ชมของพม่าแล้วมาชมของล้านนาบ้าง ที่แตกต่างกันคือใบลานของล้านนาจะขูดจารลงในเนื้อ ไม่มีการลงรักปิดแผ่นเงิน-ทองแล้วเขียนอักษรธรรมลงบนแผ่นทองแบบพม่า ขนาดใบลานของเราหน้าแคบกว่า ไม่เน้นเขียนลายลงในใบลานแต่อย่างใด
"กั๊บธรรม"ของล้านนาที่เก่าแก่ร้อยกว่าปีถึงเกือบสองร้อยปีจะมีการประดับปกประกับหน้าหลังด้วยลายรักปั้น ติดกระจกจืนหรือกระจกหลังตะกั่ว มีความสวยงามคลาสสิค ชุดที่เห็นนี้จะมีอายุต่ำกว่าร้อยปี น่าจะราวๆ 80ปีขึ้นไปลงรักปิดทองแท้ ที่ปิดทองเป็นลายนั้นใช้เทคนิคปิดแบบสเตนซิลค์ โดยเจาะกระดาษสาหนาๆเป็นต้นแบบ
วิธีการเก็บรักษาก็ต่างกัน ของพม่าจะใช้การห่อผ้าผูกเชือกวางราบทับกันใน"หีบธรรม" เป็นหีบแบบตะวันตก ส่วนของล้านนาจะเย็บถุงผ้าไว้ใส่ธรรมแต่ละผูก บางทีเป็นเสื่อทอผืนเล็กๆห่อกั๊บพระธรรมเสร็จแล้วผูกมัดด้วยเชือกอีกที เวลาเก็บก็วางตั้งลงไปใน"หีดธรรม" หรือหีบพระธรรมทรงส่วนล่างสอบส่วนบนผายออก เรียงทางตั้งลงไปจนเต็มคล้ายกับกระบอกใส่ตะเกียบ
ในรูปจะเห็นไม้สองอันมีรายละเอียด ปลายเรียว ลำตัวแอ่นโค้ง ไม้ชิ้นเล็กๆนี้เรียกว่า"บานจั๊ก" คือไม้ประกับที่จารบอกรายละเอียดว่าธรรมแต่ละผูกนั้นคือธรรมบทไหน เรื่องอะไร จะวางปะกับนอกเสื่อที่ห่อกั๊บธรรมแล้วผูกเชือกคาดทับจนแน่น ที่ทำให้ไม้มีความแอ่นโค้งก็เพื่อหลังจากผูกมัดแล้วไม้จะเด้งสปริงดีดตัวคืนพลอยดึงเชือกมัดให้แน่นตึงไม่หลวมคลายออก ผู้มาหยิบคนในหีบจะหยิบขึ้นมาอ่านเลือกเอาธรรมผูกที่ต้องการไปใช้โดยไม่ต้องแกะดู "บานจั๊ก"สองอันนี้เก่ากว่ากั๊บธรรมชุดนี้มาก อายุเกินกว่า 120ปี มีฝรั่งเก็บสะสมเฉพาะบานจั๊กนี้มานานแล้ว ของทำเทียมขึ้นมาขายใหม่ก็มีมานานแล้วด้วยเช่นกัน
ในชุดนี้ความยาวกั๊บธรรมประมาณ 24นิ้ว ปกชุดที่มีลายเป็นแพะนั้นไม่มีใบลานมาด้วย
|