ของวิเศษ
ครูวิลักษณ์ ศรีป่าซาง ให้ความหมายคำว่า "ของวิเศษ" ในหนังสือ คง เข้ม ข่าม ขลัง เครื่องรางล้านนา ศาสตร์แห่งศรัทธา มนตราของแผ่นดิน (๒๕๕๘) หน้า ๒๕๐-๒๕๑ ไว้ดังนี้ : ของวิเศษสำหรับชาวพื้นถิ่นล้านนา คือ ของที่มีไว้กับตัว อยู่กับเรือนแล้วโชคดี อยู่ดีมีสุข ประมาณนั้น หรือ กันภัยร้ายนานา บางอย่างให้ฤทธีทางข่ามคง บางอย่างเป็นของปิยะ ชุ่มเย็น หากพกพาจะห่อผ้าขาวหรือผ้าแดงใส่ถุงย่ามเก็บใส่กล่องไม้สาน หรือไม้กลึงชนิดพิเศษ ตั้งไว้บนหิ้งขันครู
ของวิเศษ ดูเหมือนไม่มีราคา แต่มีค่าทางความรู้สึก เช่น ก้อนหินแปลก เม็ดทรายงดงาม หรือบรรดาเศษแก้ว เศษรัตนชาติ เม็ดเงิน เศษทอง ที่คนโบราณเก็บรักษาไว้เนิ่นนาน ของวิเศษเหล่านี้เป็นของสำคัญประจำเรือน นับถือสืบกันมาหลายชั่วอายุคน นักค้าชายแดนหลายท่านเล่าพ้องกันว่า ตามหมู่บ้านชายขอบไทย-พม่า ชาวไทใหญ่หรือชนเผ่า โดยเฉพาะปาเกอญา เก็บของเหล่านี้ในฐานะของศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนของสำคัญกลายเป็นของไร้ค่า เมื่อเหล่าลูกหลานลืมหลง จึงถูกขายเป็นของเก่า แต่ของเก่านั้นกลับหมายถึงกล่องบรรจุ ไม่ใช่เม็ดหินเม็ดทรายที่อยู่ในนั้น
เหตุใดจึงเรียกของวิเศษ คำนี้น่าจะมีความหมายตามที่เราเข้าใจกันก็คือ เป็นของทนสิทธิ์ เป็นเครื่องรางที่มีฤทธีในตัวเอง ของวิเศษดังว่า ในมิติความเชื่อของชาวล้านนา มีหลากหลาย ไพฑูลย์ ดอกบัวแก้ว(๒๕๔๗) บุญคิด วัชรศาสตร์(๒๕๔๘) สนั่น ธรรมธิ(๒๕๕๐) กล่าวถึงเรื่องนี้ ตามนี้
ของวิเศษ : แหวนพญานาคและลูกแก้ว ทั้งสองรายการนี้เจ้าของได้รับจากครูวิลักษณ์ ศรีป่าซาง อันมีคุณค่าแห่งความเป็นมิ่งมงคล
ขอขอบคุณ : ครูวิลักษณ์ ศรีป่าซาง , พระปลัดเชี่ยวชาญ สุวิชฺชาโน
|