เหรียญรุ่นแรกกรรมการ เนื้อทองแดงกระไหล่ทองลงยา สีเขียว อยู่ในชุดกรรมการ
ตลอดระยะเวลาที่ท่านครูบาครองผ้ากาสาวพัสตร์มานั้น ท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานไม่เคยขาด ท่านจะตื่นนอนประมาณตีสี่ (04.00 น.) ทุกๆ วัน เพื่อบำเพ็ญภาวนาเป็นกิจวัตร หลังจากนั้นก็จะปลุกพระเณรเพื่อทำวัตรสวดมนต์มิได้ขาด แม้กระทั่งการเรียนอักขระล้านนา (ตั๋วเมือง) ท่านก็จะเป็นผู้สอนให้กับขโยมและพระเณรที่อยู่ในวัด สำหรับพระเณรทุกๆ รูป ก่อนที่จะถึงวันพระท่านจะเรียกมาเทศน์ให้ฟังก่อน เป็นการฝึกซ้อมไปในตัวด้วย ก่อนที่จะขึ้นเทศน์ให้ศรัทธาญาติโยมฟังในวันพระ นี่คือความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของท่านที่มีต่อลูกศิษย์ภายในวัดหนองซิว ซึ่งจากการที่ท่านได้บำเพ็ญเพียรฝึกจิต วิปัสสนากรรมฐานนี่เองที่อันเป็นหนทางแห่งการก้าวสู่ในการสร้างวัตถุมงคล และการปลุกเสกวัตถุมงคล ฯลฯ และได้ทำให้บรรดาลูกศิษย์ทั่วไปได้รับรู้ถึงด้านความขลัง และความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลที่ได้รับการปลุกเสกหรือการอธิษฐานจิตจากท่านั้นว่าศักดิ์สิทธิ์เพียงใด บางคนได้รับประสบการณ์รอดชีวิตมาได้อย่างเหลือเชื่อว่าปาฏิหาริ์นั้นมีจริง จากการที่บุคคลผู้นั้นมีวัตถุมงคลของท่านติดตัวเพียงอย่างเดียว ทุกวันนี้ถ้าใครลองไปเที่ยวในพื้นที่หมู่บ้านหนองซิวหรือหมู่บ้านใกล้เคียงจะทำให้เห็นว่าไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ในคอต่างก็อาราธนาวัตถุมงคลของครูบาติดตัวกันอย่างแพร่หลาย เพราะเขาเหล่านั้นมีความเชื่อมั่นศรัทธาในบารมีทางด้านพุทธคุณของครูบาคำจันทร์กันอย่างแท้จริง
กิตติคุณของครูบาคำจันทร์ เป็นที่รู้จักเป็นที่รักและเคารพเลื่อมใสศรัทธาในหมู่บรรดาลูกศิษย์เป็นอย่างมาก วัตถุมงคลของท่านที่ประสบการณ์ความขลังเป็นที่ประจักษ์ จะได้ละสังขาร มรณภาพไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 หรือเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนแล้ว แต่ทางด้านกิตติคุณในความเป็นพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์หรือผู้ทรงในวิทยาคมที่ไม่เป็นสองรองใคร ในบรรดาเกจิอาจารย์ในยุคสมัยนั้น วัตถุมงคลของท่านมีประสบการณ์หลายรูปแบบที่ประสบมา จึงทำให้บรรดาคณะศิษย์ ผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาบอกเล่าเก้าสิบกันอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และทำให้กิตติคุณของครูบาคำจันทร์แห่งวัดหนองซิว ยังมีเรื่องราวให้ได้บอกกล่าวเล่าขานกันอยู่ทั่วไปในหมู่ลูกศิษย์ และในแวดวงนักนิยมสะสมวัตถุมงคลของพระเกจิอาจารย์
ในยุคสมัยที่ท่านครูบาคำจันทร์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น ด้วยความมีชื่อกระฉ่อน ทางด้านที่เป็นพระสุปฏิปันโน หรือพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ความมีชื่อเสียงทางด้านวิทยาคมที่ขมังเวทย์ในยุคสมัยนั้นชนิดที่หาตัวจับยาก แม้กระทั่งท่านพระครูวรวรรณภรณ์ (อินทร์คำ อินทวณฺโน) เจ้าอาวาสวัดไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านก็เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในปัจจุบันนี้ ท่านครูบาอินทร์คำ ก็ได้เดินทางไปมาหาสู่กับครูบาคำจันทร์อยู่ตลอดเวลา เพื่อศึกษาขอคำชี้แนะแนวทางในแง่การปฏิบัติภาวนา ถึงแม้นว่าในขณะนั้นครูบาอินทร์คำ อินทวณฺโน จะมีบรรดาลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมายแพร่หลายก็ตาม ท่านครูบาอินทร์คำเองก็ยังได้นบน้อมยอมรับในความเป็นพระสุปฏิปันโน ที่มีศีลาจาวัตรที่ไม่ด่างพร้อยของครูบาคำจันทร์ อยู่เสมอมา และครูบาอินทร์คำเองก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการทำให้หมู่บ้านหนองซิวในขณะนั้นซึ่งเป็นสังคมที่ยังห่างไกลความเจริญอยู่เป็นอันมาก มีความเจริญขึ้นเป็นลำดับเช่น ได้มีส่วนในการสร้างถนนหนทางให้ดีขึ้น การเดินทางก็สะดวกขึ้นพอสมควรตลอดจนได้มีส่วนในการผลักดัน นำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านหนองซิว ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านได้มีกระแสไฟฟ้าใช้ทั่วทุกครัวเรือน จึงเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่แก่ชาวบ้านที่บารมีของครูบาเจ้าทั้งสองรูปที่ได้แผ่เมตตาร่วมกันในการคลายความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในขณะนั้นที่ประสบอยู่
|