เราจะมา พูดถึงส่วนต่างๆของพระเลี่ยงพิมพ์นิยมว่าจะมีลักษณะเช่นใด
1. พระเลี่ยงเป็นพระที่ทรงสวมมงกุฏ ทรงเทริดขนนก ที่บ่งบอกถึงความเป็นพุทธมหายานไว้อย่างเต็มตัว เป็นพระเครื่องที่มีรายละเอียดโดยรวมที่ไม่เหมือนพระชนิดอื่นๆที่มีขนาดเดียวกันและเป็นพระกรุที่มีอายุยาวนับพันปี
2. มงกุฎที่สวมใส่ ของพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยมนี้ จะมีความแตกต่างของแต่ละพิมพ์ ซึ่งจะต้องสังเกตพระในแต่ละองค์ ก็จะเห็นความแตกต่างนั้นๆ ลักษณะของมงกุฎเป็นแบบมีกลีบ 3. กลีบแบบเดียวกับมงกุฎของพระสิบสอง ดูแปลกตาและสวยงามดี
3.วงหน้าขององค์พระจะยาวตรงส่วนคางจะแหลมนิดๆพองามสมลักษณะ ภาพโดยรวมเมื่อมีมงกุฎสวมอยู่ ก็ดูสง่าเหมาะสมกับความเป็นพระพิมพ์อันล้ำค่า
4. พระเลี่ยงมีดวงตาที่กลม โต นูนสูงออกมา ดวงตาเป็นตาเนื้อ แม้องค์พระจะมีขนาดเล็กแต่ก็ได้ให้รายละเอียดในทุกส่วนได้อย่างน่าทึ่งในฝีมือของเชิงช่างชั้นสูงได้เป็นอย่างยิ่ง
5 . หูทั้งสองข้างของพระเลี่ยงประดับด้วยกุณฑล คือต่างหู ที่ยาวห้อยย้อยลงมาพาดตรงบ่าอย่างแนบเนียนกลายเป็นส่วนหนึ่งของลายประดับได้อย่างน่านิยม ความละเอียดของฝีมือนั้นทำให้เราได้เห็นแม้กระทั่งร่องของกุณฑลเป็นร่องยาวอย่างน่ารัก
6.ส่วนที่เป็นหน้าอกของพระเลี่ยงซึ่งเป็นพระแบบทรงเครื่อง อย่างกษัตริย์นั้น มีกรองศอหรือสร้อยคอประดับอยู่อย่างเห็นได้ชัด ตรงไหล่ซ้ายและขวา จะมองเห็นส่วนปลายของต่างหูที่ห้อยลงมาพาดบ่าทั้งสอง เป็นส่วนประกอบให้ลวดลายบนหน้าอกดูเด่นยิ่งขึ้นมีความลงตัวในส่วนนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ
7. ลำองค์หรือลำตัว ของพระเลี่ยงนั้นงามได้สัดส่วนดี เรียกได้ว่าสมส่วนด้วยประการทั้งปวง ลักษณะเป็นรูปตัววี ซึ่งพระแท้ของศิลปะหริภุญไชยจะมี ความเป็นเอกในเรื่องโครงสร้างให้ลองพิจารณาพระชนิดอื่นประกอบด้วยก็จะมีความเข้าใจในแง่นี้
8.ส่วนท้องของพระเลี่ยง ไม่ป่องและไม่เรียบแบนจนเกินไป ไม่ปรากฎรอยของสะดือ ตรงส่วนท้องนี้จะมีเส้นเล็กๆพาดยาว แสดงถึงขอบของสบง หรือเครื่องนุ่งห่มส่วนล่าง
9 .หน้าตักหรือพระเพลา งามเหมาะพอตัว มีสัดส่วนที่ดี ประทับนั่งในท่าสมาธิเพชร เท้าขวาทับเท้าซ้าย
10. ส่วนแขนหรือพระพาหา แขนขวาขององค์พระ กางออกจากลำตัวเล็กน้อย วางทอดตัวลงมาจากบ่าขวา พาดลงมาตรงบริเวณเข่าขวา ฝ่ามือจะแบออก นิ้วจะแตะกับพื้นบัลลังก์ แขนซ้ายขององค์พระ วางทอดลงมาจากไหล่ซ้าย ลำแขนจะกางออกจากองค์พระเล็กน้อย วางทอดลงมา เป็นจังหวะ 3.จังหวะ วางพาดลงบนหน้าตัก
เช่นเดียวกับการวางแขนของพระรอด ฝ่ามือจะแบออกวางอยู่ตรงเหนือ ส้นเท้าซ้ายที่โผล่ให้เห็น ตรงกลางของลำแขนซ้าย จะเห็นชายจีวร วางพาดลงมายังส่วนของหน้าขาซ้ายด้านใน
11.ส่วนฐานที่ประทับนั่งนั้น ทำขึ้นมาด้วยความปราณีตบรรจง มองดูสวยงามและแปลกตากว่าฐานของพระชนิดอื่นใดองค์พระเลี่ยงไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่โตอะไรมากนัก แต่เส้นสายรายละเอียดในองค์พระนั้นมีมากมายและงดงามอย่างน่าทึ่ง แสดงถึงความทุ่มเทเพื่อจะสร้างพระเลี่ยงนี้ให้เป็นสุดยอดของพระเครื่องโดยแท้จริง
ฐานของพระเลี่ยงแบ่งออกเป็นสามชั้น ฐานชั้นบนจะมีอยู่สองแบบ คือแบบที่หนึ่งจะเป็นแบบฐานบัวเม็ดกลมซึ่งเป็นฐานที่มีบัวลูกแก้วเป็นตัวประดับที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ เรียงรายกันทั้งบนและล่างตลอดแนวของฐานที่ประทับ ซึ่งจะแยกเป็นลักษณะของพระเลี่ยงพิมพ์หนึ่ง ส่วนฐานที่ประทับอีกแบบหนึ่งนั้นคือพระเลี่ยงแบบฐานเป็นลักษณะบัวเหลี่ยมที่วางซ้อนกันทั้งบนและล่างตลอดแนวของฐาน นี่ก็เป็นพระเลี่ยงอีกพิมพ์หนึ่ง
ฐานชั้นที่สอง ซึ่งเป็นฐานชั้นตรงกลาง ฐานชั้นนี้มีความแปลกและมีความหมายสำคัญที่บ่งบอกถึงสถานะภาพขององค์พระที่ประทับนั่งอยู่เหนือขึ้นไป ว่าอยู่ในฐานะที่สูงส่ง ถึงชั้นของพระมหากษัตรืย์เลยทีเดียว ฐานชั้นนี้ทำเป็นรูปหัวช้าง เรียงกันถึงสามหัว ระหว่างหัวช้างแต่ละหัวนั้นจะถูกคั่นด้วยช่องเล็กๆ ที่อยู่ลึกลงไป สองช่อง ในแต่ละช่องให้สังเกตดูก็จะเห็น มีขีดเล็กๆ 2 ขีดรวมสองช่องก็ จะเป็น 4 ขีด ขีดที่มีอยู่ในแต่ละช่องนั้น จะไม่ขีดจนเต็มเนื้อที่ แต่จะเป็นขีดที่ยาวเพียง 3/4 ฃองช่อง ด้านล่างจะเป็นรอยบุ๋มลึกลงไป จึงทำให้ขีดที่มีอยู่ดูลอยตัวขึ้นมาด้านบนดูมีมิติ ขีดทั้งสองนั้นก็คือ “ หูช้าง ” ของหัวช้างทั้งสามนั่นเอง ให้พิจารณาดู หัวช้างตรงกลางจะมีสองหูคือทางซ้ายและขวา ที่เหลือคือใบหูของหัวช้างทางด้านซ้ายและทางขวา หัวช้างทั้งสามหัวของ พระเลี่ยงองค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจน จะเห็น ตะพองหัว ตา หู งวง งา ครบถ้วน งวงช้างทางด้านขวานั้นจะม้วนงวงไปทางด้านขวา หัวช้างทางด้านซ้าย จะม้วนงวงไปทางด้านซ้าย สำหรับหัวช้างตรงกลางจะม้วนงวงไปทางด้านซ้าย เป็นจุดสังเกตจุดหนึ่งของพระเลี่ยงเล็กพิมพ์นิยม
ฐานชั้นที่สาม เป็นฐานรองรับฐานด้านบน เป็นการทำให้องค์พระมีความลงตัวและเรียบร้อยไม่ขัดต่อสายตาฐานชั้นนี้ทำเป็นเส้นที่ไม่นูนหนามาก แต่ก็มีความเหมาะสมดีไม่น่าเกลียด ถัดจากฐานชั้นนี้ก็จะเป็นก้นฐานที่พับขึ้นมาทางด้านหน้าใกล้เคียงกันฐานของพระรอด
12 .บังสูรย์หรือซุ้มรัศมีของพระเลี่ยง ดูงามเด่นเป็นสง่าและมีความชัดเจนกว่าพระชนิดอื่นใด ช่างศิลป์ได้ทำเป็นรูปกลีบบัวปลายแหลม เส้นซุ้มรัศมีนี้จะเป็นเส้นที่เล็กแหลมคมงดงามดูมีมิติ เริ่มต้นจากตรงริมสุดของหัวไหล่ทั้งสองข้าง โค้งขึ้นไปจรดกับซุ้มด้านบนสุด เหนือยอดมงกุฎที่เป็นยอดปลายแหลม การโค้งขึ้นไปของเส้นซุ้มรัศมีนี้ ทั้งสองด้านได้สัดส่วนสวยงาม ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป สังเกตตรงส่วนของปลายมงกุฎที่แหลม จะอยู่ตรงจุดที่พอดีกับปลายแหลมของซุ้ม ทำให้ดูไม่ขัดตา เพราะเส้นซุ้มมีความชัดเจนดี จึงทำให้เศียรของพระดูโดดเด่นและงดงามยิ่ง
13. เหนือขึ้นไปด้านบนของซุ้มรัศมี จะทำเป็นฉัตร 5.ชั้น ฉัตรนี้เป็นของสูงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีคุณูประการต่อเหล่าปวงประชา เรียกว่าเป็นฉัตรยอด คือเศวตรฉัตรเหนือบัลลังก์
14.ฉัตรที่อยู่ถัดลงมาคือฉัตรกลาง จะเห็นอยู่ตรงสองข้างของซุ้มรัศมีที่อยู่ด้านข้างตรงแนวของมงกุฎ ฉัตรนี้เริ่มจากส่วนบนของปลายยอดฉัตรล่าง โค้งไปตามแนวของเส้นบังสูรย์ ส่วนปลายของฉัตรกลางนี้จรดกับชั้นล่างสุดของฉัตรยอด รูปร่างของฉัตรชั้นกลางนี้ทำเป็นลวดลายกลมๆเล็กๆวางเรียงขึ้นไปข้างละสามอัน ถัดขึ้นไปจะเป็นส่วนปลายที่ทำเป็นสามเหลี่ยมก้นมนปลายแหลม ทั้งสองด้านทำเป็นแบบเดียวกันคือให้มองดูลงตัวเหมาะสม ที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะเนื้อที่มีจำกัด และเนื้อที่ตรงส่วนนี้แคบมาก จึงต้องประดิษฐ์คิดทำให้ดูดี ส่วนตรงปลายบนจะมีลักษณะเรียวแหลม แสดงให้เห็นเป็นส่วนของยอดฉัตร พิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นความคมชัดของลวดลายของฉัตรชั้นนี้ ซึ่งตรงจุดนี้ของปลอมจะเบลอไม่มีความชัดเจนและมีความเทอะทะ เป็นจุดสังเกตอีกจุดหนึ่ง
15. ฉัตรล่างนั้นจะเริ่มจาก เหนือซุ้มรัศมีของพระกุมารขึ้นไป เป็นลักษณะของฉัตร สี่ชั้นทั้งสองข้าง ในบางพิมพ์ก็มีเพียงสามชั้นแตกต่างกันไป ฉัตรที่อยู่ด้านบนสุดของฉัตรกลุ่มนี้จะมีส่วนปลายแหลมมีความคมและชัดเจนดี
16.วงนอกของฉัตร จะมีเส้นเป็นขอบปริมณฑล เป็นเส้นเล็กๆที่กั้นส่วนของฉัตรไว้ภายใน เป็นเส้นนูนที่มีความชัดเจนมาก เส้นนี้จะเดิ นรอบฉัตรด้านนอก วิ่งขึ้นไปจรดปลายแหลมส่วนบนสุด หากเส้นนี้ใหญ่ ไม่คมชัดมีลักษณะเหมือนหวายผ่าซีก ให้ตัดสินว่าไม่ใช่ของแท้
17. นอกจากจะมีเส้นขอบปริมณฑลแล้ว โดยรอบของเส้นขอบปริมณฑล ยังทำลวดลายเป็นเม็ดบัวเล็กๆเรียงรายขึ้นไปโดยรอบจะเรียกว่าบัวเม็ดไข่ปลาอีกชั้นหนึ่ง ลวดลายของบัวเม็ดไข่ปลาที่เรียงรายขึ้นไปทั้งสองด้านดังกล่าวทำอย่างงามเรียบร้อยเสมอกันหมด ตั้งแต่ส่วนล่างริมขอบสุดของฐานไปจนถึงปลายแหลมด้านบน ทั้งสองข้างจะทำเหมือนกัน เป็นความตั้งใจของฝีมือเชิงช่าง ที่มีความคิดในการประดิษฐ์ลวดลายใส่ไว้ในองค์พระปฏิมาขนาดเล็กได้อย่างน่าทึ่งและน่าประทับใจ
18.สองข้างขององค์พระที่เป็นองค์ประธานนั้น จะเป็นพระกุมารตัวน้อยๆนั่งชันเข่าในท่าที่สบาย เหนือเศียรขององค์กุมารทั้งสององค์ที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะเห็นซุ้มรัศมีประดับโดยรอบ แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีบุญ และเหนือซุ้มรัศมีขึ้นไปก็จะเป็นฉัตรประดับอยู่ แสดงถึงสถานะของผู้ที่ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้นว่าอยู่ในสถานะใดมี ความสำคัญระดับไหน ให้ท่านตั้งข้อสังเกตดู
|