ผ้ายันต์พญาเขาคำนั้นหลายๆคนคิดว่า หากเป็นยันต์ประเภทนี้ต้องเป็นของครูบาท่านหนึ่งท่านใดสร้างขึ้นเพียงผู้เดียงเท่านั้น ความจริงแล้วท่านคิดผิดเพราะตำรายันต์พญาเขาคำนั้นแพร่หลายในล้านนามีหลายครูบาอาจารย์ที่ท่านได้นำมาเขียนลงผ้ายันต์ การที่จะระบุว่าของครูบาท่านใดนั้นต้องสอบถามคนที่ได้มา หากเป็นของตกทอดก็ต้องดูว่าเดิมทีนั้นอยู่ในพื้นที่จังหวัดใด เพราะจะดูแค่ยันต์นั้นค่อนข้างลำบากเพราะอักขระที่ลงนั้นเหมือนกัน จะแตกต่างก็คือรูปวาด อันนี้แล้วแต่ฝีมือแต่ละคน เลยแยกไม่ออกว่าของครูบาสายไหน แต่ทางสายน่านพอจะแยกออกได้บ้าง ผ้ายันต์พญาคำเขานั้นเป็นหนึ่งในผ้ายันต์สายเมตตามหาเสน่ห์ของล้านนาที่ใครหลายๆคนชื่นชอบและเสาะแสวงหามาสะสมกัน
ผ้ายันต์พญาเขาคำถูกครอบด้วยยันต์พญาช้างโขลงผืนนี้นั้นเขียนด้วยวิธีโบราณคือการจุ่มหมึกสักในการเขียน ไม่ได้ใช้ปากกาสำเร็จรูป การวางสเกลของยันต์วางได้สวยงาม การเขียนก็เป็นระเบียบเรียบร้อย รูปที่วาดนั้นถือว่าวาดได้สวยงาม ผ้ายันต์ผืนนี้สภาพสมบูรณ์ถือว่าเก็บรักษาได้ดีมาก ดูศิลปะการเขียนแบบโบราณและสภาพคงร่วม100กว่าปี ขนาดของผ้ายันต์นี้ 28x16นิ้ว ส่วนจะเป็นของครูบาท่านใดนั้น ผืนนี้ระบุที่มาไม่ชัดเจนเพราะเป็นของมรดกตกทอด ไม่สามารถรู้ได้ชัดเจนว่าของที่ไหน แต่คนที่ทำได้ขนาดนี้ถือว่าไม่ธรรมดา แต่หากพิจารณาเมื่อดูจากยันต์ที่เพิ่มเติมจากพญาเขาคำกับพญาช้างโขลงนั้น จะมีรูปนกซ้ายขวาที่เป็นเอกลักษณ์ทางสายวัดเมืองราม จากจุดนี้ที่ไม่เหมือนใครจึงเป็นเอกลักษณ์ทางสายนี้ จะเป็นครูบาสมหรือครูบาสิทธิไชยาคงไม่หนีจากนี้ พญาเขาคำแบบนี้ที่มีนกอยู่ด้วย ตำรานี้มีครูบายาวิราราชและครูบาเสาร์นำมาใช้ จึงไม่รู้ว่าตำราดั้งเดิมจริงๆเป็นของสายไหนครับ
|