ออกพรรษาที่หนองอินเล
วันขึ้น15ค่ำเดือนตุลาคม
เทศกาลออกพรรษาที่หนองอินเลเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง
จากพิธีแห่พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ห้าองค์โดยทางเรือจากวัดผ่องต่ออูไปรอบๆหนองอินเล**ไปตามชุมชนหมู่บ้านของชาว“อินทา”
ชาวอินทาถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญมากๆ
ชายชาวอินทาทุกคนในช่วงชีวิตหนึ่งขอให้ได้ร่วมพายเรือในขบวนแห่นี้
ถ้าได้ครบสามครั้งจะถือว่าเป็นมงคลแก่ตัวเองอย่างที่สุด
หลายหมู่บ้านรอบๆเมืองชื่อ “ยวา มา”ทางฟากตะวันตกของหนองอินเล มีฝีมือในการทำเครื่องเขิน
ของใช้ประจำครัวเรือนและภาชนะสำหรับพิธีการทางศาสนา งานเครื่องเขินจากที่นี่มีเสน่ห์จากประโยชน์ใช้สอย รอบๆหนองอินเลไม่มีไม้ใหญ่ยืนต้น
ชาวอินทาได้พัฒนาฝีมือการจักสานให้สามารถรองรับความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
พานโตกสองใบนี้โครงสร้างเป็นตอกไม้ไผ่เส้นเล็กๆ สอดและสานล้วงรัดจนมีความหนาคงตัว
แล้วเคลือบชุบด้วยรักชั้นแล้วชั้นเล่าจนรักแทรกซึมไปทั่วให้ตอกเส้นเล็กๆเหล่านั้นทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
แข็งแรงทนทานไปกว่าชั่วอายุคน ทับผิวนอกสุดด้วยชาดชั้นดีเพื่อรักษาสภาพให้ทนทาน
*** ชาวอินทาจะถักทอผ้าฝ้ายขาวสะอาดปูลาดบนพานโตกนี้ ก่อนจะจัดวางถ้วยเงินสำหรับใส่ของถวายพระ เช่น ปลาทอด กระเทียมคั่ว หนังปอง(หนังควายตากแห้งทอด) ตบแต่งด้วยดอกไม้สวยงาม
แล้วผู้หญิงจะเทินพานโตกนี้ไปถวายแด่พระสงฆ์ที่วัด***
ภาชนะสำหรับถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ทางพม่าภาคกลางจะใช้อูปยอด “ซุน อ๊อก” มีฝาปิด ของล้านนาใช้“ขันโตก” ส่วนสองใบของชาวอินทานี้เรียกว่า “กาลัต”
พานโตกจากอินเลมีอัตลักษณ์ชัดเจน
เคยไปชายแดนครั้งหนึ่ง พ่อค้าชาวเมียวดีรู้ว่าเราสนใจเครื่องเขิน วิ่งมาเรียก
บอกว่า “พี่ใหญ่ๆ แลคเกอร์อินเลมาๆ” ปรากฏว่ามีกาลัตสวยๆแบบนี้หลายใบ อูปยอดสานด้วยไม้ไผ่ทรงสวยๆอีก2-3ใบ เลยกวาดมาเรียบ
กาลัตสองใบนี้ไม่ใช่ของหายากหรือพิเศษอะไร แต่ที่น่าสนใจคือ “เรื่องราว และร่องรอย” ผ่านไปแล้วสักกี่พรรษากันหนอ?
** หนองอินเลอยู่ตอนใต้ของรัฐฉาน ตะวันตกเฉียงใต้ของเมืงตองจี อยู่เส้นรุ้งเหนือขึ้นไปกว่าเชียงใหม่ ระดับภูมิประเทศก็สูงกว่า
พอๆกับเชียงราย(ทิศตะวันตกของเชียงราย)
*** ข้อมูลจาก Visions from the Golden Land
Burma and the art of lacquer
โดย Ralph Isaccs and T.
Richard Blurton
British Museum Press
|