พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ

ข้อมูลเกี่ยวกับ ตะกรุดครูบาชุ่ม


ข้อมูลเกี่ยวกับ ตะกรุดครูบาชุ่ม

รายการเด่น โชว์ กลับหน้าร้าน
ชื่อพระ :
 ข้อมูลเกี่ยวกับ ตะกรุดครูบาชุ่ม
รายละเอียด :
 

 

วันพระ   15 มี.ค. 2555 ขอกราบแทบเท้าครูบาชุ่ม ในฐานะพระอริยสงฆ์แห่งลานนา และเป็นอาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ผู้ให้ธรรม และแนวทางอาณาปณสติต่อจากหลวงปู่พรหม วัดช่องแค รวมถึงพระคุณที่ท่านเมตตาให้ ฉายา โพธิโก มาเป็นนามแห่งคณะฯ

ความตั้งใจและข้อมูลที่ผมได้ลงไป ขอท่านครูบาได้ทราบและอนุโมทนาให้พร แต่หากผมมีเจตนาที่ไม่ดีนำข้อมูลที่ผิดเพี้ยนมาลง เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในทางการค้าหรือทางใดก็ดี ขอความวิบัติจงมีแก่ผมโดยพลัน

ขอขอบพระคุณ ผู้ให้ข้อมูล และหลักฐาน โดยเฉพาะข้อมูลจากบันทึกของอาจารย์หมอ สมสุข คงอุไร อาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ที่ได้จากการสอบถามครูบาชุ่มด้วยตัวท่านเอง และเจ้าของตะกรุดทั้งหลายที่กรุณา เสียสละเวลา ถ่ายรูปตะกรุดของท่าน และส่งมา เพื่อเปรียบเทียบลักษณะและได้ร่วมให้ข้อมูลครั้งนี้โดยเฉพาะหลายๆท่านที่ทันกราบและเจอสัมผัสรับใช้ครูบาชุ่ม ที่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ ได้กรุณาเล่าถ่ายทอดให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์รุ่นเก่าของคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ศิษย์รุ่นเก่าของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ สายวัดท่าซุง ซอยสายลม และอีกหลายๆคนครับ

และขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาชมในกระทู้นี้ และขอบคุณหลายๆสายที่ได้โทรมายืนยันข้อมูลที่ตรงกันและให้กำลังใจ เดิมทีเดียวตั้งใจว่าจะยุติเรื่องนี้แล้วเพราะถือว่าได้ให้ข้อมูลไปแล้ว แต่มีผู้ที่เคารพนับถือ ขอให้สรุป ไว้หน่อย ก็เลยต้องขออนุญาตตั้งกระทู้นี้

 

ผมจึงขอสรุป เรื่องตะกรุด ครูบาชุ่ม ตามข้อมูลและพยานหลักฐาน ดังนี้ นะครับ

 

1. ตะกรุดหนังลูกควายตายพรายมีต้นตำรับสายวิชามาจากเมืองน่าน ซึ่งในยุคนั้น โซนจังหวัดน่านมีผู้ก่อการร้ายชุกชุม(พื้นที่สีแดง) ครูบาอาจารย์สมัยนั้น จึงเน้นสร้างเครื่องรางของขลัง ที่เกี่ยวกับ มหาอุด คงกระพัน โดยตะกรุดหนังฯ เป็นตะกรุดที่นิยมสร้างกันมากในเขต แพร่ น่าน โดยในยุคนั้น ผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดถือว่าเป็นดั่งปรมาจารย์ทางวิปัสสนา และพระเวทย์(เปรียบเสมือน อ. ทองเฒ่า แห่งสำนักเขาอ้อ) อยู่ทาง จ.แพร่ เป็นสหธรรมิก ของครูบาเจ้าศรีวิชัยและวิชาที่โดดเด่น คือการทำตะกรุดหนังลูกควายตายพราย คือ พระมหาเมธังกร วัดน้ำคือ จ.แพร่ ครูบาชุ่มท่านได้ทราบชื่อเสียงของ พระมหาเมธังกร(หลวงปู่หมา)ในคราวที่ตามครูบาเจ้าศรีวิชัย มาบูรณะวัดพระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดครูบาเจ้า ศรีวิชัย จนเมื่อปลงพระศพสรีระครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว ครูบาชุ่มท่านเดินทางมาศึกษาวิชากับหลวงปู่พระมหาเมธังกรเป็นเวลา 2ปี

 

2. ครูบาชุ่ม ท่านได้ เรียนวิชานี้ มาจาก พระมหาเมธังกร โดยมีศิษย์ร่วมเรียนกัน (ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ) ที่มีการค้นคว้ามาพอได้สังเขปคือ

1.ครูบา สิทจิ๊ ไจยา (เป็นพ่อครู ของครูบาอินสม วัดเมืองราม จ.น่าน)

2.ครูบา อินต๊ะวงค์ปู๋เผือก วัดแสงดาว จ.น่าน

3.ครูบา กั๋ญจ๊ะณะวงค์ วัดม่วงตึ๊ด

4.ครูบา ขัตติยะวงค์ วัดท่าล้อ จ.น่าน

5.ครูบา ญาณะ วัดสวนดอก ( ผู้เป็นพ่อครูบาอาจารย์ ของครูบา สุทธะวงค์(บุญทา) ใจเฉลียว หรือครูบาวัดดอนตัน ท่าวังผา จ.น่าน )

6.ครูบา สุทธะวงค์(บุญทา) ใจเฉลียว หลวงพ่อวัดดอนตัน ท่านก็ทำตะกรดหนังพอกครั่งเช่นกัน แต่ท่านสืบตำรามาจาก ครูบา ญาณะ วัดสวนดอก ไม่ได้สืบตำรากับพระมหาเมธังกรโดยตรง

7.ครูบา อาทะวงค์ วัดน้ำปั๊ว อ.สา จ.น่าน

8.ครูบา ธรรมจัย วัดศรีนาป่าน

9.ครูบา พรหมมา วัดบ้านก๋ง ท่าวังผา จ.น่าน (ครูบาวัดบ้านก๋ง ผู้เป็นอาจารย์ ของครูบา มนตรี วัดพระธาตุศรีสุโทนมงคลคีรี อ.เด่นชัย จ.แพร่ )

10.ครูบา อินสม วัดเมืองฮาม (เมืองราม)

11. ครูบา ปัญญา วัดซ้อ

12.ครูบา บุญเยี่ยม วัดเชียงของ อ.นาน้อย

13.ครูบา วงค์ วัดเชียงของ อ. นาน้อย

14.ครูบา อินต๊ะยศ วัดไทรหลวง

15.ครูบา อินหวัน วัดอภัยคีรี ( พ่อครูอาจารย์ของ ครูบา วัดศรีบุญเรือง)

16.ครูบา วัดศรีบุญเรือง จ.น่าน ท่านก็สร้างตะกรุดหนังและสืบตำรามาจาก ครูบา อินหวัน
17.ครูบาสม วัดป่าแดด อ.สารภี เชียงใหม่
18.ครูบาธรรมชัย วัดประตูป่า ลำพูน
19. ครูบาอินตา วัดห้วยไซร (ท่านไปขอสืบตำราจากครูบาชุ่ม)
20.ครูบาบุญตัน ไชยยะสิทธิ วัดสันมะแปบ สันกำแพง เชียงใหม่
21.ครูบาต๋า วัดบ้านเหล่า สันป่าตอง เชียงใหม่(ผู้สืบตำราจากครบาชุ่ม)

ครูบาที่เอ่ยนามมานี้ท่านได้สร้างตะกรุดหนังมาเหมือนกันในยุคที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งที่ยังไม่ได้เอ่ยนามอีกมาก ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่เก่าตรงสมัยกับ หลวงปู่มหาเมธังกร และหลวงปู่ ชุ่ม โพธิโก และบางคณาจารย์ก็นำตำราการสร้างตะกรุดหนังนี้มาสร้างตะกรุดหนังยุคหลัง แต่ทำครั่งให้เก่าก็มีอีกด้วย

 

*********ตามข้อ 1-2 สามารถสอบถามข้อเท็จจริงได้จาก ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า หนานบุญแห่งเมืองงาช้างดำ ผู้ศึกษาข้อมูลเรื่องราวเวทย์มนต์ เครื่องรางล้านนามาเป็นเวลาร่วม 30ปี และยังได้รับการขอร้องให้เขียนเรื่องอักขระเลขยันต์เครื่องรางสายล้านนาลงในหนังสือ อุณมิลิต. และยังเป็นผู้ที่ออกมาโต้แย้งเรื่อง ผ้ายันต์พระสิหิงค์หลวง ที่มีเซียนบางคนบอกว่าเป็นยันต์ทัพหลวง แต่สุดท้ายก็จนด้วยพยานหลักฐานจนยอมรับว่าเป็นผ้ายันต์พานครู ตามที่ท่านโต้แย้งไว้ อีกทั้งท่านยังเป็นต้นทางข้อมูลและรังใหญ่เครื่องรางของขลัง ที่แม้แต่เซียนเครื่องรางใหญ่ในส่วนกลางและของลานนา ยังแวะเวียนไปขอความรู้และพยายามขอแบ่งของจากท่านเสมอ ( อภิมหาเซียนเครื่องรางล้านนาท่านหนึ่ง ลองไตร่ตรองนึกดูว่าได้เคยไปขอแบ่งผ้ายันต์พระสิหิงค์หลวงจากท่านบ้างหรือเปล่า)

 

3. โปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรองว่า ตะกรุดหนังฯที่ทำในยุคนั้น โดยครูบาอาจารย์ท่านอื่นตามข้อ 2 นั้น ณ ปัจจุบัน จะมีอายุอานามเท่าไหร่ จะปรากฏ ธรรมชาติความเก่าหรือไม่

 

4. ในส่วนของครูบาชุ่ม หลังจากที่ได้ศึกษา วิชาการทำตะกรุดหนังฯ มาแล้ว ท่านยังไม่ได้ทำตะกรุด เพราะว่ายังไม่พบหนังลูกควายตายพรายตามตำรา จนมาเมื่อปี 248 กว่า และปี 2510 , 2518 , 2519 ท่านจึงได้สร้างตะกรุดหนังฯขึ้นมา เพราะได้หนังลูกควายตายพรายตามตำรามา ( ได้หนังฯมา 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ได้หนังมาประมาณ ฟุตกว่า ๆ เพราะเป็นหนังลูกควายที่ตายขณะอยู่ในท้องนะครับ ตัวไม่โตนะครับ บางคนเข้าใจว่าเอาทั้งแม่และลูกควาย ขอย้ำ เอาเฉพาะลูกควายที่อยู่ในท้องแม่นะครับ และในปี 2519 ได้หนังลูกควายตายพรายมีลักษณะ 8 ขา 4 เขาและเป็นควายเผือกมาสร้างได้แค่40กว่าดอก ) 
*****รวมตะกรุดทั้งหมดที่สร้างในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตไม่เกิน 400 ดอก 
แต่บางคนชอบบอกว่าครูบาชุ่มท่านมนต์ให้ (ปลุกเสก แม้ว่าท่านไม่ได้สร้างแต่ไปขอท่านปลุกเสก ก็ตียัดเป็นของท่าน แต่ผมอยากถามย้อนไปว่า พระสมเด็จวัดระฆังมีการสร้างหลายสิบพิมพ์ แต่ทำไมวงการพระเขานับ เล่นหากันแค่5พิมพ์ ทั้งที่สมเด็จพุฒาจารย์(โต)น่าจะปลุกเสกพระพิมพ์อื่นๆ เนื้อดินต่างๆ ลองคิดกันดูอย่างมีเหตุผล อย่าคิดเข้าข้างตัวเอง

 

***ในส่วนนี้ผมได้ข้อมูลจากพ่ออุ้ยปั๋น และบันทึกของอาจารย์หมอ สมสุข คงอุไร ที่ได้สอบถามจากครูบาชุ่ม ด้วยตัวเอง***

 

 

5. เพื่อให้ลักษณะของตะกรุด แตกต่างกับของ ครูบาอาจารย์ท่านอื่น ครูบาชุ่ม จึงได้ สร้างตะกรุดให้เป็นเอกลักษณ์ คือ ทรงหนามเลียบ หัวท้ายตัด(ไม่แหลม) ปิดทอง และ ทาทอง ( การปิดทองทำในยุคต้น ส่วนการทาทองทำในตระกรุดยุค 2518 ,2519 เพราะมีสีทองจากการบูรณะวิหารอยู่ ส่วนจะเอาไปแจกใคร จะตั้งชื่อรุ่นว่าอะไร เป็นเรื่องของคนยุคหลังที่กล่าวอ้างกันเอง ไม่เกี่ยวกับท่านครูบานะครับ) และลักษณะรูปทรงของตะกรุดจะเป็นเอกลักษณ์ วิธีการสร้างตะกรุดก็คือ.

1.เมื่อได้หนังลูกควายตามตำราแล้วต้องมีการพลีเพื่อขอศพลูกควาย จากศพแม่ก่อน( ตำราต้นฉบับกล่าวไว้)แล้วนำหนัง มาฟอกล้างให้สะอาดแล้วนำมาผึ่งให้แห้ง

2.นำหนังมาวัดกะจำนวนปริมาณของดอกตะกรุดว่าจะได้สักกี่ดอก แล้วตัดหนัง เมื่อตัดแล้ว ลงอักขระที่หนังแต่ละดอกว่า “ พุทธังอัด ธัมมังอัด สังฆังอัด อุดธังอัดโธอัด ฆะขาขา... ... ..พะ...จะจะ กะพะ..กะ..”

พุทธังอัด ธัมมังอัด สังฆังอัด อุดธังอัดโธอัด( มหาอุตย์ หยุดปืน ปืนแตก )

ฆะขาขา... .... (ข่าม เหนียว กันงูเงี้ยว เขี้ยวขอ กันเขา กันปืน กันมีด)

...พะ...จะจะ ( หัวใจข่าม คงกระพัน สารพัดกัน )

กะพะ...กะ... (หัวใจ ฟ้าฟี๊ก คลาดแคล้ว ปลอดภัย กันสิ่งไม่ดี)

3. นำทองแดงมาเป็นแกนกลางเพื่อจะได้พันหนังได้ง่ายไม่เสียรูปทรง เสร็จแล้วนำ เชือก เส้นในสายไฟ หรืออะไรก็ได้ ที่แทนเชือกได้มาพันให้แน่นกับทองแดง

4.นำครั่งมาพอกไว้เพื่อทำเป็นรูปทรงเดียวกัน(แบบหนำเลี๊ยบ)แล้วนำเชือกสีแดงหรือเหลืองมาร้อยไว้

******โปรดสังเกตตามหลักฐานภาพถ่าย ว่าตะกรุดตามภาพที่นำมาลง ลักษณะตะกรุดจะเป็นแบบเดียวกัน และที่สำคัญ จะไม่มีลูกคั่น หรือตะกรุดอื่นคั่นแต่อย่างใด*****

 

6. ตะกรุดอื่นที่ท่านสร้างคือ ตะกรุดปรอท, ตะกรุดเสื้อยันต์แบบ 12 ดอก , ตะกรุดยันต์แหนบ ยันต์หนีบ, ตะกรุดเด็ก , ตะกรุดแม่ยิง 
********ส่วน ตะกรุด กาสะท้อน , ตะกรุดขาปิ่นโตพอกครั่ง, ตะกรุดลูกอมพอกครั่ง , ตะกรุดไม้ไผ่ต่าง ตะกรุดยันต์เก้ากุ่มขาปินโต วัวธนูพอกครั่ง ตะกรุดรูปหมู ตะกรุดพอกครั่งหลายๆลูกในเส้นเดียว หรือตะกรุดอื่นๆ ท่านไม่ได้สร้างนะครับ ขอย้ำตามบันทึกที่อาจารยหมอสมสุข สอบถาม ท่านว่าไม่ได้สร้างนะครับ(ผมถามคนยุคนั้นที่ทันครูบาชุ่ม ว่าตะกรุดรูปหมูท่านได้สร้างไหม คนเหล่านั้นก็หัวเราะว่า ไม่เคยเห็น แต่เซียนภาคเหนือเขาตียัดสำนักกัน ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้เรื่องตะกรุดหมู อย่ามาด่าผมนะครับ ลองไปถาม ท่าน วิรุฬ เตชะไพบูลย์เองนะครับ อดีตผู้ช่วย ร.ม.ต.กระทรงการคลัง เพราะบุคคลท่านนี้เคยมาเป็นศิษย์ครูบาชุ่ม และนำเอาแผ่นทองคำมาให้ท่านจารเป็นยันต์หนีบ และครูบาชุ่มก็ได้สร้างตะกรุดให้กับท่านผู้นี้โดยตรง รับมากับมือครูบาชุ่มกันเลยทีเดียว)

 

*****ข้อสังเกต 1.ในปัจจุบัน นักค้าขายพระเครื่องที่ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง หรือมีเจตนาแอบแฝง พอพบเจอ ตะกรุดอะไรก็ตาม เพียงแต่มีลักษณะพอกครั่งเก่าๆก็ตีเป็นของครูบาชุ่ม ( เหตุผลว่าไม่ใช่มีครั่งที่บ้านวังมุยที่เดียว ที่อื่นๆเขาก็มี ) เพื่อเหตุผลด้านราคา ทั้งๆที่ตะกรุดดอกนั้นอาจเป็นตะกรุดของครูบาอาจารย์ผู้มีวิทยาคมท่านอื่นในยุคเก่า ได้สร้างไว้ก็เป็นได้ และขอให้ข้อสังเกตเพิ่มว่าตะกรุดทั้งหลายที่กล่าวอ้างว่าเป็นของครูบาชุ่มนั้น หากลองเอาของหลายๆเจ้าที่ได้กล่าวอ้างว่าเป็นของครูบาชุ่ม มาวางเรียงกัน จะพบว่ามีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างกันมากทีเดียว

ลองนึกเทียบกับเครื่องรางของขลังที่ส่วนกลางเขายอมรับ เช่น ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม เบี้ยแก้หลวงปู่รอด หรือเครื่องรางอื่นที่เป็นที่นิยมของวงการ ทำไมเขาถึงยึดลักษณะการถัก รวมถึงรูปพรรณสัณฐานที่เหมือนกันละครับ

2. ในกรณีตะกรุดพอกครั่งเก่าๆ ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะเป็นของครูบาอาจารย์ตาม ข้อ2. ที่ได้เรียนวิชาทำตะกรุดมาก่อน ,มาพร้อม,หรือภายหลังท่านครูบาชุ่ม ดังนั้นจึงน่าจะมีพุทธคุณตามตำราที่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้เพราะเป็นการสร้างด้วยเจตนาบริสุทธิ์ของพระอริยสงฆ์

3.ในกรณีตะกรุดปรอท ผู้เขียนให้ให้ข้อมูลไปในกระทู้..โชว์พระเกจิลานนา.กระทู้ที่.20699...และในครั้งนี้ได้ลงภาพถ่ายในขณะครูบาชุ่มคล้องตะกรุดปรอทให้แก่ลูกศิษย์มาด้วย แบบนี้หรือเปล่าที่เซียนเรียกว่า รับมากับมือ และโปรดสังเกตุลักษณะของตะกรุดปรอทให้ดีนะครับท่านจะเห็นความจริง

 

 

7. ถามว่ามีเกจิอาจารย์ท่านอื่น หรือแม้แต่ลุงปั๋น ซึ่งเป็นหลานครูบาชุ่มได้สร้างตะกรุดในลักษณะคล้าย ของครูบาชุ่ม ( คือมีลักษณะสัณฐาน และการลงทองปิดทอง) หรือไม่ ตอบว่ามี แล้วถามว่าจะดูยังไง ก็ตอบว่า ขอให้ท่านได้เห็นตะกรุดหนังฯครูบาชุ่มเพื่อเป็นดอกครู ไวๆ แล้วพิจารณาตะกรุดที่พบเจอหรือจะเช่าด้วยปัญญา ซึ่งก็ขอให้ความโชคดีจงมีแด่ท่าน

 

8. ผมไม่มีตะกรุดหนังฯ หรอกนะครับ ไม่ต้องโทรมาถามบูชา

 

9. ผมไม่ใช่เซียนเครื่องราง หรือรู้จักเซียนขายเครื่องรางใดๆ เป็นการส่วนตัว และผมก็ตระหนักดีครับว่า การลงข้อมูลในครั้งนี้ ไม่มีได้ หรือ เสมอตัวหรอกครับ มีแต่เจ็บตัวและโดนคนด่าและสาบแช่งจากคนที่เก็บกักตุนตะกรุดเก่าๆ ตะกรุดพอกครั่งเก่าเพื่อจะตียัดเข้าของครูบาชุ่มเพื่อขายได้ราคา แต่ที่ผมต้องลงข้อมูล ก็เพราะเคารพศรัทธาในครูบาชุ่ม วันนี้หรือวันไหนที่ผมได้ระลึกถึงท่านครูบา หรือแม้ขณะมองภาพถ่ายของครูบา ผมก็ภูมิใจครับว่า ยังได้ทำอะไรเพื่อถวายท่านบ้าง

 

10.ผมนำประวัติเครื่องรางครูบาชุ่มมาลงให้ทราบ ก็เพราะแหล่งข้อมูลที่ได้มา มีพยานหลักฐานเป็นที่น่าเชื่อถือได้ เช่น

**ข้อมูลจากบันทึกอาจารย์หมอสมสุข คงอุไร ซึ่งได้บันทึกเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลของครูบาชุ่ม ซึ่งได้สอบถามจากครูบาชุ่มด้วยตัวท่านเอง ครั้งเมื่อครูบาชุ่มได้มาพักที่บ้านอาจารย์ หมอ ฯ ที่บ้านสะพานเหลือง (ปรากฏหลักฐานตามภาพถ่ายครูบาชุ่มที่ได้ลงไว้ด้านล่าง) อย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นข้อมูลชั้นต้นได้หรือไม่ หรือการที่ได้สอบถามจากครูบาชุ่มด้วยตัวเองแล้วมีบันทึกไว้นี้ เป็นแค่พยานบอกเล่าต่อๆกันมา อันทำให้ขาดน้ำหนักแห่งพยานหลักฐานไป

ที่อาจารย์หมอ ฯได้บันทึกไว้นี้ ก็เป็นบันทึกอย่างเดียวกันกับ ที่ท่านได้บันทึกถึงการที่หลวงปู่พรหม วัดช่องแค อนุญาตให้ท่านสร้างวัตถุมงคลชุดทองระฆังของหลวงปู่ รวมถึงชุดเนื้อผงต่างๆ ตั้งแต่ปี 2514 ทั้งชนิด จำนวน และการสร้าง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้นิยมพระทั่วทั้งประเทศ

**.หลักฐานตามภาพถ่ายที่ปรากฎ ท่านย่อมเห็นว่าเป็นรูปถ่ายที่แท้จริง มิได้เป็นการตัดต่อ และขอเรียนว่าภาพทุกภาพ เพิ่งออกสู่สายตาประชาชน ใน เวปพระลานนาแห่งนี้เป็นที่แรก ในบางภาพท่านจะสามารถเห็นได้ถึงลักษณะของวัตถุมงคลครูครูบาชุ่มได้อย่างชัดเจน เรียกว่า เห็นอยู่ในมือครูบาท่าน จะๆ

**นอกจากนี้ ในสายท่านเจ้ากรมเสริม ซอย สายลม ซึ่งเป็นศิษย์สายท่าซุง ก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลของครูบาชุ่ม ถูกต้องตรงกัน ตามที่ได้มาลงให้ท่านทราบนี้ ( เมื่อครูบาชุ่มท่านลงมา กทม. ท่านจะพักอยู่สองที่ คือบ้านสะพานเหลือง ของอาจารย์หมอสมสุข ฯ และบ้านเจ้ากรมเสริม ฯ นี่แหละครับ)

และที่สำคัญ ทุกๆท่านที่ให้ข้อมูล ต่างยินดี และอนุโมทนาที่ได้นำข้อมูลนี้มาลง ข้อมูลที่ถูกต้องอันเป็นการรักษาเกียรติของท่านครูบาชุ่ม อีกทางหนึ่ง

เหนือสิ่งอื่นใดผมทราบดีว่าการลงครั้งนี้ไม่อาจทำให้ท่านกลับมาเชื่อในวันเดียวได้ เพราะในวงการเครื่องรางลานนา เขาเล่นแบบนี้ และเชื่อแบบนี้มานานมาก

 

11. ในส่วนของท่านผู้อ่านไม่มีใครไปบังคับท่านได้หรอกครับว่าจะให้เชื่อในทางไหน ทุกท่านย่อมมีวิจารณญาณของตัวเอง เงินเป็นของท่านเองจะใช้จ่ายไปทางไหนก็แล้วแต่ท่าน จะเช่าหา ก็เพราะ คำขึ้นต้นว่า กาลครั้งหนึ่ง.....(นิทาน) ก็ตามแต่ท่าน หรือชอบที่จะเล่นเอาเฉพาะความเก่า แล้วเป็นขุนหลวงหาวัด หรือจะเอาแบบประเภทที่เซียนเขาบอกว่า “แบบนี้ขายได้ แต่เอาใช้ไม่ได้” ก็ตามแต่ท่าน

 

 

ท้ายนี้ขอบารมีครูบาชุ่ม จงปกปักรักษาท่าน ให้พ้นจากบ่วงมารทั้งปวง หากแม้มีจิตศรัทธา ในตะกรุด ของท่านครูบา ขอท่านได้สมปรารถนาโดยเร็ว

***ปล. ท่านลองไปสังเกตุเวปพระ www.thaprachan.com (ท่าพระจันทร์ ดอทคอม ว่าเขาเล่น และเช่า บูชา ซื้อขายตะกรุดของครูบาชุ่มว่าเป็นยังไงลักษณะแบบไหนถึงจะเป็นที่ยอมรับของส่วนกลาง ว่าทันท่านทำจริงๆ )

****ลองสักเกตุว่า ที่หายากๆ ทำไมมีขายกันและร้านเดิมๆด้วยว่าหายาก ท่านจะเชื่อนิทานที่เขาแต่งขึ้นเพื่อที่จได้ขาย หรือจะด้วยหลังฐานที่ผมนำมาลงให้ความรู้กันและถ้าคนได้ของเก๊ไป แล้วเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เขาจะมาว่าของครูบาชุ่มไม่ดี จะเป็นบาปกับคนๆนั้นเปล่าๆ(ทำไมไม่โทษคนขายแต่แรก)

**** ขอบอกนะครับว่า ของเก๊ จะเชื่อว่าเป็นของจริงยังไง ถึงรักและเชื่อสุดใจแค่ไหน จะรอให้เกิดปาฎิหารย์ แบบไหน ก็คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะ ไม่มีพุทธคุณแต่ต้น ผมขอความโชคดีจงมีแด่ท่านผู้ที่มีปัญญา ครับ***

 

*****ย้ำอีกครั้งครับ อย่าเพิ่งเชื่อผม ให้ลองคิดวิเคราะห์กันเอง ผมทำได้แค่เอาข้อมูลมาให้อ่านครับ ใครเชื่อหรือไม่ก็ตามใจ คิดว่าอ่านเอาสนุกก็แล้วกันครับ*****

ธันชนก

 

 

**********************************************************************

ชมรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่กระทู้  http://www.pralanna.com/boardpage.php?topicid=52012

 

ราคา :
 -
ร้าน :
โทรศัพท์ :
 0965956322, 0965956322
วันที่ :
 15/03/12 13:32:04
 
 
ข้อมูลเกี่ยวกับ ตะกรุดครูบาชุ่ม พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.