เหรียญพระเจ้าตนหลวง หน้าพญานาค หลังเสมาธรรมจักร เนื้อฝาบาตร กะไหล่ทอง ปี ๒๕๑๒ เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นตามตำนานของ “พระเจ้าตนหลวง” โดยสร้างพร้อมกับ “เหรียญพระเจ้าตนหลวง” รุ่นครึ่งองค์ (แขนกุด) เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง เพื่อทำเป็นเหรียญสำหรับใช้ใส่บาตร ๑๐๘ ในงานบุญเดือน ๘ เป็ง ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของทางวัด เป็นงานที่ใหญ่มาก มีพุทธศาสนิกชนทั้งต่างจังหวัด และประเทศใกล้เคียง (ลาว-พม่า) มาร่วมงานบุญประจำปีด้วยอย่างคับคั่ง
การปลุกเสกวัตถุมงคลของทางวัดทุกครั้ง นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการนำ “เหรียญพญานาค” นี้ เข้าร่วมปลุกเสกด้วยเสมอ
การปลุกเสกวัตถุมงคลของทางวัด นับตามรุ่นที่ออกมาในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ และในปี ๒๕๑๔, ๒๕๑๗, ๒๕๒๐, ๒๕๒๑ และปี ๒๕๓๕ เป็นต้น
เมื่อมีการใช้เหรียญพญานาค ในงานการทำบุญใส่บาตร ๑๐๘ ทุกปี กล่าวคือ ใครทำบุญเท่าไรก็ได้ จะได้รับเหรียญพญานาคนี้ ๑ ขัน ซึ่งมีมากกว่า ๑๐๘ เหรียญ เพื่อนำไปใส่บาตรที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ ๑๐๘ บาตร และพระประจำวันเกิดของตนเอง ก็ใส่ตามกำลังวัน พอนานปีเข้าปริมาณเหรียญก็เริ่มทยอยลดน้อยลง และหมดไปในที่สุด โดยเหรียญที่หมดไปในช่วงท้ายๆ จะกลายเป็นเหรียญที่ได้รับการนำเข้าพิธีปลุกเสกที่ทางวัดจัดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด
ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นภาพพญานาค คะนองลำพองอยู่กลางหนองน้ำทุ่งเอี้ยง มีภาพภูเขาเป็นฉากหลัง ด้านหลังพญานาคมีเจดีย์และต้นไม้ ด้านบนมีอักขระพื้นเมือง ด้านล่างมีคำว่า “พระเจ้าตนหลวง”
ด้านหลังเหรียญ เป็นภาพเสมาธรรมจักร ตรงกลางธรรมจักร มียันต์เฑาะ ๑ ตัว ขอบเหรียญยกขึ้นเล็กน้อย ทั้งหน้าและหลัง
ขนาดเหรียญประมาณเหรียญ ๕ บาท รุ่นใหม่ มองโดยภาพรวมของเหรียญสวยงามมาก และได้สัดส่วน เมื่อเหรียญเป็นเหรียญที่ใช้ใส่บาตรมานาน และมีความเก่ากว่า ๔๐ ปี ไม่ใช่เหรียญที่ให้เช่าบูชาแก่สาธุชนทั่วไป ที่จะได้เช่าไปเก็บรักษาไว้บ้าง นำไปใช้แขวนบ้าง จึงมีสภาพที่ทำให้มองเห็นได้ในทันทีว่า เป็นเหรียญที่ผ่านการใช้งานมาอย่างมากมายสมบุกสมบัน แต่เหรียญนี้ก็ยังมีสภาพที่นับได้ว่าค่อนข้างสมบูรณ์ดี แม้บางเหรียญกะไหล่ทองแทบจะหมดสิ้น เหตุเพราะการทำเหรียญในสมัยก่อน ทำได้ดีมาก แกะพิมพ์คมชัดลึก กะไหล่ทองโบราณก็สวยงามคงทน จนเป็นปรากฏการณ์ที่นักสะสมนิยมพระเครื่องมักจะกล่าวว่า “ยิ่งส่องยิ่งมัน” ท่านผู้ใดใคร่อยากรู้ ต้องหามาส่องดู จึงจะเข้าใจในความรู้สึกนั้น
ด้านพระพุทธคุณ เหรียญพระเจ้าตนหลวง แทบทุกรุ่น โดยเฉพาะรุ่นปี ๒๕๑๒ ได้ประจักษ์แจ้งถึงพุทธคุณอันยอดเยี่ยม ทั้งแคล้วคลาด คงกระพัน และเมตตามหานิยม มีตำนานเล่าขานมากมาย
และเมื่อเหรียญพญานาคนี้ได้รับการปลุกเสกตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ และทุกครั้งที่มีพิธีพุทธาภิเษก โดยเฉพาะเป็นเหรียญที่มีเจตนามุ่งมั่นที่จะใช้สะเดาะเคราะห์ ด้วยการใส่บาตร ๑๐๘ จึงทำให้มีพุทธคุณโดดเด่นในทางขจัดทุกข์ ขจัดโศก ขจัดโรค ขจัดภัย สรรพเสนียดจัญไร วินาศสันตุ ประสบสุขสวัสดีมีโชคชัย เป็นนิรันดร์
ตำนานทุ่งเอี้ยง ตำนานการสร้างพระเจ้าตนหลวง กล่าวไว้ว่า เมื่อสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จถึงเมืองภูกามยาว พร้อมพระอานนท์ ประทับ ณ ดอยลูกหนึ่งตั้งอยู่ข้างหนองเอี้ยง ไปทางทิศเหนือ (ปัจจุบัน คือ บริเวณวัดจอมทอง) ในหมู่บ้านนั้นมีนายช่างทอง อาชีพทำทองรูปพรรณ ได้จัดอาหารบิณฑบาตถวายพระพุทธองค์ แต่มิได้ถวายน้ำฉัน พระพุทธองค์จึงให้พระอานนท์ถือบาตรไปตักน้ำที่หนองเอี้ยง ขณะนั้นมี “พญานาค” ตนหนึ่งอาศัยอยู่ในหนองนั้น เมื่อเห็นพระอานนท์ถือบาตรจะตักน้ำ พญานาคก็ไม่ให้ ได้พ่นควันขึ้นที่หงอน แผ่พังพานเป็นประดุจหมอกควัน ปกคลุมหนอง จนมองไม่เห็นน้ำ
พระอานนท์จึงไป กราบบังคมทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงเสด็จไปประทับยืนข้างหนองน้ำ พญานาคทำทีจะพ่นควันแผ่พังพอน แต่เห็นพระวรกายของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยฉัพพรรณรังสี จึงทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ได้แนะนำตัวและแสดงอภินิหารเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่เท่ากับพระพุทธเจ้ากะสุสันธะ
พญานาคเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใส และรับปากว่าจะสร้างพระพุทธรูปให้ใหญ่เท่าพระพุทธเจ้ากะสุสันธะในหนองนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี พญานาคระลึกถึงพระพุทธดำรัส จึงนำเอาทองคำจำนวนสี่แสนห้าร้อยจากนาคพิภพมาไว้ แล้วเนรมิตเพศเป็นบุรุษ นุ่งขาวห่มขาว ไปหาสองผัวเมีย ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้หนองเอี้ยง พร้อมกับแจ้งความประสงค์ที่จะนำทองคำมาสร้างพระพุทธรูปให้สองตายาย
เมื่อมอบทองคำให้แล้วก็กลับไปสู่นาคพิภพ สองผัวเมียได้นำทองคำมาถมสระหนองอยู่นานถึง ๒ ปี ๗ เดือนจึงเต็ม จากนั้นได้ลงมือปั้นอิฐก่อพระพุทธรูป “พระเจ้าตนหลวง” โดยเริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๔ สร้างนานเกือบ ๓๓ ปี จึงเสร็จเรียบร้อย เมื่อ พ.ศ.๒๐๖๗ ในสมัยพระเมืองตู้เจ้าเมืองพะเยา โดยได้พระราชทานนามว่า “พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา”
|