พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ

ตะกรุดปรอท ครูบาชุ่ม วัดวังมุย


ตะกรุดปรอท ครูบาชุ่ม วัดวังมุย

ขายแล้ว กลับหน้าร้าน
ชื่อพระ :
 ตะกรุดปรอท ครูบาชุ่ม วัดวังมุย
รายละเอียด :
 

ตะกรุดปรอท ครูบาชุ่ม วัดวังมุย เลี่ยมเงิน สามหูพร้อมใช้

ตะกรุด ปรอท เป็นวัตถุมงคลที่หลวงปู่ชุ่มนำออกมาแจกญาติโยมซึ่งแวะเวียนไปกราบนมัสการท่านเสมอๆ ท่านทำตะกรุดไว้หลายรุ่น หลายขนาด ทั้งแบบเป็นตะกั่ว ลงอักขระ ม้วนเป็นตะกรุดแล้วร้อยด้วยเชือก ทั้งแบบมีหนังควายหุ้มตะกรุดอีกที และแบบปรอทมีรูตรงกลาง ใช้รัดท่อนแขน ห้อยคอ และคาดเอว ปรอทเป็นโลหะที่พิเศษพิสดาร คือเป็นของเหลวไหลไปมาไม่อยู่นิ่ง พระที่ท่านซัดปรอทให้แข็งตัวได้ ย่อมต้องอาศัยกำลังจิตที่แกร่งกล้านัก หลวงปู่ชุ่มได้รับการถ่ายทอดวิชานี้มาจาก ท่านมหาเมธังกร จังหวัดแพร่ ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาทำตะกรุดหนังให้จนหมดสิ้น โดยท่านใช้เวลาศึกษาอยู่สองพรรษา

หลวงปู่ชุ่ม หรือ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เป็นพระผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ท่านปฏิบัติตามแนวทางกรรมฐาน 40 ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างอุกฤษฏ์ ชนิดยอมเอาชีวิตเข้าแลก จึงปรากฏว่าท่านเป็นที่เคารพบูชาของชาวล้านนา และบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อ 30 ปีก่อน นามของท่านยิ่งขจรขจายฟุ้งไปอีก กับเรื่องราวที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติ

หลวงปู่ชุ่มเป็นพระที่รอบรู้และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย บำเพ็ญบารมี 10 ประการ อันประเสริฐตลอดชีวิตสมณเพศ และมีความวิริยะอุตสาหะปฏิบัติเพื่อมรรคผลสูงสุดในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยพลังแห่งฌานสมาบัติที่แก่กล้า และพลังแห่งเมตตาจิต รวมทั้งสรรพวิชาที่ท่านได้เพียรศึกษาและสั่งสมมาตามคติครูบาอาจารย์ ทำให้กิตติศัพท์ความเก่งกล้าทางด้านวิชาพุทธาคมของหลวงปู่ชุ่ม เป็นที่เชื่อมั่นในหมู่ประชาชนยิ่งนัก โดยเฉพาะด้านคงกระพัน มหาอุด แคล้วคลาด

หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นสหธรรมมิกอาวุโสสูงกว่า เคยนิมนต์หลวงปู่ชุ่มไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนและศาลาวัดป่าดอนมูล กล่าวว่า

“หลวงปู่ชุ่มท่านเป็นพระภิกษุที่มีความชำนาญด้านการผูกอักขระเลขยันต์ต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจฌานสมบัติที่แกกล้าและขลังมาก” หลวงปู่ชุ่มได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกหลายงาน ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษกอัฐิท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง จ.ลำพูน หลวงปู่ชุ่มเป็นองค์ประธานในพิธี มีพระอริยะเจ้าทั่วภาคเหนือเข้าร่วมในพิธีนี้ ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์อันมิได้ปรากฏขึ้นโดยง่าย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาซึ่งเป็นพระอาจารย์ของครูบาเจ้าชุ่ม ท่านมรณภาพ ในปี พ.ศ.2481 วัดบ้านปางเก็บรักษาสังขารของท่านไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน อีก 8 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้น จึงได้มีพิธีพุทธาภิเษก และจัดแบ่งอัฐิของนักบุญแห่งล้านนาไปบรรจุไว้ที่ต่างๆ

แล้วในวันที่ 27 ตุลาคม ปี พ.ศ.2517 หลวงปู่ชุ่มยังได้ไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกเหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน อีกด้วย นับว่าหลวงปู่ชุ่มท่านได้แสดงมุทิตาจิตต่อพระอาจารย์ของตนเป็นอย่างดียิ่ง

ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ชุ่มยิ่งขจรไกล ความเลื่องลือเกี่ยวกับวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย บางครั้งเหล่าผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น และนำมาให้ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องทั้งประเภทเนื้อโลหะ และประเภทเนื้อผง เมื่อผู้เลื่อมใสศรัทธานำไปพกพาติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เหตุการณ์ มีอภินิหารต่างๆ นานา ทั้งด้านเมตตามหานิยม มหาอุด แคล้วคลาด คงกระพัน ส่งผลให้ชาวจังหวัดลำพูน และชาวจังหวัดใกล้เคียงในยุคนั้น ต่างแวะเวียนมากราบนมัสการท่าน เพื่อขอของดีกันไม่ขาดสาย ท่านจึงมักเมตตาทำวัตถุมงคลแต่ละชนิดให้แต่ละคนตามวาสนาที่แตกต่างกัน โดยที่หลวงปู่ชุ่มไม่เคยตั้งราคาวัตถุมงคลที่ท่านแจกเลย ทั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธาจะทำบุญกับท่านตามกำลังทรัพย์ที่พึงมี ปัจจัยทั้งหลายที่มีผู้ทำบุญถวายแด่ท่าน ล้วนถูกนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และการศาสนาทั้งสิ้นวัตถุมงคลของท่านในยุคเริ่มแรกจะเป็น ผ้ายันต์ ตะกรุด ล็อกเกตรูปถ่ายของท่าน และพระผงที่จัดสร้างเพื่อนำไปบรรจุตามพระเจดีย์ต่างๆ ที่ท่านไปนั่งหนักเป็นประธานสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ไว้นั่นเอง

 

ตำนานลือลั่นของ ยันต์ตะกรุดเสื้อ รุ่นกองพลเสือดำ

กองพลเสือดำ ในสมรภูมิรบเวียตนาม

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ได้เกิดสงครามเวียดนามคุกรุ่นขึ้น โดยในราวปี พ.ศ.2507 รัฐบาลเวียดนามใต้ ได้ส่งหนังสือขอความช่วยเหลือทางการทหาร และทางเศรษฐกิจมายังประเทศฝ่ายโลกเสรี

รัฐบาลไทยได้ลงมติรับหลักการให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ ต่อสู้กับเวียดนามเหนือ ซึ่งมีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 โดยพิจารณาจัดส่งกำลังพลไปเป็นระยะๆ ตลอดเวลาหลายปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ได้ส่งกำลังเพิ่มเติมในรูปของกองพลทหารเข้าทำการรบทั้งสิ้นจำนวน 3 ผลัด ผลัดละ 1 ปี

เหล่าทหารอาสาสมัครในกองพลเสือดำรุ่นที่ 1 และ 2 จำนวนหลายสิบนาย ได้มากราบนมัสการหลวงปู่ชุ่ม เพื่อขอวัตถุมงคลไว้เป็นสิริมงคล และปกป้องคุ้มภัย ก่อนเดินทางเข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งหลวงปู่ได้มอบ ยันต์ตะกรุดเสื้อ ให้กับทหารทุกนาย ปรากฏว่า ทหารหน่วยพลเสือดำที่มียันต์ตะกรุดเสื้อ ต่างรอดพ้นจากภยันตรายกลับสู่ภูมิลำเนา พร้อมกันทุกนาย ต่อมายังได้รับเหรียญกล้าหาญมาประดับอกเชิดชูความเสียสละ กล้าหาญ อีกด้วย หลังจากนั้น ทุกครั้งที่เหล่าทหารหาญรุ่นต่อไปจะออกเดินทางเข้าสู่สมรภูมิรบ หลวงปู่ชุ่มจะได้รับนิมนต์ให้เป็นประธานประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่บริเวณชานชาลาสถานีรถไฟเชียงใหม่ทุกครั้ง ทหารบางนายมาขอให้หลวงปู่ชุ่มอาบน้ำพระพุทธมนต์ถึงวัดวังมุยเลยก็มี

มูลเหตุของการสร้าง ยันต์ตะกรุดเสื้อ นั้น เนื่องมาจากสามเณรองค์หนึ่ง ซื่อสามเณรบุก เป็นชาวบ้านศรีสุพรรณ จ.ลำพูน สามเณรผู้นี้มีความสนใจทางด้านคาถาอาคมมาก ได้ยินกิตติศัพท์ในเรื่องการลงอักขระเลขยันต์ การผูกยันต์และความเก่งกล้าทางวิทยาคมของครูบาเจ้าชุ่ม จึงได้เพียรพยายามมาขอให้ท่านทำตะกรุดไปใช้ ท่านจึงได้ผัดผ่อนเรื่อยมา สามเณรก็เพียรพยายามขอหลายต่อหลายครั้งอย่างไม่ย่อท้อ จนหลวงปู่ชุ่มทนการรบเร้าอ้อนวอนจากสามเณรไม่ได้ จึงได้จัดสร้างตะกรุดเสื้อให้ไปหนึ่งชุด

เมื่อสามเณรได้ตะกรุดเสื้อจากหลวงปู่ชุ่มไปแล้ว นายวงศ์ผู้เป็นน้าชายของสามเณรนั้น ได้ขอยืมตะกรุดเสื้อต่อจากสามเณรไปอีกที ปรากฏว่าหลังจากนั้น นายวงศ์ผู้นี้ไปเป็นมิจฉาชีพ ทำการจี้ ปล้นสะดม ชาวบ้านทั่วภาคเหนือ จนได้รับขนานนามว่า เสือวงศ์ ข่าวการจี้และปล้นสะดมของเสือวงศ์ในยุคนั้น ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามที่ต้องวางแผนหาทางสกัดจับเสือวงศ์ให้ได้โดย เร็ว แต่ในการเข้าปะทะจับกุม เสือวงศ์ผู้นี้ก็สามารถฝ่าวงล้อมและห่ากระสุนหลบหนีไปได้ทุกครั้ง โดยมิได้รับอันตรายเลย

การปล้นสะดมของเสือวงศ์ได้แผ่ขยายพื้นที่มากขึ้น สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้าน แล้วยังสร้างความลำบากใจให้เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วย สามเณรบุกจึงได้สารภาพกับหลวงปู่ชุ่ม ถึงเรื่องที่เสือวงศ์ ขอยืมเอาตะกรุดเสื้อจากตน แล้วหนีหายกลายไปเป็นเสือร้าย ยังความสลดใจให้กับหลวงปู่ชุ่มอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องของยันต์ตะกรุดเสื้อ เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต เป็นอนุสสติให้ระลึกว่า ของดีของศักดิ์สิทธิ์นั้น หากนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็ย่อมถูกโมหะเข้าครอบงำ ก่อให้เกิดโทษ ในทางกลับกัน ของสิ่งเดียวกันนั้นทากถูกใช้อย่างพินิจพิจารณาด้วยจิตอันเป็นกุศล ย่อมยังคุณประโยชน์อย่างมหาศาล

ราคา :
 โทรถามครับ
โทรศัพท์ :
 0810200413, 0810200413
วันที่ :
 17/11/15 10:29:34
 
 
ตะกรุดปรอท ครูบาชุ่ม วัดวังมุย พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.