ประวัติรูปหล่อของครูบาขันแก้ว และวัตถุมงคลของครูบาขันแก้วปีพ.ศ.2525-2526
นานแล้วที่ผมไม่ได้เขียนอะไรให้ท่านผู้ที่ติดตาม ร้านอักษรธรรม อ่าน ผมต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ครั้งนี้เกิดการทักท้วงจากเพื่อนๆว่าทำไมไม่ลงประวัติรูปหล่อครูบาขันแก้วมั่ง ผมก็คิดได้ว่ายังไม่ได้เขียนให้ท่านผู้อ่าน อ่านกันเลยเพราะมีตั้ง2รุ่น เอาล่ะครับเรามาย้อนหลังกันอีกทีในปี2525-2526(ในรูปหล่อรุ่นแรกกัน)
ในปีพ.ศ.2522-2526 ครูบาขันแก้วเป็นที่รู้จักยอมรับ และกล่าวขานกันทั้งประเทศแล้วถือเป็นช่วงเวลาที่ดังและดีที่สุดของครูบาขันแก้วเลยก็ว่าได้ ของในยุคสมัยนั้น(คณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกเข้าไปกราบเป็นลูกศิษย์ของครูบาขันแก้วเมื่อปี พ.ศ.2520)ที่กล่าวถึงกันมากที่สุดคงจะไม่พ้นในเรื่องการปลุกเสกวัตถุมงคลแบบลืมตาปลุกเสก ที่เหมือนหลวงพ่อพรหม ถาวโรแห่งวัดช่องแค ว่ามีความเข้มขลังไม่แพ้วัตถุของหลวงพ่อพรหมเลย ยิ่งคนที่สร้างวัตถุมงคลให้ครูบาขันแก้วท่านที่ชื่อว่า อาจารย์หมอ สมสุข คงอุไร ที่เคยเป็นศิษย์หลวงพ่อพรหม ถาวโร มาก่อน และได้สร้างวัตถุมงคลเหรียญรุ่นแรกครูบาขันแก้วผสมทองระฆังหลวงพ่อพรหมเข้าไป ทำให้เกิดประสบการณ์ต่างๆนาๆ จนหนังสือลานโพธิ เขียนโดยคุณลุงแล่ม จันท์พิศาโล ได้นำเรื่องราวของครูบาขันแก้วลงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ถึงความมีเมตตา และความเข้มขลังของตัวครูบาขันแก้วเองจนมีคนที่ศรัทธามากขึ้นๆ อาจารย์หมอสมสุขเองก็ได้สร้างวัตถุมงคลให้ครูบาขันแก้ว หลายอย่างด้วยกัน ได้นำปัจจัยต่างๆเข้าวัดสันพระเจ้าแดง และวัดก็ได้พัฒนาสิ่งอุปโภค บริโภคดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อพ.ศ.2525 ในปีนี้เอง อาจารย์หมอสมสุขจึงคิดว่าจะจัดสร้างรูปหล่อของครูบาขันแก้วขนาดห้อยคอให้กับเหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกและผู้ที่รักและศรัทธาครูบาขันแก้วไว้บูชากัน เพราะนับตั้งแต่สร้างวัตถุมงคลให้รูบาขันแก้วมา ยังไม่เคยสร้างรูปเหมือนขนาดห้อยคอสักที อาจารย์หมอสมสุข ได้ปรึกษากับหมอนิยม ต่อวงค์ และคณะศิษย์รัศมีพรหมว่าจะทำรูปแบบใดกันดี เมื่อสรุปความคิดเห็นแล้วว่าจะทำรูปหล่อขนาดเล็ก ด้วยหาช่างมาทำหุ่น โดยได้ว่าจ้าง อ.กนก บุญโพธิแก้ว เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่สร้างอนุสาวรีย์ครูบาชุ่ม โพธิโก ,ครูบาขันแก้ว ,ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า เมื่อออกแบเสร็จแล้วก็นำไปว่าจ้างโรงงานทำรูปหล่อเหลือนครูบาขันแก้ว ทันที
รูปหล่อรุ่นแรกของครูบาขันแก้วรุ่นนี้เป็นรูปหล่อเหมือนแบบฉีด เป็นการทำรูปหล่อแบบยุคสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำวัตถุมงคล จนทำให้ได้รูปหล่อรุ่นนี้จะสวยทุกมุมและกำหนดจำนวนที่แน่นอนคือ
1.รูปหล่อเนื้อเงินจำนวน 250 องค์
2.รูปหล่อเนื้อ นวะโลหะ จำนวน1000 องค์
3.รูปหล่อเนื้อทองแดง จำนวน 1500 องค์
4.เนื้อตะกั่ว จำนวน 200 องค์
**เนื้อตะกั่วนี้ คุณหมอนิยม ต่อวงค์ ได้ขออนุญาตอาจารย์หมอสมสุข โดยใช้ตะกั่วโบราณ พระเนื้อชินที่ชำรุด ตะกรุดปรอทครูบาชุ่ม ตะกรุดเนื้อตะกั่วของหลวงพ่อยุคเก่า เช่นหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ตะกรุดโสฬสหลวงปู่เอี่ยมสะพานสูง ตะกรุดมงกุฎพระพุทธเจ้าหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง ตะกรุดเนื้อตะกั่วหลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค และตะกรุดเนื้อตะกั่วยุคเก่าที่ไม่ทราบหลวงพ่ออีกจำนวนหนึ่งมาผสมสร้างรูปหล่อรุ่นนี้ด้วย จึงสร้างได้แค่ 200 องค์เท่านั้น
และกำหนดราคาทำบุญคือ
- ชุดกรรมการ มี250 ชุด ทำบุญ ชุดละ300 บาท ในชุกกรรมการประกอบไปด้วย มี เงิน นวะโลหะ ทองแดง
-เนื้อ นวะโลหะทำบุญ องค์ 100บาท
-เนื้อทองแดง มอบให้ครูบาขันแก้วบางส่วนแจกตามเจตนา
-ส่วนเนื้อตะกั่วถือเป็นสมบัติส่วนตัวของ คุณหมอนิยม ต่อวงค์ ซึ่งทางเหล่าคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกใครอยากได้ก็ไปขอกับหมอนิยม ต่อวงค์เอง
****ไม่มีเนื้อทองระฆังล้วน อย่างที่หลายๆคนเข้าใจนะครับ เพราะทุกเนื้อแค่ผสมเนื้อทองระฆัง(ผงตะไบทองระฆัง 1ช้อนชา เป็นกระสายแค่เอาเคล็ตว่ามีสำริดผสม)เข้าไปตามสูตรกรรมวิธีการสร้าง ของ อ.หมอสมสุขท่าน***** และได้ตอกโค๊ต ตามจุดต่างๆ ที่อาจารย์หมอสมสุข กำหนดไว้ และได้ขอเมตตาครูบาขันแก้วปลุกเสกตั้งแต่วันจันทร์ที่5 กรกฎาคม พ.ศ.2525 ในเวลาประมาณ 15.19น.หลวงปู่ขันแก้วได้ทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลโดยตัวท่านเพียงองค์เดียวเป็นเวลานานถึง3ชั่วโมงเต็ม ในการปลุกเสกครั้งนี้หลวงปู่ท่านได้ชักประคำ สวด อิติปิโส 108จบ จากนั้นได้ปลุกเสกพระสวดพระคาถาต่างๆตามที่ท่านถนัด เรียกได้ว่าการปลุกเสกครั้งนี้ หลวงปู่ตั้งใจเสกอย่างเต็มที่ประเสริฐเลิศล้ำยิ่งกว่าทุกๆครั้งที่เคยทำมา และหลังจากนั้นก็ได้มีการปลุกเสกเดี่ยวอีก1ไตรมาส เพื่อจะนำมาเป็นของที่ระลึกมอบให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าของวัดสันพระเจ้าแดงซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของครูบาขันแก้ว ในวันที่14 พฤษจิกายน พ.ศ.2525 อายุครบ 84 ปี ในวันนั้นมีพิธีสืบชาตาของครูบาขันแก้วครบ83บริบูรณ์ย่างอายุเข้า84ปี และพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตรงพระเกศของพระเจ้าแดงในวันนั้นเองได้ นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่มาร่วมพิธีสืบชาตาครูบาขันแก้ว พิธีสวดพุทธมนต์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และปลุกเสกวัตถุมงคลในปีนี้ รวมไปถึงรูปหล่อรุ่นแรกครูบาขันแก้วนี้ด้วย
รายนามพระเถระที่มาร่วมพิธีในวันนั้นที
1.ครูบาบุญทา สุวัณโณ วัดสันป่าเหียง ต.มะเขือแจ้ บ้านธิ ลำพูน
2.ครูบาพรหมจักร พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า ป่าซาง ลำพูน
3.พระครูจันทสมานคุณ(หลวงปู่หล้า) วัดป่าตึง สันกำแพง เชียงใหม่
4.เจ้าคุณพระธรรมโมลี เจ้าคณะภาคเหนือ วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
5.ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล(ชุมพล) เจ้าคณะจังหวัดลำพูน วัดมหาวัน ลำพูน
จึงถือได้ว่าวัตถุมงคลรุ่นปี พ.ศ.2525 รวมถึงรูปหล่อครูบาขันแก้ว เป็นรูปหล่อที่มีพิธีครบสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว ในรุ่นปี 2525นี้เป็นการ ทางคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกจึงเรียกวัตถุมงคลรุ่นนี้ว่า รุ่น อนุตฺตโร โดยการทำโค๊ตที่ตอกในวัตถุมงคล เป็นตัวอักษรขอม อักษร อะ รัศมีล้อมรอบ
ในส่วนพุทธคุณนั้นไม่ต้องกล่าวว่าดียังไง ตั้งแต่พิธีการปลุกเสกของครูบาขันแก้ว ด้วยตัวของท่านเองแบบบินเดี่ยว รวมไปถึง พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่กล่าวนามไปที่ร่วมปลุกเสก และสวดเจริญพุทธมนต์สืบชาตาให้กับครูบาขันแก้ว สวดเจริญพุทธมนต์ในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระเจ้าแดง จึงเชื่อว่าดีทุกอย่างสมปรารถนา
ปล.รูปหล่อรุ่นนี้มีการแจกเป็นที่ระลึกร่วมทำบุญอยู่2ครั้ง
ครั้งที่1 เมื่อ วันที่14 พฤษจิกายน พ.ศ.2525 จะเป็นรูปหล่อครูบาขันแก้วแบบธรรมดา ดังจะเห็นหน้ากล่อง ว่า “รูปเหมือน ครูบาขันแก้ว อุตตฺโม วัดป่ายาง(สันพระเจ้าแดง) จ.ลำพูน 14 พ.ย. 2525”
ครั้งที่2 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2526เขียนหน้ากล่องว่า “พระรูปหมือน บรรจุเส้นพระเกษาธาตุ ครูบาขันแก้ว อุตตฺโม ที่ระลึกร่วมทำบุญกับคณะศิษย์รัศทีพรหมโพธิโก พ.ศ.2526” รุ่นนี้ก็ได้แตกต่างกันไปเล็กน้อยโดย อาจารย์หมอสมสุขได้เจาะฐานรูปหล่อบรรจุ พระเกษาธาตุของครูบาขันแก้วลงไปในรุ่นนี้ด้วย แต่ก็ใช้รูปหล่อรุ่นแรกชุดเดิม ตอกโค๊ตเหมือนกันทุกอย่าง
สุดท้ายขอขอบพระคุณ พี่ชายใจดีทั้ง2ท่าน คุณ เอก ลำพูน และ พี่หนานน้อย ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ สวยๆ ให้ได้เห็นภาพครบทุกเนื้อชัดเจนยิ่งขึ้น และขอขอบพระคุณ พระอาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ที่ให้ข้อมูลเรื่องการสร้างวัตถุมงคลชุดรูปหล่อครูบาขันแก้วนี้อย่างละเอียด บันทึกของอาจารย์หมอสมสุข คงอุไร คุณหมอนิยม ต่อวงค์ที่ร่วมสร้างวัตถุมงคลชุดนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน กระทู้นี้ ผม ธันชนกเป็นสื่อกลางที่รวบรวมข้อมูลความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาสะสมวัตถุมงคลของครูบาขันแก้ว
ขอบคุณร้าน ออมสินพระเครื่อง ร้านลลนา พระเครื่อง ร้านหนานน้อย ร้าน ดอนชัยพระเครื่อง ที่นำข้อมูลครูบาขันแก้ว ไปเผยแพร่ ให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ตลอดมา ขอบคุณทุกท่านครับ
|