หลวงพ่อทอง วัดสำเภาเชย(ปัตตานี) วัดสำเภาเชย เป็นวัดตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี อาณาเขตติดต่อที่ดินที่มีการครอบครองทางสาธารณประโยชน์ รอบอาณาเขตบริเวณวัดทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดินสายปะนาเระ-ปาลัส วัดสำเภาเชยมีเนื้อที่ตั้งวัดทั้งสิ้น14 ไร่ 91 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 86 ตารางวา วัดสำเภาเชยมีพื้นที่ทั้งหมด 91 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้แห่งที่ว่าการอำเภอประนาเระห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 500 เมตรเศษ
เพราะเหตุใด หมู่บ้านแห่งนี้จึงเรียกว่า "สำเภา" เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีเรื่องเล่ากันว่า...เดิมแต่ก่อนในสมัยที่ทุ่งนา ตำบลทุ่งสำเภายังเป็นอ่าวทะเลอันกว้างใหญ่มีปาอ่าวอยูตรงที่หมู่บ้านกาโต ทางทิศตะตะวันตกแห่งตลาดปะนาเระในทุกวันนี้ สมัยก่อนเคยมีเรือสำเภาหลายลำจากประเทศจีนตอนใต้ ได้ไปมาค้าขายตามเมืองท่าต่างๆ แห่งประเทศไทยมีเมองปัตตานี เป็นต้น อยู่มาครั้งหนึ่ง มีเรือสำเภาลำหนึ่ง เมื่อได้ขายสินค้าไปหมดแล้ว กำหนดจะกลับเมืองจีน แต่เผอิญเวลานั้นเป็นฤดูมรสุมคลื่นลมจัด กลับไม่ได้จึงแวะเรือเข้ามาจอด พักอาศัยอยู่ในย่านนี้เป็นเวลาหลายเดือน บังเอิญในปีนั้นคลื่นลมได้นำทรายเข้ามาปิดปากอ่าวเสียจนหนาแน่น จะนำเรือออกไม่ได้ ติดอยู่ในอ่าว ครั้นนานมาเสบียงอาหารในเรือก็หมดลง เรื่องปากเรื่องท้องเป็นเรื่องสำคัญ จีนพวกนั้นให้จีนแก่คนหนึ่งเป็นผู้หญิงเป็นคนเฝ้าเรือ นอกจากนั้นได้พากันขึ้นบกแยกย้ายกันไปแสวงหาอาหาร ครั้นนานมาจีนบางคนไปได้กับหญิงชาวพื้นบ้านมาเป็นภรรยาแล้วทำมาหากินอยู่ในที่นั้นๆ ทำไร่ทำนาปลูกหมากปลูกมะพร้าวขาย ไม่คิดกลับเมืองจีน บ้านสวนหมากและบ้านนาพร้าวก็เล่าว่าได้มีชื่อปรากฎมาแต่ครั้งนั้น ส่วนหญิงจีนแก่คนเฝ้าเรือนั้นต่อมาได้มาปลูกกระท่อมอาศัยอยู่บนโคกสำเภาใกล้ที่จอดเรือ คนทั้งหลายเรียกว่า"ยายแก่" เพราะไม่รู้จักชื่อที่แท้จริง และต่อมาได้เรียกโคกนี้ว่า "โคกสำเภา"บ้าง โคกยายแก่บ้าง ส่วนเรือสำเภาลำนั้นก็ได้ถึงซึ่งที่สุดลง ณ ที่นั้นเอง มีหินสมอเรือ และเสาใบเรือปรากฎอยู่จนบัดนี้ เพราะเหตุนั้น..ภูมิประเทศแห่งนี้จึงเรียกกันมาว่า ทุ่งสำเภา เพราะเป็นทุ่งเรือสำเภาเข้ามาเกยตื้นดังกล่าวมาแล้ว ถัดเข้าไปเรียกว่า "นาทุ่ง" การที่เรียกว่า "ทุ่งสำเภา" นั้นเข้าใจว่า เมื่อกาลล่วงมานาน อ่าวทะเลแห่งนี้ ได้ตื้นเขินขึ้นกลายเป็นแผ่นดิน มีคนจับจองทำไร่นา และเป็นที่เลี้ยงสัตว์ จึงเรียกว่าว่า "ทุ่งสำเภา" แต่นาทุ่งคนยังเรียก "นาทุ่ง" อยู่ตามเดิม อนึ่งเล่ากันว่า...พวกจีนพ่อค้าเรือสำเภาในกาลครั้งนั้นได้เป็นบรรพบุรุษของคนไทยในหมู่บ้านทุ่งสำเภา และหมู่บ้านนาพร้าวในการต่อมา
ความเป็นมา วัดสำเภาเชย เดิมชื่อ " วัดทุ่งสำเภา " เป็นวัดที่สร้างใหม่เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๔๔ โดย หลวงสุรนารถปะนารักษ์นายอำเภอ พร้อมด้วย นายเซ่ง ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรหลายคน ได้พากันมาตรวจดูสถานที่โคกทุ่งสำเภาเพื่อสร้างวัด อันหมู่บ้านโคกทุ่งสำเภานี้ในเวลานั้น ยังเป็นป่าละเมาะอันกล้าง ตอนเหลือริมทุ่งนา มีคนปลูกบ้านเรือนอยู่แล้ว 2-3 ครัวเรือน แต่ตอนใต้ว่างเปล่าเป็นที่เลี้ยงสัตว์ นายอำเภอท่านกำหนดเอาในที่ตอนใต้เป็นที่สร้างวัด ได้ติดต่อขอซื้อจากเจ้าของ และได้ให้นายเซ่งนำราษฎรมาแผ้วถาง ขุดตอ โดย ข้าราชการ และพ่อค้าหลายคนรับสร้างกุฏิชั่วคราวถวายพระคนละหลัง รวม 6 หลัง แต่การสร้างในปีนั้นไม่สำเร็จ จึงต้องรอมาในปีรุ่งขึ้น ครั้น พ.ศ.๒๔๔๕ (ปีขาล จัตวาสก) สร้างเสร็จหลวงสุรนารถฯ นายอำเภอได้อาราธนา ท่านอธิการนุ้ย รองเจ้าอาวาสวัดท่ามะนาวมาเป็นเจ้าอาวาส พร้อมด้วยภิกษุ 5 รูป มาจำพรรษาในปีนั้น ครั้นต่อมาปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ใช้ชื่อว่า" วัดสำเภาเชย " โดยถือเอานามเดิมของ หลวงสุรนาถปะนารักษ์ (เชย โรจนะวิภาค) ซึ่งนำเอาชื่อ นายเชย มาสนธิเข้าเป็นพยางค์หลังเรียกว่า วัดสำเภาเชย พิพิธภัณฑ์สถานวัดสำเภาเชย ได้จัดตั้งเพื่อเป็นการวบรวมเครื่องใช้โบราณที่เก็บไว้อยู่กระจัดกระจาย และบอกบุญไปยังศิษยานุศิษย์นำมาบริจาค และเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖
ลำดับเจ้าอาวาสวัดสำเภาเชย นับแต่เริ่มสร้างมาจนทุกวันนี้มีพระมหาเถระซึ่งได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อเป็นลำดับกันมา
มีรายนาม ดังนี้ 1. พระอธิการนุ้ย เจ้าอาวาสรูปแรก ปกครองวัดมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๕ ถึง พ.ศ.๒๔๔๘ รวม ๔ ปี จึงมรณภาพ 2. พระอธิการทอง เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๔๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ รวม ๓ ปีเศษ ภายหลังได้ไปบวชแปลงเป็นธรรมยุติ แล้วกลับไปอยู่วัดหงษาราม 3. พระครูอ้น เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ ถึง พ.ศ.๒๔๕๓ รวม ๑ ปี 4. พระครูอรรถเวที เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ ถึง พ.ศ.๒๔๖๓ รวม ๑๐ ปี จึงมรณภาพ 5. พระครูวิธานวัตต์ เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง พ.ศ.๒๔๘๔ รวม ๒๒ ปี จึงมรณภาพ 6. พระอธิการตีบ ติสสฺโร เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ ถึง พ.ศ.๒๔๘๗ รวม ๓ ปี ย้ายไปวัดมหิงษารามแล้วมรณภาพ 7.พระศีลมงคล (หลวงพ่ออินทอง สีลสุวณฺโณ) เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๘๗ ถึงปัจจุบัน
ประวัติพระศีลมงคล พระศีลมงคล ฉายา สีลสุววณฺโณ อายุ ๘๖ ปี(พ.ศ.๒๕๔๗) พรรษา ๗๐ นักธรรมชั้นเอกสำนักเรียน วัดสำเภาเชยอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เจ้าคณะอำเภอปะนาเระ และเจ้าอาวาสวัดสำเภาเชย สถานะเดิม ชื่อ ทอง หรือ อินทอง นามสกุล ศรีชาติ เกิดวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๑ ปีมะแม นักษัตร เอกศก บิดาชื่อ นายสีคง ศรีชาติ มารดาชื่อ นางแมะ ศรีชาติ บ้านเลขที่ 5 หมู่ 3 ตำบลดอน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี บรรพชา อุปสมบท วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ ได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดดอนตะวันออก ตำบลดอน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และลาสิกขาบทออกไปช่วยมารดาประกอบอาชีพทางบ้าน วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ ได้บรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ วัดดอนตะวันออก ตำบลดอน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี พระครูวิธานวัตต์ (คง) เจ้าคณะตำบลปะนาเระ และเจ้าอาวาสสำเภาเชยเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวุฒิชัยธรรมธาดาขณะนั้นรับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรเป็นพระกรรมวาจาจารย์พระครูพิพัฒน์สมณกิจเป็นพระอนุสาวนาจารย์
สมณศักดิ์ พ.ศ.๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นตรี ที่ พระครูพินิตนรัญญู พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นโท ที่ พระครูพินิตนรัญญู พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ที่ พระครูพินิตนรัญญู พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ที่ พระครูพินิตนรัญญู พ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศีลมงคล พระครูพินิตนรัญญู (หลวงพ่ออินทอง สีลสุวณฺโณ) วัดสำเภาเชยได้รับพัดยศพระราชา คณะชั้นสามัญ มีนามว่า " พระศีลมงคล " มีพิธีพระราชทานเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
แหนบกะหลั่ยทอง หลวงปู่ทวด มีตอกโค๊ด ตัว ท. เชิญประมูลได้ครับ |