นานแล้วที่ทางร้านไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับวัตถุมงคลเนื่องจากว่าหลายเรื่องราวนั้นสามารถหาอ่านในแวปพระล้านนานี้ได้ แต่บางอย่างนั้นของเฉพาะถิ่นหรือวัตถุมงคลสายครูบาดอนตันทางร้านก็จะเขียนให้ได้รู้ได้เห็น หากไม่บอกไม่กล่าวผู้คนก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าแท้อย่างไรเก๊อย่างไร วัตถุมงคลชิ้นนั้นเป็นของครูบาดอนตันหรือครูบาอื่นๆได้อย่างไร วันนี้นึกขึ้นได้ว่าผ้ายันต์เมตตาที่อื่นราคาหมื่นเป็นแสน แต่ทางเมืองน่านก็เห็นมีการเขียนผ้ายันต์เมตตาเหมือนกันแต่ทางน่านจะมีวิธีการทำเหมือนที่อื่นหรือไม่ ก็เลยมาเล่าให้ทราบว่าทางเมืองน่านโดยเฉพาะสายเมตตาของครูบายาวิราชเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นต้องมารู้จักผ้าปิดหน้าศพว่ามันคืออะไร
ต้องขออธิบายแต่ละอย่างก่อนว่าความเป็นมาเป็นไปผ้ายันต์ปิดหน้าศพมาได้อย่างไร
เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในแถบล้านนานั้น จะมีการนำผ้าขาวมาห่อศพผู้เสียชีวิต จากนั้นจะมีผ้าสีขาวผืนเล็กๆขนาดจะเท่ากับผ้าเช็ดหน้าหรือจะใหญ่กว่านี้เล็กน้อยนำมาปิดไว้หน้าศพ (ไม่รู้ว่าภาคอื่นเมื่อมีคนตายจะมีผ้าปิดหน้าหรือไม่) เมื่อถึงวันฌาปนกิจหรือเผาศพ ก่อนที่จะเผาศพนั้นจะให้ญาติได้ดูหน้าคนตายเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็นำผ้าปิดหน้าศพออก จากนั้นนำมะพร้าวมาล้างหน้าศพ สัปเหร่อก็ถามญาติว่าจะเก็บผ้าปิดหน้าไว้หรือไม่ หากญาติไม่เก็บก็จะนำไปปิดหน้าศพที่เดิมแล้วเผาพร้อมกับศพต่อไป หากญาติจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกของคนตายก็ได้ หากญาติไม่เก็บไว้ ผู้ที่มีวิชาหรือผู้ที่อยากได้ผ้ายันต์เมตตาก็จะแอบนำผ้ายันต์ปิดหน้าศพนี้ไป โดยให้ครูบาหรือฆราวาสที่เก่งๆนำไปลงยันต์เมตตามหาเสน่ห์เอาไว้ใช้ ความจริงแล้วสามารถนำผ้าคลุมศพและผ้าปิดหน้าศพมาลงยันต์เมตตาได้ แต่ด้วยการที่จะได้มาซึ่งผ้าคลุมศพหรือผ้าปิดหน้านั้นค่อนข้างยุ้งยากในเรื่องของการได้มาและความถูกต้องเหมาะสม แต่หากว่าญาติผู้เสียชีวิตอนุญาตให้เอาผ้าคลุมศพหรือผ้าปิดหน้าศพได้ อันนั้นเป็นความโชคดีของผู้ที่ขอญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต แต่หากคิดถึงความเป็นจริงแล้วน้อยนักที่ญาติผู้ตายจะอนุญาตให้เอาผ้าคลุมศพทั้งผืนเพราะต้องพลิกศพแกะศพออกอีก ดูแล้วไม่เหมาะสมและไปรบกวนศพ ส่วนใหญ่แล้วจึงนิยมเอาผ้าในส่วนที่ปิดหน้าศพมากกว่าเพราะจะเอามาโดยง่ายสุด ถึงแม้ญาติของผู้ตายไม่อนุญาตหรือไม่รู้ ผู้ที่แอบเอาไปนั้นสามารถพับใส่กระเป๋าเสื้อโดยที่ไม่ไปรบกวนศพและไม่มีใครเห็น ดังนั้นผ้าปิดหน้าศพจะเอามาง่ายสุด ดังนั้นหากท่านสังเกตให้ดีๆผ้ายันต์เมตตาส่วนใหญ่ผืนจะไม่ใหญ่ ผืนจะเล็กๆเนื่องจากว่าจะใช้ผ้าปิดหน้าศพนำมาเขียนยันต์เมตตามหาเสน่ห์ การที่เราใช้ผ้ายันต์ปิดหน้าศพมาลงยันต์เมตตาฯเนื่องด้วยหากพูดถึงหลักความเป็นจริง การที่มีคนตายเกิดขึ้นไม่ว่าญาติพี่น้องหรือคนที่รู้จักจะอยู่แห่งหนตำบลใดไม่ว่าอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เมื่อคนที่เรารู้จักตายขึ้น ผู้ที่รู้จักก็จะเดินทางมาหาคนที่เสียชีวิต ความอาลัยอาวรณ์ของคนเป็นที่มีต่อคนตายหรือความห่วงหาของผู้ตายต่อคนเป็น ที่เกิดขึ้นต่อกันและกันจะเป็นความเมตตาต่อทั้งสอง(ยิ่งตายโหงความรักความห่วงหาจะมีมาก) ดังนั้นจึงเอาคุณวิเศษของผ้าคลุมศพหรือผ้าปิดหน้าศพเป็นตัวแทนของความเมตตา และเมื่อนำไปให้ครูบาอาจารย์ต่างๆเขียนยันต์เมตตาเข้าไปอีก ก็เหมือนกับว่าสิ่งหนึ่งเป็นเมตตาที่เกิดความผูกพันของคนคือผ้า อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดจากความเมตตาที่เกิดจากการลงยันต์การเสก เมื่อเอาสองสิ่งหนึ่งมาร่วมกันจึงทำให้ผ้ายันต์เมตตาจึงมีคุณวิเศษในทางที่นำไปใช้
ในทางเมืองน่านแล้วจากการที่ทางร้านได้พบเห็น พอจะมีความรู้อยู่บ้างก็จะเป็นสายครูบายาวิราช วัดนาทรายที่จะใช้ผ้าปิดหน้าศพมาใช้ สายครูบายาวิราชนั้นถือเป็นสายเมตตาสายใหญ่ของท่าวังผา ที่ครูบาก๋ง วัดบ้านก๋ง ครูบาดอนตัน วัดดอนตัน ครูบารอด วัดบ้านพ่อ ครูบาดวง วัดท่าค้ำ ครูบาวงศ์ วัดหนองม่วง มหาจักร วัดป่าเมี้ยง ฯลฯ ล้วนแต่สืบตำราเมตตาจากสายครูบายาวิราช ดังนั้นเราจึงเห็นผ้ายันต์เมตตาของครูบาต่างๆของท่าวังผาจะคล้ายๆกันก็เพราะว่าตำรามาจากที่เดียวกัน แต่เรามาแยกในเรื่องของการเขียนการวาด แหล่งที่มา เอกลักษณ์ต่างๆของแต่ละท่านที่เขียนไว้ ในปัจจุบันนี้ผ้ายันต์ปิดหน้าศพค่อนข้างพบเห็นน้อยเพราะเนื่องจากว่า การที่จะไปเอาผ้ามาทำเป็นเรื่องยากในแง่ของความถูกต้องความเหมาะสมของผู้ที่จะไปเอาผ้าปิดหน้าศพ และคนรุ่นใหม่ๆไม่ค่อยรู้เรื่องนี้ บางครั้งก็เกิดจากความกลัวไม่กล้าเอามาไว้ที่บ้านหรือเมื่อเอามาแล้วหาจะพระเกจิเก่งๆในการเขียนยันต์ก็มีน้อย และที่สำคัญผ้ายันต์เมตตาหากท่านสังเกตจะเห็นว่าจะมีรูปวาดของคน ของสัตว์เยอะมาก การที่จะหาคนมาวาดฝีมือสวยๆค่อนข้างน้อย ดังนั้นเราเห็นว่าตั้งแต่การได้มาของผ้าที่จะนำมาทำ การวาด การเขียนการเสก ล้วนแต่มีขั้นตอนยุ้งยากทั้งสิ้น และเมื่อทำออกมาแล้วผ้าคลุมศพผืนหนึ่งเมื่อมาตัดก็จะได้ไม่กี่สิบผืน หากเป็นผ้าปิดหน้าศพแล้ว หากเป็นผืนเล็กๆก็ได้แค่ผืนเดียว หากผืนใหญ่หน่อยก็ได้แค่สองสามผืน ในปัจจุบันเลยทำให้เราเห็นผ้ายันต์เมตตาในส่วนที่เป็นผ้าธรรมดาแล้วนำมาปั๊มยันต์เสียมากกว่าเพราะสามารถทำออกมาได้หลายร้อยหลายพันผืน สะดวกรวดเร็วสามารถแจกจ่ายให้กับผู้คนจำนวนมากๆ ซึ่งจะแตกต่างในสมัยก่อนคือทำไว้ใช้เป็นการส่วนตัว ไม่มีการนำให้บูชาหรือทำไว้จำหน่าย และการที่จะมานั่งวาดรูปแต่ละผืนก็ไม่มีให้เห็นแล้ว ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยอันนี้ไม่ว่ากัน โดยส่วนตัวแล้วหากญาติๆของทางร้านได้เสียชีวิต โดยส่วนตัวก็เก็บผ้ายันต์ปิดหน้าศพไว้ ถือว่าเป็นการระลึกถึงญาติพี่น้องที่เคยเกี่ยวพันกันมา อันนี้เป็นความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นนะครับ
|