วันนี่ที่นำมาให้ชมคือมีดแหกล้านนา แบบบ้านๆของทางสายท่าวังผา ส่วนใหญ่แล้วมีดแหกทางล้านนาที่หลายๆร้านเอามาโชว์นั้นเป็นเป็นมีดแหกที่ทำมาจาก งาช้างกระเด็น เขาควายที่ตายฟ้าฝ่าบ้าง ไม้งิ้วดำบ้าง เขี้ยวสัตว์หรือเป็นมีดที่ทำมาจากโลหะบ้างและทำออกมาได้สวยงาม วันนี้ขอนำเอามีดแหกเมืองน่านที่แปลกๆมาให้ดูกัน มีดแหกเล่มนี้ถ้ามองดูทั่วไปจะไม่สวยงาม ไม่มีเสน่ห์ในตัวเลย แต่ความพิเศษของมีดเล่มนี้คือ เป็นมีดแหกที่ใช้เฉพาะไล่ผีอย่างเดียว ไม่ได้นำไปใช้ในทางแหกรักษาโรค ที่ตัวมีดทำมาจากฝาบาตรแตกกลางวัด(แตกในวัด)เป็นวัตถุอาถรรพ์ นำมาตีพับเป็นใบมีด ซึ่งหลายคนคงไม่เคยเห็นว่ามีการนำฝาบาตรแตกมาทำได้ด้วยหรือ ผมขอยกตำรายันต์มหาอักขระครูบาดอนตันบทหนึ่งของตะกรุด1ใน33ดอกที่เขียนไว้ว่า
"เอา ระ ไว้กลางหื้อลงฝาบาตรแตกในสีมา(แตกในวัด) ผีว่าน้ำออกก็ดี ที่ใดผีชอบหลอกที่มีเข้าของนั้นแพ้เสี้ยงแล"
ตอนแรกที่ได้มานั้นยังสงสัยว่ามีดแหกเล่มนี้ใบมีดทำไมสีฝาบาตร เมื่อถามและพิจารณาดูจึงรู้ว่าได้นำฝาบาตรแตกมาทำ และพร้อมใบคาถาแหกไล่ผี "อมทุรูโงทะนุกูสูงเจ็ดศอก นอกได้เจ็ดวา เทวบุตรเทวดาผีอยู่บ่ได้ คนอยู่บ่ได้ โงทะนุจักคิดเรียละราย อมสวาหะเท๊ก" ตัวมีดและด้ามมีดลงคาถาล้านนาไว้ทั้งหมด แต่การทำขึ้นมานั้นเป็นศิลป์แบบชาวบ้านๆเลยไม่สวยงาม แต่ทรงคุณค่าในการอนุรักษ์ครับ
|