ประวัติการสร้างเหรียญที่ระลึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
1. เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ จังหวัดสุโขทัย ในโอกาสนี้ได้ทรงประกอบพิธีบวงสรวงสังเวย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดศรีชุมด้วย ในครั้งนั้นปรากฏว่าประชาชนได้เรียกร้องให้ทางราชการดำเนินการสร้างพระบรม ราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยให้เหตุผลว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชพระองค์อื่นได้สร้างครบถ้วนทุกพระองค์แล้ว ยกเว้นแต่พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังนั้นจังหวัดสุโขทัยจึงได้ริเริ่มดำเนินการนำเสนอความเห็นมายังกระทรวง มหาดไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2507 และได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นโดย กรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบและการหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง (สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย)
2. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรละครเรื่อง “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเก็บเงินรายได้สร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่จังหวัดสุโขทัย (ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคาร ที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2510)
3. เมื่อวันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2513 เวลา 15.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปในพิธีพุทธาภิเษกเหรียญที่ระลึกพ่อขุนรามคำแหง ตามคำอัญเชิญของคณะกรรมการดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เวลา 15.50 น. เสด็จ ฯ ถึงพระอุโบสถ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล และประธานสงฆ์ถวายศีล จบแล้ว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงาน และอัญเชิญเสด็จ ฯ ทรงเจิมเทียนมหามงคลและเทียนไชย (ข่าวในพระราชสำนัก วันเสาร์ ที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2513)
4. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2513 เวลา 16.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ พิธีมณฑล กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เวลา 16.35 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงพิธีมณฑล บริเวณกองหัตถศิลป์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กราบบังคมทูลรายงาน จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ขึ้นประทับ ณ เกยในบริเวณพิธีมณฑล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีทูลเกล้า ฯ ถวายแผ่นทอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหย่อนแผ่นทองลงในเบ้า และทรงถือสายสูตรเททองหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์แตร และดุริยางค์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้า ฯ หนังสือเรื่อง รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถาน เมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. 2508-2512 เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ (ข่าวในพระราชสำนัก วันจันทร์ ที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2513)
5. เมื่อกรมศิลปากรปั้นหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและภาพจำหลักนูนแสดง เหตุการณ์ในรัชสมัยเรียบร้อยแล้ว จังหวัดสุโขทัยมีความประสงค์จะอัญเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีบริเวณเนินปราสาท อำเภอเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัยเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาในระหว่างที่ยังมิได้ประกอบ พิธีเปิด ซึ่งขณะนั้นเป็นระยะที่กำลังดำเนินการก่อสร้างแท่นฐานและจัดผังบริเวณ โดยได้ก่อสร้างปะรำเพื่อประดิษฐานพระบรมรูปชั่วคราว จังหวัดสุโขทัยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2518 พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ประดิษฐานอยู่ที่ปะรำพิธี ณ เนินปราสาทเป็นเวลา 1 ปี งานก่อสร้างแท่นฐานจึงเสร็จเรียบร้อย จากนั้นจังหวัดสุโขทัยจึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากเนินปราสาท ไปประดิษฐานยังแท่นฐานปัจจุบันเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2519 และจัดให้มีมหรสพฉลองสมโภชด้วย ประกอบกับมีการสร้างเหรียญที่ระลึกงานสมโภชพระบรมราชานุสรณ์พ่อขุนรามคำแหง มหาราช พ.ศ. 2519 เป็นเหรียญรูปทรง 5 เหลี่ยม จัดเป็นเหรียญรุ่น 2 (สารสนเทศจังหวัดที่ตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย)
6. อภินิหารของเหรียญพ่อขุน ฯได้เกิดขึ้น เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ณ ที่ว่าการอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดเชียงราย ความแปลกประหลาดใจได้เกิดขึ้น เมื่อมีการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ คือ มีกำปั่นเหล็กสองใบที่เก็บทรัพย์สินและเอกสารของอำเภอจมอยู่ในกองเถ้าถ่าน เมื่อไฟดับหมดแล้วจึงนำมาไขดู ปรากฏว่า กำปั่นลูกหนึ่งได้เก็บเหรียญพ่อขุน ฯ ไว้ด้วย ยังมีสิ่งของและเอกสารสมบูรณ์ มีเหรียญของพ่อขุนที่ทางราชการส่งมาให้ช่วยจำหน่ายใส่กล่องอยู่เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังมีเงินเหรียญ ธนบัตรและเอกสารของทางราชการอยู่ครบถ้วน ไม่เสียหาย อีกลูกหนึ่งอยู่ใกล้กันในกำปั่นลูกนี้ ไม่ได้เก็บเหรียญของพ่อขุนไว้ คงมีแต่เงินเหรียญ ธนบัตร เอกสารของทางราชการ ถูกความร้อนละลายเสียหายหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ผู้ที่พบเห็นต่างรู้สึกอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่า กำปั่นลูกที่เก็บเหรียญพ่อขุน ฯ ไว้ไม่เป็นอันตรายนั้น เกิดจากอภินิหารของเหรียญพ่อขุน ฯ ที่เกจิอาจารย์ปลุกเสกไว้ ทำให้เกิดอานุภาพคุ้มครองอัคคีภัยทั้งๆ ที่กำปั่นของทางราชการนั้นไม่ใช่กำปั่นแบบทนไฟเหมือนของธนาคารทั่วไปและ กำปั่นทั้งสองลูกต่างถูกเผาด้วยไฟที่มีความร้อนเท่าๆ กัน ลูกที่มีเหรียญของพ่อขุน ฯ อยู่เป็นปกติ ลูกที่ไม่มีเหรียญนั้นสิ่งของเสียหายหมด พอข่าวเรื่องนี้ แพร่ออกไป ในชั่วพริบตา เหรียญพ่อขุนที่เหลืออยู่นั้นก็ถูกบูชาไปจนหมดสิ้น (คัดลอกบางส่วนมาจาก หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจนายวันชัย (เฮียใหญ่) กิจสนาโยธิน เรียบเรียงโดย ท่านสุธรรม วงศ์โดยหวัง อดีตปลัดจังหวัดสุโขทัยและผู้ตรวจการกรมการปกครอง) อีกเรื่องหนึ่ง เป็นของ พ.ต.ท.สรวุฒิ หุตะวัฒนะ รอง ผกก.ภ.จว.อ่างทอง ที่เขียนมาเล่าให้คุณปรีชา เอี่ยมธรรม นิตยสารอาณาจักรพระเครื่อง ท่านสนับสนุนข้อเขียนของคุณสุธรรม วงศ์โดยหวัง ในหนังสืออาณาจักรพระเครื่อง เรื่องอภินิหารเหรียญพ่อขุนรามคำแหงป้องกันอัคคีภัย โดยขอยืนยันและสนับสนุนว่าเป็นจริง 100% เพราะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาด้วยตนเองจากเหตุการณ์ การเกิดไฟไหม้ที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2517 เวลาประมาณ 01.00น. เมื่อตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันรุ่งขึ้น พบว่าที่ว่าการถูกไฟไหม้หมดทั้งหลัง ในห้องหนึ่งมีเครื่องพิมพ์ดีดพระพุทธรูป 12 นิ้ว กำปั่นเหล็ก ทุกอย่างถูกไหม้จนละลายหมดแต่มีกล่องสังกะสีที่บรรจุเหรียญพ่อขุนรามคำแหง 80 เหรียญไม่มีร่องรอยถูกไฟไหม้ สีโลหะที่เคลือบอยู่บนเหรียญยังสดใสแวววาวไม่เปลี่ยนไปเพราถูกความร้อนแต่ อย่างใด และที่น่าทึ่งมากๆ คือ ภายในกล่องสักะสีนั้นยังมีเอกสารแผ่นพับบ่งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับจุด ประสงค์ของการสร้างและจำหน่ายเหรียญพ่อขุน ฯ นี้อยู่ในสภาพเดิมๆ ไม่เกรียมกรอบเพราะถูกความร้อนแต่อย่างใด
|