ในปี พ.ศ. 2528 ที่วัดประสาท ซึ่งอยู่ห่างจากวัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) ประมาณ 300 เมตร ได้มีการขุดกรุพระที่ใต้ฐานชุกชีพระประธานโบสถ์เก่าสมัยหลวงพ่อเงิน และพบกับพระพุทธรูปโบราณ เทวรูปเก่าแก่ยุคสมัยต่างๆทั้งสภาพดี และชำรุดจำนวนหนึ่งฝังจมอยู่ในดิน มีคราบดินเกาะติดแน่น ส่วนผิวมีสนิมเขียวอยู่ทั่วไป สำหรับพระบูชา มีบางส่วนสันนิษฐานกันว่าเป็นพระแก้บนในสมัยหลวงพ่อเงิน และบางส่วนเป็นพระบูชาที่มีศิลปะรัตนโกสินทร์ยุคต้น และยุคกลางปะปนกัน นอกจากนี้ยังพบรูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยม พิมพ์ขี้ตา และเหรียญจอบใหญ่ จอบเล็กอีกด้วย แต่สภาพชำรุดทุกองค์ จึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดคงคาราม...
และในปีนี้เอง หลวงพ่อเชื้อ วัดคงคาราม ท่านได้ดำเนินการจัดสร้างพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินขึ้น จากเนื้อระฆังเก่า รวมถึงเศษพระพุทธรูปที่ชำรุดเสียหายไม่เป็นองค์ที่ขุดพบได้นั้น และชนวนพระรูปหล่อ “พิมพ์ขี้ตา” กับเหรียญหล่อจอบใหญ่ รุ่นแรก นำมาผสมประสานเนื้อสร้างใหม่ขึ้น หลอมหล่อเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเงินพิมพ์ต่างๆ และขณะขนย้ายโลหะทองสำริดอถรรพเวทกายสิทธิ์ พระพุทธรูปโบราณ เทวะรูปเก่าแก่ยุคสมัยต่างๆ และชนวนพระรูปหล่อ “พิมพ์ขี้ตา” จอบใหญ่ รุ่นแรก เข้าสู่เตาหล่อหลอมนั้น อัศจรรย์ยกไม่ขึ้น เคลื่อนย้ายไม่ได้ หนักอึ้งเหมือนถูกตอกหมุด...หลวงพ่อเชื้อ ท่านจึงจุดธูปบวงสรวงหลวงพ่อเงิน จึงสามารถยกเคลื่อนย้ายสู่เตาหลอมได้สำเร็จ อัศจรรย์ก็เกิดขึ้นอีก เมื่อทำการเผาด้วยไฟ ความร้อนสูงถึง 1,000 องศาแต่ก็ไม่หลอมละลาย หลวงพ่อเชื้อ ท่านจึงต้องจุดธูปบอกกล่าวหลวงพ่อเงินอีกครั้งหนึ่ง จึงสามารถเผาหลอมละลายได้สำเร็จ การจัดสร้างพระรุ่นนี้จะไม่มีเนื้อใหม่อื่นใดเจือปนอยู่เลย มีแต่เนื้อเก่าทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้พระทุกองค์จึงแลดูเก่ามีคราบเบ้า และคราบสนิมเขียวของพระบูชา และเทวรูปปรากฎเกาะติดแน่นทุกองค์...
พระอาจารย์เชื้อเผยสูตรลับ สูตรการสร้างพระชุดนี้ก็คือ ตำราเดียวกับที่พระอาจารย์แจ๊ะ อดีตพระลูกวัดบางคลานใต้ (ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดบางคลานเหนือ) สร้างพระให้หลวงพ่อเงินสร้างสมัยโน้น หลักสำคัญคือ...
1. วัสดุมวลสารที่นำมาสร้างต้องมีพุทธคุณ สรรพคุณ
2. พิธีกรรมต้องดี
3. รูปแบบคงเดิม
ในการสร้างพระในครั้งนั้น ทางวัดได้ประกอบพิธีกรรมปลุกเสกเมื่อเดือน พ.ย. 2528 ( ต่อมาเรียกกันว่า “รุ่นปืนแตก” )โดยพระคณาจารย์ในพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียงหลายสิบรูป อาทิเช่น... หลวงพ่อผล, หลวงพ่อเสงี่ยม, หลวงพ่อรวย, หลวงพ่อเปรื่อง, หลวงพ่อเฉลิม, หลวงพ่อเสน่ห์ และยังนำเข้าร่วมพิธีตามวัดต่างๆอีก เช่น ในงานของหลวงพ่อพิมพา วัดหนองตางู, วัดหลวงพ่อชินราช, วัดนางพญา พิษณุโลก ,วัดบางคลานเหนือพร้อมกับรุ่นฉัตรมงคล ฯลฯ
หลวงพ่อเงิน บางคลาน รุ่นปืนแตก เป็นพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินที่เทหล่อแบบมีก้านชนวนเหมือนพระกริ่ง หลังจากช่างตกแต่งหุ่นพิมพ์ และพอกดินเข้าเรียบร้อยแล้ว การเทเนื้อทองจะเทเข้าทางก้านชนวนที่ก้น หลังจากทุบเบ้าได้พระออกมา แล้วก็จะตัดก้านทิ้ง พระรุ่นนี้ทุกองค์จึงปรากฏร่องรอยของก้านชนวนเล็กบ้างใหญ่บ้าง และมีรอยตะไบแต่งที่ก้น ข้างองค์พระต้องไม่มีรอยตะไบ
พิมพ์พระอาจมี ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เนื่องจากเป็นพระหล่อ หลวงพ่อเงิน รุ่นปืนแตก เป็นรูปหลวงพ่อเงิน นั่งสมาธิ เส้นริ้วจีวรด้านซ้ายมือเรามี 4 เส้น สังฆาฏิพาดบ่าซ้ายปลายด้านล่างชนฝ่ามือซ้ายพอดี ลักษณะอาการนั่งมองแล้วแบบสบายๆ แต่ก็ดูเคร่งขรึม
จำนวนพิมพ์พระที่สร้างในรุ่นปืนแตก มีพิมพ์ต่างๆ คือ...
1. พิมพ์นิยมเศียรโต
2. พิมพ์นิยมเศียรเล็ก
3. พิมพ์ตอกเสาเข็ม (แจกคณะกรรมการที่มาช่วยงานตอกเสาเข็ม)
4. พิมพ์ขี้ตา
5. พิมพ์แจกแม่ครัว (หนักสองสลึง)
6. พิมพ์เลียนแบบรุ่นไตรมาส (แจกกรรมการ)
7. พิมพ์นิยมเล็ก พรุน
8. พิมพ์นิยม ตะไบข้าง
9. พิมพ์ขี้ตา ตะไบข้าง
10.พิมพ์นิยมสนิมดำใหญ่
11.พิมพ์นิยมสนิมดำเล็ก
|