กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2543 หรือ10ปีที่แล้ว
ผมมีโอกาสร่วมคณะทัวร์ วีไอพี ไปเที่ยวพม่า โดยความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
หลังจาก 3คืน 4วัน
ท่านได้ชวนผมเดินทางต่อไปทะเลสาบอินเลเพิ่มเติมจากกำหนดการของคณะใหญ่อีก หนึ่งวันหนึ่งคืน
การเดินทางส่วนนี้ประทับใจมากเป็นพิเศษ
เพราะวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวอินเลดูคุ้นเคย ผู้คนก็ดูคล้ายๆกับชาวล้านนา หนองอินเลอยู่บริเวณเส้นรุ้งสูงขึ้นไปจากเชียงใหม่เชียงรายไม่มาก
แต่ความสูงจากระดับน้ำทะเลนั้นสูงกว่ามาก ประมาณ 600เมตร ในขณะที่เชียงใหม่
300เมตรเศษ อากาศจึงเย็นกว่า กลางเดือนกุมภาพันธ์ตอนเช้าตรู่นั่งเรือออกจากโรงแรมหนาวจัดจนน้ำหูน้ำตาไหลพรากๆ
เป็นหวัดได้ทันทีเพราะเราไม่ชินกับสภาพอากาศ
ชาว “อินทา”อาศัยอยู่รอบๆทะเลสาบเป็นกลุ่มๆนับหลายสิบหมู่บ้าน มีวัดที่สวยงามน่าไปกราบสักการะมากมาย
มีวัดแมวกระโดด คือพระที่นั่นสอนแมวกระโดดลอดห่วงเล่นกายกรรมได้ทุกตัว
พระไม้แกะสลักที่วัดนี้สวยงามน่าประทับใจมาก อีกวัดหนึ่งคือวัดผ่องต่ออู
ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 5 องค์ของชาวอินทา
พระพุทธรูปทั้งห้าองค์นี้เดิมขนาดหน้าตักประมาณสัก 10นิ้ว ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านพากันปิดทองจนไม่เห็นผิวและรูปทรงเดิม
ดูคล้ายเจดีย์กลมๆแต่ยังพอกำหนดรูปเป็นองค์พระได้
คงจะเคยเห็นพระชุดห้าองค์เล็กๆที่จำลองจากองค์จริงมาไว้บูชากันแพร่หลาย
ต้นแบบมาจากวัดนี้แหละครับ หลังออกพรรษาจะมีพิธีแห่พระทั้งห้าองค์นี้ไปตามวัดในหมู่บ้านรอบทะเลสาบให้คนได้สักการะปิดทองโดยทั่วถึง
เคยมีอยู่ปีหนึ่งรัฐบาลพม่าห้ามการแห่สมโภชน์ ชาวอินทาขวัญเสียกันมาก
และปีนั้นเขายืนยันว่าเป็นปีที่ทุกข์ยากสาหัสเกิดเหตุร้ายต่างๆมากมาย ผู้ชายลูกทะเลสาบอินเลทุกคนในชีวิตขอให้ได้มีโอกาสเป็นฝีพายในขบวนแห่นี้
หากได้ครบสามครั้งจะเป็นมังคละแก่ชีวิตอย่างยิ่ง ชาวอินทาพายเรือโดยใช้เท้าครับ คล่องแคล่วเหมือนเราเดินนี่เลย (ในขบวนเรือการเวกอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เช่นกัน)
ที่หนองอินเลนี้มีงานทอผ้าไหมคุณภาพดี
ลายคลื่นน้ำแต่ไม่เหมือนของอมระปุระที่เรียกว่า “ลุนตะยา อฉิก” โทนของสีก็ต่างกัน
มีการทอที่ลายจำเพาะอย่างหนึ่งเรียกว่า “ซินเหม่”เขาบอกว่าหมายถึง “เชียงใหม่” คือได้รับรูปแบบลายมาจากเชียงใหม่ของเรานั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าใยบัวที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออีกด้วย
สิ่งที่อยากจะเล่าในที่นี้ก็คืองานเครื่องเขินครับ
รีสอร์ทกลางน้ำที่พักมีร้านขายของแอนติก
เกือบทั้งหมดเป็นงานนเครื่องเขิน ดำ-แดง มองไปเต็มฝาเต็มตู้ไปหมดสวยๆทั้งนั้น
ลวดลายแปลกไปด้วยศิลปะจินตนาการของช่างที่ทำ คนชอบเครื่องเขินรับรองยืน “เค่อ” งงงวย รูปแบบอาจคุ้นๆตาบ้าง ทั้งลักษณะใช้งาน ลีลาของลาย
ตลอดจนการเล่นสีพวกหรดานเสริมเข้าไป แต่มีความหลากหลายกว่าทุกด้าน มีการแต้มทองแทรกเข้าไปในงานค่อนข้างมาก
ซึ่งงานลักษณะเดียวกันที่พบบ้านเราจะไม่มี ทำให้แต่ละชิ้นสวยงามอวดได้ไม่แพ้กัน แต่เรื่องราคาจับแทบไม่ลง ขายเป็นยูเอสดอลลาร์อย่างเดียว
แทบทุกชิ้น200-400-1000 ยูเอสฯ ตอนนั้น 42บาทต่อดอลลาร์ ทนคุยกับ “อู”ตากลมหนาวจนเที่ยงคืน
แกคงเห็นว่าเรามีใจรักเครื่องเขินจริงๆ
ประกอบกับเล่าเรื่องราวทางบ้านเราให้แกฟังบ้าง
จึงแบ่งแอ็บหมากเขื่องใบหนึ่งกับสองสามใบเล็กๆให้ในราคาพอกัดฟันจ่าย เสียดายขายไปหมดแล้ว
ในตอนกลางวันนั่งเรือไปกราบสักการะวัดที่มีชื่อเสียง
แวะตามโรงงานทอผ้า-ไหม ตลาด และแวะบ้านคนค้าเครื่องเขินอีกเจ้าหนึ่ง แกชื่อ “โก จี ลวิน” เป็นผู้ใหญ่บ้าน ตัวสูงใหญ่
อายุตอนนั้นราว 30กว่าๆ เห็นว่าเป็นอดีตนักกีฬาทีมชาติด้วย แปลกไหมที่ หนองอินเล
แทบไม่มีพื้นดินที่ราบ คนใช้ชีวิตอยู่กลางน้ำกันเป็นส่วนมาก
แต่มีนักกีฬาทีมชาติหลายคน หลายประเภทกีฬา แกมีเครื่องเขินดีๆมากพอใช้
รสนิยมในการคัดเลือกของถูกใจเรา ซื้อได้แอ็บหมาก และอูบยอดสาน แบบอินเลลงชาดแดงไม่ขูดลายใบใหญ่ และชอบอูบคำเจ้าฟ้า ลายทองทั้งใบ ทรงป้านเตี้ย
สภาพกริ๊บ ราคาอยู่ประมาณ 1200เหรียญ ประมาณห้าหมื่นบาท
ตีเป็นค่าเงินวันนี้น่าจะเกือบแสน คิดอยู่ว่าน่าจะเอามาขายทำกำไรได้ ถ้าขายไม่ได้เราก็ชอบเก็บไว้เองได้
แต่มาถอดใจเพราะไกด์บอกว่า เครื่องบินในพม่าห้ามหิ้วของขึ้นเครื่อง
สัมภาระต้องโหลดอย่างเดียว เราจะต้องเดินทางอีกสองต่อกว่าจะถึงย่างกุ้ง เสียดายเงินไม่ว่า
แต่ถ้าของชั้นเยี่ยมต้องมาพังไปกับตาทำใจไม่ได้ สุดท้ายก็ซื้อชิ้นเล็กๆเพิ่มแทน โก
จี ลวิน ดูคล้ายไม่สนใจจะขายของเท่าไร คงเห็นว่าเราคงซื้อไม่เยอะเหมือนญี่ปุ่น ฝรั่ง
แกชวนคุยเรื่องอื่นๆเสียมาก ตอนหนึ่งแกบอกว่าจะเอาชิ้น “เดอะเกร๊ท” มาให้ชม รอเดี๋ยว
แกผลุบหายขึ้นไปชั้นบน กลับลงมาด้วยห่อผ้าหนาๆขาวสะอาด เมื่อเปิดออกมา ผิดคาดครับ
ไม่ได้เป็นชิ้นที่มีลวดลายวิจิตรตระการอย่างใดเลย เป็นแอ็บหมากสีดำขนาดเขื่องๆ ด้านในลงชาดแดง
แอ็บมีความบางกว่าแอ็บอินเลดำแดงที่เห็นบนรีสอร์ท ยอมรับว่างานขัดผิวละเอียดเนียนมือจริงๆ
แสงในบ้านแกสลัวๆจึงเห็นสีแดงในแอ็บสว่างโพลงสวยมาก แกเห็นเรางงๆจึงอธิบายว่าแอ็บใบนี้เป็นของปู่หรือทวดนี่แหละ
ตกทอดมาหลายชั่วคนแล้ว นี่คืองานโบราณชั้นเยี่ยมที่สุด ดีกว่าพวกลายวิจิตรยุคหลัง
ประมาณว่าถ้าจะเล่นเครื่องเขินต้องมองให้ออกลึกซึ้งว่าสุดยอดคืออย่างไร
พอจะเข้าใจในความหมายของเขาแล้วว่างานเขินขั้นสุดยอด(ในความหมายของพ่อค้าเครื่องเขิน) คือความประณีตในขบวนการผลิต มีความแข็งแรงทนทาน มีความบางเบาเนียนมือสัมผัส
และคงมีส่วนของเรื่องราวความผูกพันเฉพาะของงานชิ้นนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อกลับมาถึงเชียงใหม่แล้วก็พบว่า
ของเรามีงานที่คล้ายกันอย่างนี้อยู่พอสมควร
ส่วนมากที่เจอจะเก่ากว่างานที่นิยมสะสมกันแบบมีลาย สังเกตรอยสึกจากการใช้งานจะมีร่องรอยที่ชัดเจนมากกว่า
ยืนยันอายุได้ดี มีความบางของโครงสร้าง ส่วนที่สึกจะเห็นการทำงานของโครงไม้ไผ่และยางรักที่แทรกยึดอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน
รอยสึกจะสึกผ่านผิวชาดผ่านชั้นยางรักลงไปหาโครงไม้ไผ่
โดยไม่มีการแยกชั้นออกจากกันเลย
นอกจากนี้พบว่างานพวกนี้มีความแข็งแรงแม้มีรอยแตกผิวจากการหดตัวก็จะไม่มาก
ไม่แตกล่อนเป็นชิ้นๆ บางใบมีรอยมีดหั่นหรือสับ ก็ไม่แตกลามไป
ที่พบส่วนใหญ่ด้านนอกลงรักดำขัดเรียบ หรือลงชาดที่ผสมเป็นสีน้ำตาล
ส่วนด้านในลงชาดแดงเพื่อให้สังเกตใช้งานง่ายในที่แสงน้อย
สองใบที่เอามาโชว์นี้เก็บไว้นานมากแล้ว
ใบใหญ่ฝาเปิดที่ขอบบน ออกสีช็อกโกแล็ต ใบเล็กออกสีโกโก้ใส่นมฝาเป็นแบบสวมตลอด
มีรูปแสดงสภาพเดิมให้ดูด้วยว่าเก่าแค่ไหน ใช้เวลาขัดร่วมเดือนก่อนจะเอามาถ่ายรูป
วันไหนมีใจก็คว้ามาขัดล้างเสียรอบหนึ่ง ยอมแพ้ก็วางทิ้งไว้อีก
ขยันก็เอาใหม่จนได้อย่างที่เห็น มีรอยรานจากการหดตัวนิดหน่อย
มีกะเทาะจากการหล่นกระแทกพื้นบ้าง รอยสึกที่ขอบด้านล่างของแอ็บลื่นเป็นมัน
ผมเชื่อว่ามีไม่น้อย
แต่เนื่องจากตลาดไม่สนใจก็ไม่มีคนซื้อมาขาย ลูกหลานก็ปล่อยทิ้งคิดว่าไม่มีราคา
น่าเสียดาย บางชิ้นออกแบบเป็นสามถอดก็มี แต่ได้มาไม่ครบเพราะไม่สนใจเก็บกันอย่างที่บอก เลยกลายเป็น
"สุดยอดที่ถูกลืม"
|