พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดท่าควาย พิมพ์สองหน้า เนื้อผงใบลาน จ.สิงห์บุรี สร้างราวปี พศ.2460
หลวงพ่อเชย วัดท่าควาย อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เป็นพระเถราจารย์ชื่อดังในยุคเก่าอีกรูปหนึ่ง แห่งเมืองสิงห์บุรี ผู้มีเมตตาธรรมสูง มักน้อย ถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลัง และมีพุทธาคมแก่กล้า
ตามประวัติ หลวงพ่อเชย เกิดเมื่อปี ๒๔๑๒ ที่ จ.สิงห์บุรี เมื่ออายุได้เพียง ๒ ขวบ บิดามารดาได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงได้ไปอยู่ในความดูแลของลุง ต่อมาเมื่ออายุ ๑๓ ปี ลุงได้นำไปฝากเป็นบุตรบุญธรรมของ หลวงพ่อแดง วัดท่าควาย ได้ศึกษาอักขระสมัย ตลอดจนวิชาความรู้ต่างๆ ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดท่าควาย โดยมีหลวงพ่อแดง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อแดง ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดให้ตั้งแต่ก่อนบวชแล้ว จนเมื่อพระเชยมีวิชาและความเชี่ยวชาญแล้ว จึงได้กราบลาหลวงพ่อแดงออกธุดงควัตร เพื่อฝึกจิตวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านเดินธุดงค์ไปถึงประเทศลาว เขมร พม่า อีกทั้งได้ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากับพระธุดงค์ที่พบระหว่างทางหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้ศึกษาวิชาจาก หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในสมัยนั้น ถึงขนาดที่หลวงปู่ศุข ได้กล่าวยกย่องหลวงพ่อเชยว่า เป็นพระเถระผู้มีพลังจิตสูง เคยได้แลกเปลี่ยนวิชากับท่านหลายอย่าง นอกจากนี้ท่านยังมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกหลายรูปที่เป็นสหธรรมิกกับ หลวงพ่อเชย อาทิ หลวงพ่อช้าง วัดตึก, หลวงพ่อคง วัดบางกะพี้, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น
ต่อมาเมื่อหลวงพ่อแดง วัดท่าควาย มรณภาพ หลวงพ่อเชยได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้มาครองวัดท่าควายเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนด้วยเหตุที่หลวงพ่อเชยมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนวิชากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ทำให้ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงศรัทธาเลื่อมใสหลวงพ่อเชยเช่นกัน พระองค์ทรงให้ช่างทางกรุงเทพฯ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระเครื่องถวายหลวงพ่อเชย เช่น พระพิมพ์โคนสมอ พระพิมพ์ปิดตา เป็นต้น
กล่าวได้ว่า หลวงพ่อเชยได้สร้างวัตถุมงคลไว้มากมายหลายรุ่น ล้วนแต่มีพุทธคุณเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระรอดทรงครุฑ พระสามพี่น้อง พระสังกัจจายน์ พระพิมพ์ฤาษี แต่ที่โด่งดังเป็นพิเศษ คือ พระปิดตา ซึ่งท่านได้จัดสร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นพระยุคเก่า พิมพ์นิยม สร้างด้วยผงพุทธคุณคลุกรัก และวัสดุอาถรรพณ์มากมาย องค์พระมีสีดำสนิท และดำอมน้ำตาล ปางขัดสมาธิเพชร แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ประกบสองหน้า และพิมพ์หน้าเดียวหลังยันต์
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งในการตัดต้นไม้ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้วัดท่าควาย เพื่อนำไปปลูกบ้าน ชาวบ้านได้นำเลื่อยมาตัดต้นไม้ ปรากฏว่าเลื่อยไม่เข้า ไม่สามารถทำให้ต้นไม้เกิดรอยแผลได้ จึงได้มีการบนบานศาลกล่าวต่อเทวดา ผีสางนางไม้ แต่ยังไม่สามารถโค่นต้นไม้ได้ ร้อนถึงชาวบ้านต้องปีนขึ้นไปดูบนต้นไม้ พบ พระปิดตาหลวงพ่อเชย ค้างอยู่ที่บนคบไม้ จึงนำลงมา ปรากฏว่าคราวนี้ไม่ต้องออกแรงมาก ต้นไม้ก็ล้มลงเองอย่างน่าอัศจรรย์พระเครื่องของหลวงพ่อเชยเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า มีประสบการณ์คุณวิเศษ สามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ดีด้วย
หลวงพ่อเชย เป็นพระสมถะ มักน้อย รักสันโดษ ตลอดชีวิตของท่านฉันอาหารเพียงวันละมื้อเดียว ท่านชอบเก็บตัวเองในกุฏิ เพื่อบำเพ็ญปฏิบัติธรรมตลอดเวลา ซึ่งท่านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ส่วนการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ ของหลวงพ่อเชยนั้น ท่านจะสร้างไปเรื่อยๆ ครั้งละไม่มากนัก เมื่อสร้างเสร็จท่านจะปลุกเสกเดี่ยว จากนั้นจึงนำออกแจกจ่ายให้แก่ศิษยานุศิษย์ทันที
หลวงพ่อเชย มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ สิริรวมอายุได้ ๕๗ ปี พรรษา ๓๕
กล่าวสำหรับ วัดท่าควาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออก เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่สร้างขึ้นมาแต่ครั้งปลายสมัยอยุธยาก่อนเสียกรุง ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ ต.บางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ ตรงท่าน้ำวัด จะมีชาวบ้านนำวัวและควายที่เลี้ยงไว้ใช้งานมากินน้ำที่ท่าน้ำวัดเป็นประจำ จนมีชื่อเรียกติดปากกันว่า วัดท่าควาย
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น วัดเสถียรวัฒนดิษฐ์
|