ทั้งที่วัดวังตะกูกับวัดสำนักขุนเณรอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก เป็นที่แปลกมากเมื่อพระอาจารย์เทินได้รับกิจนิมนต์นอกวัด โดยขณะที่ไปนั้นเจ้ากวางตัวนี้ไม่อยู่ที่วัด ไม่รู้ว่าพระอาจารย์เทินมีกิจนิมนต์นอกวัด แต่เมื่อเจ้ากวางกลับมายังวัดไม่พบเห็นพระอาจารย์เทิน เจ้ากวางกลับติดตามหาพระอาจารย์เทินได้อย่างถูกต้อง แต่วันหนึ่งที่เกิดเหตุ เจ้ากวางได้ออกหากินไกลจากวัดซึ่งไม่คุ้นเคยนัก มีชาวบ้านแห่งหนึ่งไม่ทันได้คิดคว้าปืนออกมายิง ด้วยคิดว่าเป็นกวางป่า ยิงปืนออกไปหลายนัดแต่หาถูกตัวกวางไม่ บังเอิญสายตาเหลือบเห็นผ้าเหลืองที่ผูกคอไว้จึงได้คิดว่าเป็นกวางหลวงพ่อเขียนจึงได้หยุดยิง แต่เจ้ากวางวิ่งเตลิดไปยังบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งชายบ้านหลังนั้นได้นำปืนลูกซองออกมายิงเจ้ากวาง กระสุนนัดหนึ่งถูกตาเจ้ากวางถึงบอดสนิท หากผลแห่งกรรมก็ตามทัน ด้วยไม่นานหลังจากยิงเจ้ากวางจนตาบอด ชายคนดังกล่าวได้เข้าป่าไปตัดไม้ ถูกกิ่งไม้ที่ตนเองตัดดีดเข้าที่นัยน์ตาข้างขวาตาแตกบอดสนิททันที ไม่ต่างจากตาเจ้ากวางนั้น
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของหลวงพ่อเขียนเช่นกัน
หลวงพ่อเขียนท่านเลี้ยงหมีควายไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งหมีควายตัวนี้ซุกซนมิใช่น้อย จนหลวงพ่อเขียนท่านรำคาญจับเจ้าหมีควายขังกรงเสีย แต่เจ้าหมีควายยังสู้อุตส่าห์ทำลายกรงจนออกมาเป็นอิสระได้ เที่ยวเดินเล่นไปทั่วแต่ด้วยความเชื่องของมันไม่ได้ทำอันตรายแก่ผู้คนแต่อย่างใดไม่ วันหนึ่งซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน เจ้าหมีควายได้เดินเล่นเพ่นพ่านไปจนถึงบ้านหลังหนึ่ง เห็นโอ่งน้ำใหญ่วางอยู่หน้าบ้าน เจ้าหมีควายได้ปีนลงไปแช่น้ำในโอ่งนั้นเป็นที่สบาย แต่เมื่อตอนมันขึ้นจากโอ่งออกมา ด้วยขนาดตัวกับโอ่งไม่ต่างกันมากนัก เจ้าหมีควายจึงต้องดิ้นออกจากโอ่งจนโอ่งกลิ้งแตก จังหวะเดียวกลับที่เจ้าของบ้านกลับมาเห็นเข้า ด้วยความโมโหจึงได้คว้าท่อนไม้ตีเจ้าหมีควายไปลายที โชคดีที่เจ้าหมีควายไม่สู้หนีกลับวัดไป ครูเจริญซึ่งพบเห็นเหตุการณ์และมองดูมาโดยตลอด เมื่อพบหลวงพ่อเขียนก็ได้เล่าเรื่องราวให้หลวงพ่อเขียนฟังอย่างขบขันถึงเจ้าหมีควายที่ลงไปแช่น้ำในโอ่งจนโอ่งแตกนั้น สุดท้ายหลวงพ่อเขียนได้กล่าวว่า “โอ่งของมันตีราคาสักเท่าไหร่น่อ มันตีหมีของกูได้น่อ ยังนี้ละก็ เอาตำรวจจับมันเสียแหละดี” วันรุ่งขึ้นที่บ้านเจ้าของโอ่งน้ำได้ชักชวนเพื่อนสนิททั้งหลายมาตั้งวงเล่นไพ่ตองกันอย่างสนุกสนาน บังเอิญมีตำรวจสายตรวจผ่านมาถึงบ้านเห็นตั้งวงเล่นไพ่กันอย่างเพลิดเพลิน จึงตรงเข้าไปจับกุมผู้เล่นทั้งหลายไปโรงพัก
อีกเรื่องที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงหลวงพ่อเขียน ผู้ใหญ่พลายแห่งบ้านหัวเรียงใต้ ได้นำม้าเพศเมียมาถวายให้หลวงพ่อเขียนตัวหนึ่ง ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น นายทอง บ้านเขาอีแร้งก็ได้นำม้าเพศผู้ลักษณะใหญ่ ค่อนข้างดุ สีเขียวแก่ มาถวายหลวงพ่อเขียน หลังจากเจ้าเขียวยักษ์ ม้าเพศผู้ตัวนี้มาอยู่กับหลวงพ่อเขียนได้สักอาทิตย์หนึ่ง หลวงพ่อเขียนได้จูงเจ้าเขียวยักษ์ไปกินน้ำในสระ ระหว่างที่เจ้าเขียวยักษ์เดินไปด้วยความคึกคะนอง เจ้าเขียวยักษ์ได้หันกลับมาตรงเข้ากัดหลวงพ่อเขียนที่หน้าผาก หน้าอก และที่ไหล่ขวา แต่กัดไม่เข้ามีเพียงรอยช้ำเขียวเท่านั้น หลายคนในบริเวณนั้นคว้าไม้จะตีเจ้าเขียวยักษ์ หลวงพ่อเขียนได้ห้ามไว้พร้อมเอ่ยปากว่า “อ้ายเขียวมันลองหลวงพ่อน่อ”รุ่งขึ้นหลวงพ่อเขียนเสกข้าวเปลือก เสกหญ้าให้เจ้าเขียวยักษ์กิน พร้อมทั้งยังลงอักขระเลขยันต์ไว้บนเล็บเท้า นับแต่นั้นว่าเจ้าเขียวยักษ์ก็เป็นม้าที่แสนเชื่องของหลวงพ่อเขียน ไม่ว่ามันไปวิ่งเล่นที่ไหนเมื่อได้ยินเสียงหลวงพ่อเขียนเรียกหา เจ้าเขียวยักษ์จะวิ่งมาเอาหัวเกยหลวงพ่อเขียนทันที มีอยู่วันหนึ่งเจ้าเขียวยักษ์หลุดเชือกออกไปกินข้าวในนาของทายกนวม ด้วยความโมโหทายกนวมได้หยิบปืนลูกซองยิงไปที่ตัวเจ้าเขียวยักษ์ แต่กระสุนปืนลูกซองหาได้ระคายผิวเจ้าเขียวยักษ์ไม่ ส่วนนางมา ภรรยาทายกนวมนั่นก็ออกมายืนด่าว่าหลวงพ่อเขียวว่าเลี้ยงม้าแล้วทำไมไม่ผูกม้าให้ดี ปล่อยให้หลุดออกมาทำความเสียหายแก่ชาวบ้าน และยังว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายคำ ซึ่งหลวงพ่อเขียนได้กล่าวเพียงว่า “มึงด่ากูดีไปเถอะ ระวังปากมึงจะเน่า”
แล้วอีกไม่นานปรากฏว่านางมาล้มป่วย มีอาการปากเน่าถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ ขับถ่ายหนักเบากันบนทีนอนทีเดียว เมื่อหลวงพ่อเขียวได้ข่าวก็นึกเวทนา ได้ให้นางขาว ภรรยาแป๊ะหลีไปบอกนางมาให้จุดธูปเทียนขอขมาหลวงพ่อเขียนเสีย เมื่อนางมาได้ปฏิบัติตามคำบอกของนางขาวไม่ช้าก็หายป่วย นับแต่นั้นมานางมามีความเคารพยำเกรงหลวงพ่อเขียนเป็นอย่างมาก ไม่กล้าล่วงเกินท่านอีกเลย
กล่าวในด้านกิตติคุณของหลวงพ่อเขียนในด้านวัตถุมงคล มีเรื่องเล่าถึงพุทธคุณแห่งวัตถุมงคลของท่านดังเรื่องนี้ เมื่อคราวที่ทางวัดวังตะกูได้มีงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคล เมื่อจบพิธีแล้วทางคณะกรรมการวัดได้นำวัตถุมงคลของหลวงพ่อเขียนออกให้ประชาชนได้เช่าบูชากัน ซึ่งในงานพุทธาภิเษกนี้มีมหรสพให้ชมดูกันหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ การแสดงโชว์สัตว์ต่างๆ ซึ่งเจ้าของคณะโชว์สัตว์ได้บูชาเหรียญดอกจิกหลวงพ่อเขียนหลังหลวงพ่อทบ พ.ศ. ๒๔๙๙ และเหรียญกงจักรหลวงพ่อเขียน
ปรากฏว่าหลังจากนำเหรียญทั้งสองขึ้นคล้องคอในวันนั้น หมีที่นำมาแสดงโชว์ได้แหกกรงขังออกมาอาละวาดอยู่กลางลานวัด เป็นเหตุให้ประชาชนที่มาร่วมในงานแตกตื่นด้วยความกลัวเจ้าหมีจะทำร้าย เจ้าของคณะโชว์สัตว์จึงได้คว้าไม้พลองไปไล่ต้อนเจ้าหมีกลับเข้ากรง แต่เจ้าหมีไม่ยอมตรงเข้าต่อสู้กับเจ้าของทั้งตบข่วนทั้งกัด เจ้าของคณะโชว์สัตว์ใช้ไม้พลองตีจนมันยอมแพ้กลับเข้ากรงไป ส่วนตัวเจ้าของเองทั้งโดนกัดทั้งโดนตบข่วน แต่หาได้เป็นอันตรายไม่ ร่างกายปรากฏแต่เพียงรอยบุ๋มของเขี้ยวที่กัด กับรอยขีดข่วนเล็กๆ เท่านั้น เจ้าของคณะโชว์สัตว์เห็นเช่นนั้นก็คิดได้ว่าเป็นเพราะอานุภาพแห่งเหรียญทั้งสองของหลวงพ่อเขียนที่เพิ่งบูชาและคล้องอยู่บนคอตน จึงได้เช่าบูชาเหรียญหลวงพ่อเขียนเพิ่มอีกจำนวนมาก อีกเหรียญหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าของอาจารย์สัญชัย พฤกษะวัน ว่า เรื่องนี้เกิดข้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปตะพานหิน เพื่อไปพบกับอาจารย์สมทรง ซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนตะพานหิน พอไปถึงบ้านอาจารย์สมทรง ผู้ที่ออกไปให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอันดับแรก คือ สุนัขฝรั่งพันธุ์อัลเซเชี่ยนตัวใหญ่ มันวิ่งรี่เข้ามาหาและฟัดข้าพเจ้าอย่างไม่ปรานีปราศัย จนกระทั่งเสื้อผ้าข้าพเจ้าขาดรุ่งริ่งไม่มีชิ้นดี เมื่อสมใจอยากของมันแล้ว เจ้าอัลเซเซี่ยนแสนดุก็ผละไป
ข้าพเจ้าก้มดูสำรวจตัวเองถึงความเสียหายที่ได้รับ ก็ประจักษ์ว่าขาดวิ่นไม่เป็นชิ้นดี ก็เฉพาะเสื้อผ้าที่สวมอยู่เท่านั้น แต่ร่างกายคงสภาพปกติเหมือนเดิม บาดแผลใดๆ ไม่ว่าน้อยใหญ่ไม่มีเลย หาเพียงรอยขีดเท่าแมวข่วนก็หาไม่ได้ ใช่แล้ว ! เพราะในมืออาจารย์สัญชัยมีแหวนเงินหลวงปู่เขียนเพียงวงเดียวนั่นเอง”
กล่าวสำหรับอัตโนประวัติหลวงพ่อเขียน เดิมมีชื่อว่า เสถียร จันทร์แสง เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๔ ปีขาล ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๙๙ ที่บ้านตลิ่งชัน ตำบลชอนไพร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นบุตรของนายทอง จันทร์แสง และนางปลิด จันทร์แสง เมื่ออายุ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดทุ่งเรไร ศึกษาอักขระสมัยและอักขระขอมกับเจ้าอาวาสวัด กล่าวว่าหลวงพ่อเขียนมีความขยันหมั่นเพียรในการเขียนอ่าน เจ้าอาวาสจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘เสถียร’ มาเป็น ‘เขียน’ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดภูเขาดิน (วัดภูกระดึง) ใกล้ปากน้ำป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพระอธิการประดิษฐ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาหลวงพ่อเขียนได้เดินทางไปเยี่ยมญาติชื่อ บุญมา ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ที่แต่งงานกับนายอินทร์ บุญต้อ แล้วไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เป็นจังหวะเดียวกับที่วัดวังตะกูขาดพระจำพรรษา กำนันขุนพล (มาด สุขขำ) กำนันตำบลวังตะกู และนางอินทร์ บุญต้อ พร้อมด้วยชาวบ้านวังตะกู ได้นิมนต์ให้หลวงพ่อเขียนจำพรรษาที่วัดวังตะกู จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ๑ พรรษา ก็ได้เดินทางไปศึกษาปริยัติธรรมกับพระอาจารย์ทอง วัดเสาธงทอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี อยู่ศึกษาที่วัดเสาธงทองนานถึง ๙ พรรษา จากนั้นได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มาศึกษาปริยัติธรรมที่วัดรังษี กับพระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัด ซึ่งหลวงพ่อเขียนร่ำเรียนทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ณ วัดรังษี นานถึง ๑๖ พรรษา จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเสาธงทองอีกครั้ง ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๕ กำนันขุนพล (มาด สุขขำ) และนายอินทร์ บุญต้อ ได้มานิมนต์หลวงพ่อเขียนไปจำพรรษาที่วัดวังตะกู ซึ่งหลวงพ่อเขียนได้จำพรรษาที่วัดวังตะกูจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ กำนันเถาว์ ทิพย์ประเสริฐ กำนันตำบลวังงิ้ว ได้มานิมนต์หลวงพ่อเขียนไปจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณร ซึ่งอยู่ห่างไปจากวัดวังตะกูประมาณ ๕ กิโลเมตร หากกระนั้นหลวงพ่อเขียนก็ยังคงไปมาระหว่าง ๒ วัดนี้มิได้ขาด จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงพ่อเขียนได้ตัดสินใจจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณรแต่เพียงวัดเดียว หลวงพ่อเขียนมีโรคประจำตัว คือ โรคหืด ซึ่งเป็นที่ทรมานตัวหลวงพ่อเขียนเป็นอย่างมากในยามที่โรคกำเริบ แต่หลวงพ่อเขียนหาได้แสดงอาการใดๆ ออกมา เนื่องเพราะหลวงพ่อเขียนระงับด้วยขันติธรรม ครั้นเมื่อหลวงพ่อเขียนอายุมากขึ้น ฉันอาหารไม่ค่อยจะได้ ทำให้ร่างกายไร้เรี่ยวแรงกำลังถดถอยไปทุกขณะ คณะกรรมการวัดและศิษยานุศิษย์จึงนำท่านไปรักษาที่คลีนิคศิริธรรมพยาบาล ตลาดบางมูลนาก แต่ด้วยความชราภาพและโรคกำเริบสุดความสามารถของแพทย์ที่จะเยียวยารักษาได้ หลวงพ่อเขียนถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๒๓.๕๐ น. วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ สิริรวมอายุได้ ๑๐๘ ปี เนื่องจากหลวงพ่อเขียนได้สั่งไว้ว่าไม่ให้เผาศพท่าน เมื่อประกอบพิธีทางศาสนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการวัดและศิษยานุศิษย์ ได้บรรจุไว้ในอนุสาวรีย์หลวงพ่อเขียน วัดสำนักขุนเณร
(ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างสูงครับ)
สนใจสอบถามได้ครับ
|