พระปิดตาอาจารย์เปิง วัดชินวราราม จ.ปทุมธานี
เป็นสุดยอดความปรารถนาของนักสะสมพระเครื่องเมืองปทุม ด้วยจำนวนการสร้างที่มีน้อยมาก จึงไม่ค่อยได้พบเห็นของจริงของแท้ พระเครื่องของท่านมีมากกว่า ๓๐ พิมพ์ แต่ละพิมพ์แทบจะกลายเป็นตำนาน เนื้อจะมีความละเอียดเนียนคล้ายพระปิดตาสาย ชลบุรี พระบางพิมพ์ถูกย้ายวัดเป็นวัดมะขามเฒ่า เช่นพิมพ์เม็ดบัว
อาจารย์เปิงกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านเป็นสหายธรรมศึกษาวิชาอาคมร่วมอาจารย์เดียวกันมา หลวงปู่ศุขเคยเอาพระพิมพ์เม็ดบัวของอาจารย์เปิงไปแจกกับมือในอดีตคนเลยเข้าใจว่าพิมพ์นี้เป็นของหลวงปู่ศุข พระปิดตาอาจารย์เปิงบางพิมพ์ถูกย้ายวัดเป็นหลวงปู่จีนก็มี เนื้อพระสูตรเดียวกันและมีอายุใกล้เคียงคือร่วม ๑๐๐ ปี
ประวัติของอาจารย์เปิง ท่านเกิดประมาณ พ.ศ.๒๓๘๐ และมรณะภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ท่านเป็นชาวรามัญโดยกำเนิด ( เปิงเป็นภาษามอญแปลว่าบริสุทธิ์ ) ร่ำเรียนวิชามาจากหลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์บางเขน หรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ถือกันว่าเป็นสำนักตักศิลาทางด้านคาถาอาคมในสมัยนั้น หลวงพ่อเชย จันทสิริ ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นอาจารย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อเชยเป็นพระสงฆ์ ฝ่ายรามัญ ที่ถือเคร่งในวัตรปฎิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อเชยท่านยังเป็นอาจารย์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความรู้และความชำนาญรู้แจ้ง ตลอดอีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ศุขก็ได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากพระอุปฌาย์ของท่านมาพร้อมกับพระอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่าวัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน การถ่ายทอดวิชาระหว่างหลวงพ่อเชยกับอาจารย์เปิงซึ่งเป็นชาวรามัญทั้งคู่จะครบถ้วนขนาดไหนลองคิดดูแล้วกันครับ
เล่ากันสืบต่อมาว่าอาจารย์เปิงท่านมีวิชาอาคมที่ขลังนัก สามารถระเบิดน้ำลงไปจารตะกรุดโดยที่จีวรไม่เปียกแบบเดียวกันกับหลวงปู่ศุข แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ ยังชอบอัธยาศัยของท่าน มักจะแวะเวียนมาพักค้างแรมที่วัดชินวรารามเป็นประจำ มีหลักฐานคือพระตำหนักริมน้ำ ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ( วัดชินฯ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวัดเกริน ) และทรงโปรดให้สร้างมณฑปบรรจุอัฐิของพระมารดาไว้ที่วัดชินฯนี้ด้วย หลักฐานอีกอย่างซึ่งยืนยันความสัมพันธ์ของกรมหลวงชินวรฯ กับ พระอาจารย์เปิง คือพระรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของพระองค์ ซึ่งทรงประทานไว้ ปัจจุบันตั้งอยู่ในพระอุโบสถ อาจารย์เปิง มีศิษย์ที่สืบได้แน่ชัดคือ พระครูปัญญารัตน์ ( ติ๊ด ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชินฯ ( ศพไม่เน่า ) พระอริยะธัชเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนมะม่วง สามโคก พระอาจารย์พลาย อดีตเจ้าอาวาสวัดมะขาม อ.เมือง และพระครูปทุมวรคุณ ( เอี่ยม ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหงส์ ที่กล่าวนามมานี้แต่ละองค์ล้วนทรงคุณค่าเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
สำหรับเรื่องประสบการณ์และวัตถุมงคลของท่าน เท่าที่ทราบจากการเล่าสืบต่อกันมา นอกจากพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักอันโด่งดังแล้ว ท่านยังสร้างตะกรุดเงิน ( จารนอกจารใน ) ลงอักขระมอญ และประคำเนื้อผงคลุกรัก
เรื่องประสบการณ์ในเรื่องของเมตตา มหาเสน่ห์ แคล้วคลาด และคงกระพัน เฉพาะส่วนคงกะพัน มีทหารสังกัดซ่อมสร้างรถยนต์ทหาร กรมสรรพาวุธทหารบก ( รซท.สพ.ทบ. ) ปัจจุบันยังมีชีวิต ห้อยอาจารย์เปิงองค์เดียว ถูกรถ ยี เอม ซี ทับแบบว่าเดินหน้าและถอยหลังจนกระอักเลือด น่าตาย แต่กลับรอดโดยไม่มีบาดแผล บอบช้ำใดใดเลย น่าอัศจรรย์
ในปัจจุบันมีการนำพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักของสำนักอื่นมาเล่นหา ว่าเป็นของอาจารย์เปิงเพราะได้ราคาดี พระปิดตาของท่านมีขนาดเล็กกระทัดรัด รักษายาก คนแก่สมัยก่อนต้องอมไว้ในกระพุ้งแก้ม ไปไหนไปกันไม่เคยได้รับอันตรายเลย อาจารย์เปิงท่านทำเนื้อผงผสมเกสร ๑๐๘ เนื้อละเอียดสูตรเดียวกับพระปิดตาชลบุรี พุทธคุณทางด้านเมตตา มหาเสน่ห์ก็ไม่แพ้พระปิดตาชลบุรี หลวงปู่ศุข เองยังเคยแบ่งผงพุทธคุณอาจารย์เปิงไปผสมทำพระปิดตาของท่านเพื่อเสริมทางด้านเมตตา หลวงปู่ศุขยังเคยแนะนำกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ว่าถ้าจะเรียนทางด้านเมตตา ให้มาศึกษากับอาจารย์เปิง โดยท่านบอกกับกรมหลวงชุมพรฯว่า “เรื่องเมตตา ท่านเปิงเขาเก่งกว่าฉัน” ดังนั้นพระปิดตาอาจารย์เปิง จึงพร้อมไปด้วยพุทธคุณด้านคงกระพันแบบเดียวกับหลวงปู่ศุข และด้านเมตตามหาเสน่ห์แบบเดียวกับพระปิดตาชลบุรี เรียกว่าทูอินวันเลยทีเดียว แถมเนื้อผงคลุกรักเก่าได้อายุ เป็นองค์ครูได้เป็นอย่างดี
|