พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู กรุวัดมหาธาตุ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ พระเครื่อง กรุวัดมหาธาตุเพชรบูรณ์นี้ พระส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อชินเงิน ที่พบเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดงนั้นก็มีพบบ้างไม่มากนัก พุทธคุณนั้นเด่นทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ไม่แพ้พระเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ยังดีทางด้านความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนให้ผลทางร่มเย็นเป็นสุขอีกด้วย ปัจจุบันพระเครื่องของกรุนี้ก็หาชมได้ยาก อย่างพิมพ์พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตูนี้ปัจจุบันแทบไม่ได้เห็นกันเลย สนนราคาก็สูงมากเช่นกัน ในวันนี้ผมจึงนำพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู กรุวัดมหาธาตุ มาให้ท่านชมกันครับ
ในปี พ.ศ2510 กรมศิลปากรได้ซ่อม แซมบูรณะพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หลังพระอุโบสถ ได้พบกรุพระเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ2510 ซึ่งมีเสาศิลาแลงขนาดกว้าง 70ซ.ม ซ้อนกันอยู่สองก้อน มีไหสุโขทัยขนาดเล็กใหญ่ตั้งล้อมรอบเสาศิลาแลง ภายในไหบรรจุทั้งพระเครื่องและพระบูชา และพบตลับทองคำจำนวนหนึ่ง และพบลานทองจารึกอักษรไทยโบราณด้วย ระบุวันที่สร้างพระเมื่อเทียบกับปฏิทินร้อยปี แล้วตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ 2022
จากการสำรวจพระที่ขุดพบ ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปประมาณ 500 องค์ เป็นพระสมัยอยุธยา แต่ล้อศิลปะในสกุลช่างต่างๆ ก่อนหน้ายุคนั้น บางแบบก็เป็นศิลปะอยุธยาบริสุทธิ์ ส่วนพระเครื่อง ส่วนมากเป็นพระเนื้อชินเงิน ที่เป็นดินเผาก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก เมื่อได้แยกประเภทแล้วได้พระเครื่องแบบต่างๆ กว่า 30 แบบ เช่นพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู พระร่มโพธิ์ พระว่านหน้าทอง พระว่านหน้าเงิน พระซุ้มอรัญญิก พระซุ้มเรือนแก้ว พระท่ามะปราง พระฝักดาบ พระนางเพชรบูรณ์ และพระนาคปรก เป็นต้น
ความจริงแล้วพระเครื่องในรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ได้มีการขุดพบในกรุพระเจดีย์ หน้าพระอุโบสถมาก่อนที่กรมศิลปากรจะขุดพบในพระเจดีย์หลังพระอุโบสถเสียอีก รวมทั้งกรุวัดสนามชัยก็เคยมีผู้ขุดพบพระร่มโพธิ์และพระฝักดาบเนื้อชินเงิน ทำนองเดียวกันนี้ด้วย กรมศิลปากรได้นำพระเครื่องที่ขุดได้ ออกให้ประชาชนเช่า เพื่อระดมหาทุนมาบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานนั่นเอง โดยกำหนดราคาเช่าแต่ละพิมพ์แตกต่างกันไป
ซึ่งพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตูเป็นพิมพ์ที่กรมศิลปากรกำหนดราคาสูงกว่าพิมพ์ อื่นๆ
หากข้อมูลผิดพลาดขออภัยนะครับ
|