ลูกอมผงคลุกรัก หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์(ออกวัดปากทะเล)
ลูกอมผงคลุกรัก วงการพระเครื่องก็พอรู้กันว่า วันนี้หมายถึงพระปิดตาเนื้อผงจุ่มรัก หรือเนื้อผงคลุกรัก ชุดแรกๆของท่าน
ว่ากันว่า……สุดยอดปราถนาอันดับหนึ่งของนักนิยมสะสมพระเครื่องประเภทพระปิดตาเนื้อผงคือ พระปิดตาผงคลุกรัก หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เมืองชลบุรี ถึงแม้ว่าประวัติความเป็นมาทั้งขององค์ผู้สร้าง ตลอดจนประวัติการจัดสร้าง ค่อนข้างจะคลุมเครือ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานหรือมีการบันทึกไว้ชัดเจน จะมีก็เพียงแต่การเล่าสืบทอดต่อๆ กันมาของชาวบ้าน หากแต่ศรัทธาของชาวชลบุรี ไปจนทั่วภาคชายทะเลตะวันออก ไปจนฝั่งทะเลตะวันตกแถวเพชรบุรี รวมถึงนักสะสมพระเครื่องทั่วทุกสารทิศ ต่างรู้จักและทราบถึงพุทธาภินิหารที่มีในองค์พระของหลวงพ่อแก้ว มาแต่โบราณแล้ว
#ยิ่งนานวันยิ่งมีผู้ทราบถึงกิติศัพท์ อันเป็นที่ประจักษ์ในคุณวิเศษที่เด่นทางด้านเมตตามหานิยม อันเกิดจากความเข้มขลังของพระปิดตา ซึ่งรวมถึงของมวลสารที่อยู่ในพระผงของท่านนานัปการ ในบรรดาสิ่งซึ่งประกอบเป็นเนื้อพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว จะมีวัตถุสารอะไรเป็นเคล็ดลับผสมปะปนอยู่นั้น ไม่มีใครสามารถบอกได้ถูกต้องทั้งหมด แต่เคยมีผู้รู้บางท่านชี้แจงไว้ว่า หลวงพ่อแก้ว ได้ใช้ “ไม้ไก่กุก” ก็คือรังของไก่ป่า ซึ่งตัวผู้ที่เพียรพยายามไปคาบเศษไม้ เศษหญ้า มาทีละเล็กละน้อย สร้างเป็นรังรองรับไข่ของคู่ตน ต่อมาจะใช้เป็นที่กกฟักไข่ ของไก่ตัวเมียที่ต้องอยู่ติดในรังตลอดโดยไม่ออกไปไหน โดยมีไก่ตัวผู้เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ รัง อากัปกิริยาของไก่ตัวผู้ที่มีต่อไก่ตัวเมีย ย่อมมีความหมายลึกซึ้งถึงความสนิทชิดชอบเสน่หา รักใคร่ใยดีในคู่ครอง อันไม้ไก่กุกนี้ ในทางไสยเวทย์เชื่อกันว่า ชื่อเป็นมงคลอีกทั้งเป็นของ “ทนสิทธิ์” ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเคล็ดอันนี้แหละ ที่หลวงพ่อแก้วนำมาบดประจุไว้เป็นมวลสารสำคัญชนิดหนึ่ง
#นอกจากนี้หลวงพ่อแก้ว ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยละเอียดรอบคอบเป็นผู้เห็นการณ์ไกล คือ ในช่วงที่ท่านสอนบาลีไวยากรณ์อยู่นั้น ได้เก็บเอาผงที่ลบจากอักขระไว้ การสอนหนังสือในยุคนั้นจะต้องเขียนต้องลบตัวอักขระบนกระดานดำจริงๆ เมื่อนำผงดินสอที่รวบรวมได้ และผงพุทธคุณบางส่วนที่เก็บรวบรวมไว้ทั้งสองอย่างนั้นมาผสมกันเข้าไว้ จนได้เป็นแท่งเพื่อใช้เขียนอักขระตามสูตร แล้วนำใบไม้ที่เรียกกันว่าใบไม้รู้นอนชนิดต่างๆ รวมถึงหัวว่านและพืชที่มีคุณทางเมตตามหานิยม เช่น ยอดสวาท ว่านเสน่ห์จันทร์ขาว และแดง ว่านเศรษฐี ว่านดอกทอง ฯลฯ จากนั้นจึงนำเกษรดอกไม้มงคลต่างๆ ใบไม้ เปลือกไม้ และเนื้อไม้ มารวมกันมาบดให้ละเอียดเป็นผง ใช้เป็นมวลสาร มาผสมกับผงอักขระ ใช้น้ำซาวข้าวมาคละเคล้าเข้ากับผง ใช้น้ำผึ้งป่า และน้ำมันตั้งอิ้ว ยางรักมาเป็นตัวประสาน เพื่อทำให้เหนียว หลังจากนั้นจึงเอากดลงในแม่พิมพ์สำเร็จเป็นองค์พระ ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น ไม่มีผู้ใดรู้ถึงลำดับขั้นตอนก่อนหลัง และสูตรอัตราส่วนในการผสมเนื้อพระของท่านได้
#เนื้อพระและเนื้อหาของมวลสาร จะมีรายละเอียดที่ใกล้เคียงกันแต่หากแยกแยะตามสีจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วรรณะ เนื้อหาแบบแรก สีออกน้ำตาลเข้ม แต่เนื้อหาของสีน้ำตาลจะมีความเข้มอ่อนแก่ต่างกันออกไปตามธรรมชาติของพระ บางองค์มีสีน้ำตาลแกมดำ น้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลแกมแดง เนื้อผงเนื้อออกสีน้ำตาลนี้ เนื้อหาจะละเอียดจัดแบบกะลา บางองค์ลงรักปิดทอง นั้นจะได้รับความนิยมมากกว่าอีกเนื้อที่เป็นผงสีดำ นอกจากนี้การพิจารณาเนื้อหาสาระที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าพิมพ์ทรงก็คือ ในเนื้อผงจะปรากฏลักษณะตามธรรมชาติของเนื้อพระที่ผ่านร้อนหนาวมาถึงกว่าร้อยปี ที่บางท่านนิยมเรียกว่า “รอยรานใยแมงมุม” หรือ “รอยใยรากผักชี” ที่เกิดจาการแห้ง หดตัว ของเนื้อที่อยู่ตามผิวที่เป็นเส้นแตกเป็นฝอยบางเบา หากแตกระแหงเป็นรอยแยกร่องห่างๆ นั่นคือการเร่งปฏิกิริยาจากน้ำมือมนุษย์แน่นอนครับ
|