พระยอดขุนพล กรุหนองไคร้เทวดา อ.สันทราย เชียงใหม่
ประวัติการพบพระกรุนี้ จากคำบอกเล่าของลุงหนานสิงห์คำ ผู้ที่เป็นมรรคทายก ของวัดหนองไคร้ ได้เล่าว่า ราวปี พศ.๒๕๒๗ ได้มีการปรับพื้นที่บริเวณป่าช้าหนองไคร้ ศรีทรายมูล เพื่อทำการฌาปนกิจศพท่านพระครูสถาพรธรรมรส (ตุ๊ลุงเมา) รถไถได้ทำการปรับพื้นที่บริเวณเนินดินที่เป็นซากเจดีย์เก่า แล้วจึงได้พบพระดินเผาจำนวนหนึ่ง และสุดท้ายก็ได้เรียกกันติดปากว่า พระพิมพ์ยอดขุนพล กรุหนองไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพิจารณาดูลักษณะพิมพ์ทรงของพระพิมพ์ยอดขุนพล กรุหนองไคร้ พระพิมพ์นี้เป็นพระที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก สามารถใช้ขึ้นคอพกติดตัวได้ ขนาดใหญ่กว่าพระเปิม ลำพูน ไม่มากนัก รูปทรงที่ถูกต้องของพระพิมพ์นี้คือรูปทรงครึ่งวงรี แบบเดียวกับ พระซุ้มกอ ของกำแพงเพชร ฐานกว้าง ๓ ซม. สูง ๔ ซม. ทั้งนี้ขนาดทั้งความกว้างและความสูงสามารถเปลี่ยนแปลงได้บ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับขอบด้านข้างองค์พระว่ามีขอบด้านเหลืออยู่มากเท่าใด ตรงกลางมีรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิอยู่เพียงองค์เดียว ส่วนองค์ที่มีการกดพิมพ์ได้คมชัดและลึก จะมองเห็นเส้นประภามณฑลครอบองค์พระเอาไว้เมื่อพิจารณาจากพิมพ์แล้ว จึงสันนิษฐานยุคสมัยการสร้าง เนื่องจากพระพิมพ์นี้เป็นพระพิมพ์ที่ไม่ได้มีรายละเอียดมากนัก ทำให้สามารถพิจารณาอายุสมัยการสร้างได้จากการดูศิลปะขององค์พระเท่านั้น พระพุทธรูปที่ประทับนั่งอยู่ตรงกลางเป็นปางสมาธิ ลีลาการนั่งมีลักษณะอ่อนช้อย แต่งถึงความสมส่วนขององค์พระพุทธรูป เพราะมีไหล่กว้างหน้าอกผาย ช่วงเอวคอดได้รูปทรง ช่วงขานั่งได้อย่างอ่อนช้อย รูปทรงสมส่วนเข้ากันกับช่วงบน เมื่อพิจารณาจากลักษณะของพระพุทธรูปที่ประทับนั่งปางสมาธิแล้วน่าจะได้รับ อิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา แบบลังกาวงศ์ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เนื้อดินที่นำมาสร้างพระพิมพ์นี้มีลักษณะละเอียดและแกร่ง
|