พระยอดขุนพลเชียงใหม่นี้ขุดพบจากบริเวณกรุศาลเจ้า (ตลาดลำไย) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในประมาณปี พ.ศ.2498 นอกจากพระพิมพ์ยอดขุนพลแล้วยังพบพระพิมพ์ปรกโพธิ์อีกด้วย พระที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อดินเผา โดยจะพบทั้งที่มีการลงรักปิดทองและส่วนที่ไม่ได้ลงรักปิดทองก็มี นอกจากนี้ยังพบที่เป็นเนื้อว่านอีกด้วย ศิลปะที่เห็นเป็นศิลปะแบบเดียวกับพระปรกโพธิ์เชียงแสน ซึ่งเป็นสกุลช่างลานนา
พุทธลักษณะของพระยอดขุนพลนั้นจะเป็นพระนั่งปางมารวิชัย ปรากฏรายละเอียดของพระพักตร์ชัดเจน การวางพระกรแบบแขนอ่อนวางพระหัตถ์อยู่นอกเข่า ซึ่งมักจะเรียกว่าเข่าใน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของเครื่องประกอบเป็นฉัตร และบังสูรย์ ประกอบด้านซ้ายและด้านขวา ล้วนเป็นเครื่องสูงของเจ้าพระยามหากษัตริย์ทั้งสิ้น ส่วนพระพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น รูปทรงกรอบนอกคล้ายๆ กัน รายละเอียดขององค์พระก็คล้ายคลึงกัน เพียงแต่เครื่องประกอบนั้น เป็นต้นโพธิ์ แบบซุ้มโพธิ์
พระทั้งสองชนิดมีขนาดค่อนข้างเขื่องคือ มีความกว้างประมาณ 4-4.3 ซ.ม. สูงประมาณ 5.5-6.2 ซ.ม. พระทั้งสองพิมพ์นี้ถือเป็นพระเครื่องยอดนิยมของภาคเหนือ จนได้รับการขนานนามว่า “พระยอดขุนพล” ซึ่งปัจจุบันก็หาชมองค์แท้ๆ ยากเช่นกัน พุทธคุณนั้นว่ากันว่าเด่นทางด้านอยู่ยงและแคล้วคลาดครับ และพระเครื่องทั้งสองพิมพ์นี้ นับเป็นพระเครื่องศิลปะลานนาที่สวยงามมาก ควรค่าแก่การเก็บรักษาเพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่ลูกหลานสืบต่อไปครับ
ชอบรัก ทักมาครับ
|