ผ้ายันต์ม้าเสพนาง(อิ่นม้าหรือม้าชมนาง) ผืนนี้ขนาด18x16นิ้ว เป็นของครูบายาวิราช วัดนาทราย อ.ท่าวังผา จ.น่าน ครูบายาวิราชนั้นท่านเป็นครูบายุคก่อนปี2500 ซึ่งเป็นครูบาสายเมตตา สายใหญ่ของท่าวังผา ซึ่งมีลูกศิษย์ทั้งครูบาดอนตัน วัดดอนตัน ครูบาก๋ง วัดศรีมงคล ครูบารอด วัดปิตุราษฏ์ ครูบาเสาร์ วัดนาทราย ครูบาดวง วัดสุวรรณวาส ครูบาวงศ์ วัดหนองม่วงร่วมถึงครูบาสม วัดเมืองรามก็เคยล้วนแต่ได้สืบเมตตาทางครูบายาวิราช ครูบายาวิราชนั้นส่วนหนึ่งท่านได้เรียนวิชามาจากครูบากาญจนวงศ์ วัดม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน ครูบายาวิราชเป็นพระที่มีฝีมือในการวาดรูปที่สวยงามมากๆ ฝีมืออีกชิ้นที่ยังคงอยู่คือการแกะสลักไม้ที่วัดชนะไพรี(วัดของครูบาสุเทพ)ที่ครูบายาวิราชไปแกะสลักให้ ยิ่งหากพูดถึงภาพวาดของท่านจะอ่อนช้อย พริ้วไหวดุจมีชีวิต รูปร่างสมส่วนและที่สำคัญภาพวาดหรือเส้นยันต์ท่านจะใช้การวาดแบบมีมิติ ซึ่งถือว่าในยุคก่อนปี2500 ท่านได้นำการวาดภาพแบบมีมิติมาใช้ถือว่าเก่งมากๆ การวางสเกลก็สวยงามดูสบายตา ส่วนใหญ่ผ้ายันต์ที่ท่านสร้างนั้นมักจะให้ลูกศิษย์ท่านวาดให้คือครูบาเสาร์ สุภา ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาสต่อจากครูบายาวิราช แต่ฝีมือการวาดของครูบาเสาร์นั้นถือว่าสวยงามแต่ยังขาดความอ่อนช้อยจะไม่พริ้วไหว จะสู้ฝีมือของครูบายาวิราชซึ่งเป็นอาจารย์ไม่ได้ ผืนนี้เป็นฝีมือของครูบายาวิราชซึ่งท่านจะเห็นว่าฝีมือวาดจะสวยงามมากๆ เจอน้อยมากๆที่ท่านจะวาดรูปเอง
ผ้ายันต์ของท่านนั้นมักจะใช้ผ้าจากปกหน้าศพ(ปิดหน้าศพ)
ก่อนอื่นต้องมารู้จักผ้าปิดหน้าศพว่ามันคืออะไร
ต้องขออธิบายแต่ละอย่างก่อนว่าความเป็นมาเป็นไปผ้ายันต์ปิดหน้าศพมาได้อย่างไร
เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในแถบล้านนานั้น จะมีการนำผ้าขาวมาห่อศพผู้เสียชีวิต จากนั้นจะมีผ้าสีขาวผืนเล็กๆขนาดจะเท่ากับผ้าเช็ดหน้าหรือจะใหญ่กว่านี้เล็กน้อยนำมาปิดไว้หน้าศพ (ไม่รู้ว่าภาคอื่นเมื่อมีคนตายจะมีผ้าปิดหน้าหรือไม่) เมื่อถึงวันฌาปนกิจหรือเผาศพ ก่อนที่จะเผาศพนั้นจะให้ญาติได้ดูหน้าคนตายเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็นำผ้าปิดหน้าศพออก จากนั้นนำมะพร้าวมาล้างหน้าศพ สัปเหร่อก็ถามญาติว่าจะเก็บผ้าปิดหน้าไว้หรือไม่ หากญาติไม่เก็บก็จะนำไปปิดหน้าศพที่เดิมแล้วเผาพร้อมกับศพต่อไป หากญาติจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกของคนตายก็ได้ หากญาติไม่เก็บไว้ ผู้ที่มีวิชาหรือผู้ที่อยากได้ผ้ายันต์เมตตาก็จะแอบนำผ้ายันต์ปิดหน้าศพนี้ไป โดยให้ครูบาหรือฆราวาสที่เก่งๆนำไปลงยันต์เมตตามหาเสน่ห์เอาไว้ใช้ ความจริงแล้วสามารถนำผ้าคลุมศพและผ้าปิดหน้าศพมาลงยันต์เมตตาได้ แต่ด้วยการที่จะได้มาซึ่งผ้าคลุมศพหรือผ้าปิดหน้านั้นค่อนข้างยุ้งยากในเรื่องของการได้มาและความถูกต้องเหมาะสม แต่หากว่าญาติผู้เสียชีวิตอนุญาตให้เอาผ้าคลุมศพหรือผ้าปิดหน้าศพได้ อันนั้นเป็นความโชคดีของผู้ที่ขอญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต แต่หากคิดถึงความเป็นจริงแล้วน้อยนักที่ญาติผู้ตายจะอนุญาตให้เอาผ้าคลุมศพทั้งผืนเพราะต้องพลิกศพแกะศพออกอีก ดูแล้วไม่เหมาะสมและไปรบกวนศพ ส่วนใหญ่แล้วจึงนิยมเอาผ้าในส่วนที่ปิดหน้าศพมากกว่าเพราะจะเอามาโดยง่ายสุด ถึงแม้ญาติของผู้ตายไม่อนุญาตหรือไม่รู้ ผู้ที่แอบเอาไปนั้นสามารถพับใส่กระเป๋าเสื้อโดยที่ไม่ไปรบกวนศพและไม่มีใครเห็น ดังนั้นผ้าปิดหน้าศพจะเอามาง่ายสุด ดังนั้นหากท่านสังเกตให้ดีๆผ้ายันต์เมตตาส่วนใหญ่ผืนจะไม่ใหญ่ ผืนจะเล็กๆเนื่องจากว่าจะใช้ผ้าปิดหน้าศพนำมาเขียนยันต์เมตตามหาเสน่ห์ การที่เราใช้ผ้ายันต์ปิดหน้าศพมาลงยันต์เมตตาฯเนื่องด้วยหากพูดถึงหลักความเป็นจริง การที่มีคนตายเกิดขึ้นไม่ว่าญาติพี่น้องหรือคนที่รู้จักจะอยู่แห่งหนตำบลใดไม่ว่าอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เมื่อคนที่เรารู้จักตายขึ้น ผู้ที่รู้จักก็จะเดินทางมาหาคนที่เสียชีวิต ความอาลัยอาวรณ์ของคนเป็นที่มีต่อคนตายหรือความห่วงหาของผู้ตายต่อคนเป็น ที่เกิดขึ้นต่อกันและกันจะเป็นความเมตตาต่อทั้งสอง(ยิ่งตายโหงความรักความห่วงหาจะมีมาก) ดังนั้นจึงเอาคุณวิเศษของผ้าคลุมศพหรือผ้าปิดหน้าศพเป็นตัวแทนของความเมตตา และเมื่อนำไปให้ครูบาอาจารย์ต่างๆเขียนยันต์เมตตาเข้าไปอีก ก็เหมือนกับว่าสิ่งหนึ่งเป็นเมตตาที่เกิดความผูกพันของคนคือผ้า อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดจากความเมตตาที่เกิดจากการลงยันต์การเสก เมื่อเอาสองสิ่งหนึ่งมาร่วมกันจึงทำให้ผ้ายันต์เมตตาจึงมีคุณวิเศษในทางที่นำไปใช้
ผ้ายันต์ผืนนี้ถือว่าเป็นผืนองค์ครูก็ว่าได้เพราะผ้ายันต์ม้าเสพนางท่านจะเจอน้อยมาก แล้วที่ท่านจะลงมือวาดเองส่วนน้อย ผืนนี้ถืิอว่าท่านวาดรูปได้สวยงาม การวางสเกลก็เป็นระเบียบเรียบร้อย ตำราม้าเสพนางสายนี้ให้ดูให้ดูที่ธงเพราะยันต์ม้าเสพนางสายนี้จะมีรูปธงมาอยู่ด้วยเสมอถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสายนี้ ผืนนี้มีรอยขาดเนื่องจากการเก็บรักษาไม่ดี ผ้ายันต์เมตตาของท่าน เวลาท่านปลุกเสกก็จะไปปลุกเสกในงานรุกขมูล(7วัน7คืน ) โดยแล้วแต่ว่าในงานนั้นวัดใดจัดสถานที่บริเวณวัดหรือป่าช้า ท่านก็จะนำไปปลุกเสกด้วยเสมอครับ
|