เป็นหีบพระธรรมขนาดกะทัดรัด หน้ากว้าง 84ซม. หนา(ลึก) 42ซม. สูง 100ซม.
รูปทรงสวยงามมาก รัก ชาด ทองของเดิมทั้งหมด พิจารณาจากลวดลาย ฝีมืองานไม้เป็นงานมือแต่แต่งไม้ได้บางเบา รูปทรงบ่งบอกถึงงานช่างชั้นสูงอายุประมาณ 160-200ปี ค่อนข้างสมบูรณ์ ทองและชาดที่หลุดเลือนไปเกิดจากการเช็ดถูทำความสะอาดบ่อยๆเผยให้เห็นชั้นของรักที่เนียนละเอียด ความเงาที่เห็นเป็นเงาของวัสดุธรรมชาติเดิมๆ
หีบพระธรรมล้านนาไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนหีบจากพม่าและเขตฉาน แม้ว่าวัดทางเหนือจะมีไม่น้อยแต่ก็ยังเทียบฝั่งโน้นไม่ได้อยู่ดี ทรัพยากรของท้องถิ่นที่จะสนับสนุนจัดสร้างก็ไม่ได้ร่ำรวยทัดเทียม ในบ้านเรามีผู้เก็บสะสมไว้มาเป็นช่วงเวลาหนึ่งระยะหลังมานี้จึงไม่ค่อยจะพบเห็นที่สวยๆสักเท่าไหร่ อีกทั้งกระแสการอนุรักษ์ที่เข้มแข็งขึ้นก็ทำให้คณะกรรมการวัดต่างๆได้หันมาสนใจเก็บรักษากันด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี
จุดเด่นของหีบพระธรรมล้านนาคือมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ทั้งรูปแบบ ลาย วิธีการสร้าง ที่ชัดเจนคือของพม่าและฉานจะสร้างเป็นหีบสี่เหลี่ยมที่มีลวดลายตกแต่ง ตัวหีบจะต้องยกขึ้นประดิษฐานบนแท่นที่มีการให้รายละเอียดวิจิตรอลังการ มีขนาดความสูง เหมาะกับวัดที่มีอาคารศาลาขนาดใหญ่ ส่วนหีบธรรมล้านนาจะมีฐานในตัวเอง หีบหลายๆใบจะถูกยกขึ้นตั้งเรียงบนยกพื้นยาวที่ชิดผนังของวิหารหรือพระอุโบสถ ทำให้ประหยัดพื้นที่ ไม่จำเป็นจะต้องสร้างอาคารศาลา โบสถ์วิหารใหญ่โต เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่สมถะของล้านนา |