เสื้อยันต์ตัวนี้เป็นตำราของครูบาสุนันต๊ะ วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน(ไทลื้อ) อายุมากกว่า150ปี เป็นผ้ายันต์ด้ายดิบ เสื้อยันต์นี้ผสมผสานรูปแบบอักขระของล้านนากับวิธีการเขียนของไทลื้อ หากสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าจะไม่เหมือนกับการเขียนยันต์ทั่วๆไป เสื้อยันต์แบบนี้บางครั้งในสมัยก่อนคนไทลื้อที่มีพีธีกำลื้อหรือกำเมือง เป็นการบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองล้าซึ่งจะจัดทุกๆ3ปี จะมีคนผู้ชายแต่งเป็นนักรบถือด้ามใส่เสื้อยันต์ มาร่วมพิธีในงานเพื่อตรวจดูว่าใครที่มาในงานนั้นใส่เสื้อผ้าสีแดงหรือสิ่งของต่างๆที่เป็นสีแดง จะถูกผู้ชายที่แต่งตัวนักรบริบสิ่งของที่เป็นสีแดงนั้นไว้
เสื้อยันต์ตัวนี้วางแสกลยันต์ได้สวยงาม ดูสบายตา ที่สำคัญคืออายุร่วม150ปีแต่ยังถือว่าสมบูรณ์มากครับ
เสื้อยันต์หรือผ้ายันต์ล้านนานั้นปัจจุบันเท่าที่ร้านสังเกตจะเริ่มหายๆไปมากเนื่องจากว่ามีผู้สะสมมากขึ้น แล้วมีการเช่าไปสะสมแล้วเก็บ ไม่ออกมาให้เห็นหรือหมุนเวียนกัน ที่ใหม่ๆก็ไม่ค่อยจะเจอกันแล้ว วันนี้มาพูดถึงวิธีการสร้างเสื้อยันต์ตามตำหรับตำราโบราณล้านนา เวลาครูบาอาจารย์ท่านสร้างเสื้อยันต์1ตัว มีวิธีการสร้างอย่างไร การสร้างเสื้อยันต์ขึ้น1ตัวนั้น ในอดีตการสร้างหากได้รู้ได้เห็นการสร้างแล้ว จะทึ่งในความสามารถ ความอด ความละเอียด ความตั้งใจ ของผู้สร้าง ในเสื้อยันต์จะประกอบไปด้วย ผ้า หมึก ยันต์ ว่าน ครูบาอาจารย์ที่เสก ดังนั้นเรามาดูกันว่าแต่ละอย่างสำคัญอย่างไร
1.เสื้อยันต์อันดับแรกประกอบด้วยผ้า ความจริงแล้วผ้าที่จะมาทำเสื้อยันต์สมัยก่อน มีทั้งที่เป็นผ้าธรรมดาและผ้าที่เป็นมงคล ความพิถีพิถันการสร้าง มักจะใช้ผ้าที่เป็นมงคล ผ้าปิดหน้าพระเจ้า ผ้าคลุมวัตถุมงคลที่เสก ผ้าที่ประกอบพิธีทางศาสนา ผ้าพวกนี้ถือว่าผ่านการปลุกเสกมาแล้ว นำมาตัดเย็บเป็นทรงเสื้อ สมัยก่อนการตัดเย็บต้องตัดเย็บด้วยมือ รูปทรงของเสื้อจะสวยงามก็อยู่ที่ช่างตัดเย็บว่าทรงเสื้อจะออกมาสวยงามขนาดไหน
2.เมื่อได้เสื้อแล้ว หมึกที่จะเขียนยันต์ลงบนเสื้อ หมึกก็มีความสำคัญเราจะเห็นว่าหมึกที่ลงจะเป็นหมึกจีน หมึกที่ใช้สักที่มีว่านยาผสม ดังนั้นหมึกที่จะใช้เขียนยันต์ทางล้านก็มักจะใช้หมึกสัก ในหมึกสักที่ใช้สักมีพุทธคุณที่เกิดจากในตัวหมึกสักที่มี การผสมของพวก แร่ธาตุที่ฝนผสมกับหมึก ว่านยาสับที่ใช้ ของดีจากสัตว์ นำมาผสมหมึกใช้เขียนยันต์
3. เมื่อได้เสื้อยันต์และหมึกแล้ว สมัยก่อนก็ดูฤกษ์ยามในการลงยันต์ การเขียนสมัยก่อนเขียนแบบโบราณใช้ก้านกูดจุ่มหมึกแล้วค่อยเขียน (ทางภาคกลางจะใช้ดินสอ) จุ่มทีเขียนทีซึ่งใช้ความอดทนสูงกว่าจะเขียนยันต์ได้เสื้อยันต์สัก1ตัว
4. ยันต์ที่ลงนั้นในเสื้อยันต์ส่วนใหญ่จะเป็นยันต์ที่เน้นในทางคงกะพัน แคล้วคลาด คุ้มภัย (ที่เมตตาแทบจะไม่มีเพราะเสื้อยันต์วัตถุประสงค์หลักๆคือใส่ไปรบ ใส่ป้องกันตัว) ดังนั้นยันต์ที่ลงครูบาอาจารย์ท่านจะลง ถือว่าคัดเอายันต์ที่ว่ามั่นใจในอนุภาพของพุทธคุณที่สุดจึงนำมาลง
5.เมื่อเขียนเสื้อยันต์เสร้จแล้ว สมัยก่อนต้องนำไปย้อมว่าน(สมัยก่อนเรียกย้อม)สมัยนี้คือการนำไปแช่ว่าน108ชนิด ท่านคิดดูว่าการที่จะไปหาว่านให้ได้108ชนิดก็ไม่ใช่เรื่อง่ายๆ ครูบาอาจารย์เก่งเรื่องยันต์ไม่พอ ก็ต้องเก่งทางว่านยาด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าเสื้อยันต์ที่ผ่านการลงยันต์แล้วต้องผ่านพิธีแช่ว่านอีก
6.สุดท้ายคือการปลุกเสกเสื้อยันต์
ดังนั้นเสื้อยันต์จะได้พุทธคุณจาก ผ้าที่ผ่านการปลุก หมึกสัก ว่านยาที่ย้อมเสื้อ อักขระเลขยันต์ และครูบาอาจารย์ที่ปลุกเสก
ท่านจะเห็นว่ากว่าจะได้เสื้อยันต์1ตัวในยุค100ปี ขั้นตอนการสร้างจริงๆ ท่านจะเห็นว่า ความพิถีพิถันของ ผ้า หมึก ยันต์ ว่าน ทุกๆอย่างที่นำมารวมในเสื้อยันต์1ตัวนั้น ต้องใช้ความอดทนในการสร้างสูงมาก ของทุกๆอย่างในเสื้อยันต์ล้วนมีพุทธคุณในตัวอยู่แล้ว เมื่อผ่านการเสกจากครูบาอาจารย์ที่เก่งๆแล้วยิ่งทำให้มีพุทธคุณมากขึ้นไปอีก เราจะเห็นว่าเสื้อยันต์มีอะไรน่าสนใจลึกๆเข้าไปอีก แต่ที่เรามักเห็นแค่เสื้อธรรมดา แต่การที่จะได้เสื้อยันต์มา1ตัวมันมีเรื่องราวต่างมากมาย
เมื่อสร้างเสร็จแล้วการที่จะให้เสื้อยันต์กับใครสักคน คนๆนั้นต้องเป็นคนสำคัญจริงๆที่ครูบาอาจารย์ถึงให้ไป เพราะกว่าจะได้เสื้อยันต์มา1ตัว ไม่ใช่ทำง่ายๆ แล้วใช่ว่าจะให้ใครไปได้ง่ายๆ สมัยก่อนเสื้อยันต์ไม่ได้ทำให้เพราะจ้างทำ แต่จะทำให้เพราะคนๆนั้นเป็นคนพิเศษจริงๆถึงจะทำให้
ปัจจุบันเสื้อยันต์ล้านนาส่วนใหญ่จะชำรุดไปมาก ที่ชำรุดเกิดจากนำไปใช้งานจริงๆ การไปใช้งานนั้นมีทั้งสวมใส่จริงๆหรือพับติดตัว ความจริงแล้วเสื้อยันต์ล้านนาใช่ว่าทุกคนต้องใส่เสมอไป สมารถพับติดตัวก็ได้ และการชำรุดที่เกิดจากหนู แมงสาบ หรือธูปที่จุดบูชาหล่นใส่ผ้า ทำให้เสื้อยันต์ชำรุดไปเยอะ ที่สภาพดีๆสมบูรณ์ไม่ขาดเลยนับวันยิ่งหายากมากขึ้น และปัจจุบันของใหม่ๆที่สร้างก็ไม่ค่อยจะมี ถ้ามีก็จะเป็นการปั๊มเสียมากกว่า
|