ตะกรุดดอกนี้ความยาว4.2นิ้ว โตเท่าด้ามปากกา เป็นตะกรุดนาคคอคำ(นาคเขาคำ นาคเบญจฤทธิ์ สำเภานาค นาคก๋าละอินทร์ตา)เรียกชื่อกันหลายอย่าง อักขระที่ลงจะคล้ายๆกัน จะไม่เหมือนกันบางตัวก็เนื่องจากการคัดลอกหรือแต่ละสำนักจะใช้ตัวไหน
พญายันต์ล้านนาประกอบด้วย
1.ยันต์ดาบสรี๋กัญชัย
2.ยันต์ราหู (คุ้มครองดวงชะตา)
3.ยันต์หนีบที่ชื่อว่า (พระยันต์จักรวัตติ แก้วมณีโชติ หรือ อะหิหัสะ)
4.ยันต์นาคคอคำ นาคเขาคำ หรือเรียกว่า ยันต์สำเภานาค
5.ยันต์ใบลานสรี๋พันต้น เกสรพันใบ
ตะกรุดดอกนี้เป็นตะกรุดนาคคอคำครูบารอด วัดบ้านพ่อหรือวัดปิตุราษฏ์ อ.ท่าวังผา จ.น่าน จัดสร้างมาพร้อมเหรียญ รูปหล่อ ผ้ายันต์และตะกรุด เมื่อปี2537 ตะกรุดท่านจะมีตะกรุดนาคคอคำ ตะกรุดพระเจ้าห้ามอาวุธ ตะกรุดเก้ากุ่ม ตะกรุดห้อยคอเด็ก ในจังหวัดน่านที่พบเห็นการสร้างตะกรุดนาคคอคำนั้น ที่จัดสร้างจำนวนหลายๆดอก จะมีครูบาปัญญา วัดสบก๋อน อ.เชียงกลาง ครูบารอด วัดบ้านพ่อหรือวัดปิตุราษฏ์ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ส่วนที่เคยเจอมีการสร้างแต่มีจำนวนน้อยคือ ครูบาดอนตัน(มีตำรายันต์นาคคอคำปรากฏในปั้บสาท่านด้วย) ครูบาศรีบุญเรือง ซึ่งแต่ละท่านจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ที่มีตำราปั้บสาที่หลงเหลืออยู่ในวัดจะมีตำรานาคก๋าละอินทร์ตาของครูบาก๋ง วัดบ้านก๋งหรือวัดศรีมงคล อ.ท่าวังผา จ.น่าน แต่ว่าตำรานี้มีข้อห้ามที่ชัดเจนคือ ถ้าจะสร้างให้ใคร คนนั้นต้องเป็นคนมีบุญบารมี มีวาสหนา เป็นคนดีฯลฯเพราะยันต์ตัวนี้มีคุณวิเศษมากมายมหาศาล จะไปสร้างให้กับคนธรรมดาทั่วๆไปไม่ได้ ดังนั้นครูบาก๋งท่านไม่สร้างยันต์นาคก๋าละอินทร์ตานี้ให้ใคร ขนาดบนผ้ายันต์เขียนมือครูบาก๋งที่ท่านเขียนบ่อยๆ ก็ยังไม่เขียนยันต์นาคก๋าละอินทร์ตาให้ใครเลย จะเหมือนกับยันต์12มหาไชยสงครามหลวง ตำราสายวัดเมืองราม ที่ยันต์20ลูกจะสร้างให้เฉพาะเจ้าขุนมูลนายหรือกษัตริย์เท่านั้น
ยันต์นาคคอคำนั้นวิธีการใช้แต่ละที่อาจผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ดอกนี้จะใช้ดังนี้
1.เวลาไปรบหมุนไปทางขวาร้องด่าข้าศึกสามทีก็จะชนะ
2.หมุนไปทางซ้ายสามรอบแล้วไว้ด้านหลังไม่มีใครที่จะตามเราทันได้
3. หมุนไปทางขวาสามรอบแล้วเอามาไว้ด้านหลังร้องด่าผีสามครั้งผีอยู่มิได้แล
4.หมุนขวาสามรอบแล้วเอาไว้เอวด้านขวาเข้าหาเจ้านายเป็นที่รักนักแล
5. ถ้าไปหาหญิงสาวให้เป็นที่รักให้หมุนขวาสามรอบ
6.หากข้ามลำน้ำหมุนขวาสามรอบแล้วเอาไว้บนหัว ผีที่อยู่ในน้ำทำอันตรายเรามิได้แล
7.หากมีตะกรุดนี้ไว้ช้างม้าวัวควาย บริวารทั้งหลายก็ดี แก้วแหวนเงินทองมีมาไม่ขาดสาย มีความสุขความเจริญแก่ผู้เป็นเจ้าของ
8.หากเข้าป่ามีต้นไม้ใหญ่มีผีอยู่ให้หมุนขวาสามรอบแล้วร้องด่าผีสามทีผีอยู่มิได้แล
9.หากเข้าไปหาคนร้ายให้หมุนขวาสามรอบผู้นั้นก็จะรักตัวเรา
ประวัติท่าน ครูบาบุญรอด นามเดิมชื่อ บุญรอด ขันแปง เป็นบุตรของพ่อปินไชย ขันแปง แม่คำ ขันไชย เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2456 บ้านพ่อ ตำบลริม (ปัจจุบันเป็นตำบลแสนทอง ) อำเภอปัว(ปัจจุบันเป็นอำเภอท่าวังผา ) จ.น่าน บรรพชาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2471 ที่วัดปิตุราษฎร์ ท่าวังผา น่าน อุปสมบท เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2475 ที่วัดปิตุราษฎร์
โดยมีครูบายาวิราช วัดนาทราย เป็นพระอุปัชฌาย์
ครูบาอินต๊ะสาร วัดเชียงแล เป็นพระกรรมวาจารย์
พระสุริยา วัดนาหนุน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อาจารย์ที่ท่านเรียนวิชาด้วยคือ ครูบายาวิราช วัดนาทราย(เก่งเรื่องเมตตา) ครูบาอินต๊ะสาร วัดเชียงแล การศึกษา ปี 2470 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดเชียงแล
ปี 2484 สอบได้นักธรรมชั้นตรี ที่สนามสอบวัดศิลามงคล
ปี 2494 สอบได้นักธรรรมชั้นโท ที่สนามสอบวัดศิลามงคล ด้านการปกครอง
ปี 2484 รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปิตุราษ
ปี 2498 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลริม เขต 3 ปี
2507 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำประโยคสอบธรรมสนามหลวงไปเปิดสอบที่สนามสอบวัดศาลา เมืองปัว
ปี 2508 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำประโยคสอบธรรมสนามหลวงไปเปิดสอบที่สนามสอบวัดศรีมงคล (วัดก๋ง )
ปี 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลผาตอ สมณศักดิ์ ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีพระไพโรจน์บุญญารักษ์
ท่านมรณะภาพ วันที่ 11กุมภาพันธ์ 2541 โดยครูบาบุญรอดนั้นได้รับกิจนินมต์ให้ไปรวมปลุกเสกพระที่วัดถ้ำผาหลัก ระหว่างการเดินทางนั้นครูบาท่านไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างไร โดยท่านได้นั้งท่าสมาธิอยู่บนรถโดยลูกศิษย์ของท่านเห็นว่าท่านนั่งนิ่งไปนานจึงปลุกท่าน แต่ท่านได้มรณะภาพเสียแล้ว จึงนำความโศกเศร้าให้แก่ประชาชนที่นับถือท่าน รวมสิริอายุ 85 ปี 66 พรรษา
วัตถุมงคลของท่าน ลูกศิษย์ท่านได้สร้างเหรียญและรูปหล่อ รุ่นแรกขึ้นเมื่อปี 2537 ในวาระอายุครบรอบ 80 พรรษา เป็นเหรียญทองแดงทั้งหมด จำนวนการสร้างประมาณ 10000 เหรียญ
รูปหล่อลอยองค์เนื้อทองแดงทั้งหมดจำนวน 1500 องค์
โดยให้บูชาเหรียญละ 39 บาท รูปหล่อ 59 บาท
เหรียญส่วนหนึ่งที่ออกให้บูชาตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่แต่เหรียญยังไม่หมดจากวัด จึงนำออกมาให้บูชาอีกครั้งตอนพระราชทานเพลิงศพท่าน
ประสบการณ์ในตัวท่าน ครูบาบุญรอดนั้นท่านสืบสายมาจากครูบายาวิราช วัดนาทรายและครูบาอินต๊ะสาร วัดเชียงแลจึงทำให้ท่านเก่งในเรื่องการสะเดาะเคราะห์ การเป่าเสกโดยเฉพาะการลงยันต์เมตตา โดยครูบาบุญรอดนั้นจะใช้ผ้าจีวรของท่านมาตัดมายันต์เมตตาซึ่งต่อมาได้รับความนิยม เลยจำเป็นต้องใช้ผ้าขาวมาปั้มผ้ายันต์เมตตาเพิ่มครับ มีอยู่วันหนึ่งครูบาท่านกวาดใบไม้อยู่ใต้ต้นมะพร้าวตรงลานวัด อยู่ๆมะพร้าวทั้งทลายตกลงใส่ศรีษะของครูบาท่าน แต่ปรากฏว่าท่านไม่ได้รับอันตรายใดๆ เพียงแต่ท่านมองขึ้นไปที่ต้นมะพร้าวแล้วก้มกวาดใบไม้ตามเดิม ส่วนลูกศิษย์หลายคนที่อยู่กับท่านสร้างความงุนงงว่าทำมั้ยท่านจึงไม่เป็นอะไร จากเหตุการณ์นั้นจึงทำให้ท่านเป็นที่กล่าวขานจนมาถึงทุกวันนี้ครับ
อีกประสบการณ์หนึ่งของเหรียญรุ่นแรกที่ภาคใต้ มีตร.อ.ท่าวังผาที่ต้องไปรับราชการที่ จ.ยะลา เมื่อประมาณปี2555ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงซ้ำตำรวจชุดลาดตระเวณ6นาย ที่อ.รามัน แต่ว่าตำรวจที่รอดตายจากการระเบิดแล้วยิงซ้ำมีเพียงคนเดียวคือตร.คนอ.ท่าวังผา นอกนั้น5นายเสียชีวิตหมด โดยคนร้ายได้ระเบิดแล้วยิงซ้ำรายบุคคล แต่เมื่อมาถึงตร.คนนี้กลับไม่ยิงซ้ำเดินผ่านไปเฉยๆ(ไปหาอ่านข่าวเก่าๆได้) จึงรอดตายเพียงคนเดียวเท่านั้น ในคอห้อยเหรียญครูบารอดปี37 เหรียญพระนอนวัดศิริธาดาปี26ครูบาก๋งเจ้าพิธีและครูบารอดร่วมปลุกเสก ซึ่งทั้งสองเหรียญเป็นเหรียญอ.ท่าวังผา จ.น่านทั้งสิ้นครับ
|