ครูบาศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศไทย (ล้านนา) ว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือพระศรีวิชัยชนะภิกขุ
เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพ ที่วัดบ้างปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน สิริอายุได้ ๕๙ ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา ๑ ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน จนกระทั่งวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๗ ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่างๆ ทั่วแผ่นดินล้านนา รวมทั้งที่วัดวัดบ้านปางด้วย
สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น เหรียญครูบาศรีวิชัยแก่หลังดอยสุเทพ ออกวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งข้อมูลจากหนังสือ "๓๙ ครูบาเมืองเหนือ" จัดทำโดยวัดบ้านปาง และนายสุทธิโรจน์ ติฐาปนโชติวัฒนะ ซึ่งมีผลงานเกี่ยวกับจัดทำหนังสือรวมเหรียญพระสายป่า สายอีสาน รวมทั้งสายเหนือหลายเล่ม ทั้งนี้ได้รวบรวมประวัติและภาพวัตถุมงคล ๓๙ ครูบาเมืองเหนือที่ได้รับความนิยม และสะสมกันในปัจจุบัน ฉบับสมบูรณ์อีกเล่มหนึ่ง
เหรียญครูบาศรีวิชัย ออกวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน รุ่นนี้เป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปครูบาศรีวิชัยครึ่งองค์ มีอักษรว่า "พระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย" ด้านหลังมีอยู่ด้วยกัน ๒ พิมพ์ คือ หลังยันต์น้ำเต้า และหลังยันต์พระธาตุดอยสุเทพ มี ๒ เนื้อ คือ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อตะกั่วลองพิมพ์ แบ่งเป็น ๕ บล็อกดังนี้
๑.เหรียญบล็อกหน้าหนุ่มประคำเส้น หลังยันต์น้ำเต้า เป็นเหรียญที่นิยมและหายากมาก
๒.เหรียญบล็อกหน้าหนุ่ม หลังยันต์น้ำเต้า บล็อกตราเบ็นซ์ หรือเม็ดงา เป็นเหรียญที่นิยมและหายากมาก
๓.เหรียญบล็อกหน้าหนุ่ม หลังยันต์น้ำเต้า
๔.เหรียญบล็อกหน้าแก่ประคำเม็ด หลังยันต์น้ำเต้า
๕.เหรียญบล็อกหน้าแก่ประตำเม็ด หลังยันต์พระธาตุดอยสุเทพ