|
พระบูชารุ่นแรก ครูบาผัด วัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ขนาด5 นิ้ว หายาก
ครูบาผัด พระอริยสงฆ์ ลูกศิษย์สายครูบาเจ้าศรีวิชัย สังขารท่านเผาไม่ไหม้"ครูบาผัด ผุสสิตธัมโม" หรือ "พระครูพิศิษฏ์สังฆการ" เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสารภี
อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ผัด เจริญเมือง เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2468 ณ บ้านเลขที่ 5 ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
ในช่วงวัยเยาว์ เรียนจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดป่าแคโยง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
เมื่ออายุ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดป่าแคโยง ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยมีพระอธิการอินตา วัดสันกลาง ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์
กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2488 ณ วัดกองทราย ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยมีพระอธิการหมั้น นันโท วัดป่าเปอะ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี เป็นพระอุปัชฌาย์
มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2489 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดป่าแคโยง อ.สารภี เชียงใหม่ นอกจากนี้ ท่านยังใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม ทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาล้านนา งานนวกรรมช่างไม้ ช่างปูน เป็นต้น
ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2493 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล พ.ศ.2493 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอสารภี ฝ่ายสาธารณูปการ รูปที่ 1 และเป็นเจ้าคณะอำเภอสารภี และสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสารภี
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2516 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่พระครูพิศิษฏ์สังฆการ พ.ศ.2532 เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ครูบาผัด ได้สร้างคุณูปการไว้อย่างมากมาย อาทิ มอบทุนการศึกษาแก่ภิกษุ-สามเณร เป็นประจำปี มอบอุปกรณ์การศึกษาแก่โรงเรียนต่างๆ ภายในอำเภอสารภี
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี 2513-2536 เป็นพระธรรมทูตอำเภอสารภี เป็นกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลชมพู อ.สารภี เป็นรองประธานกรรมการศูนย์เผยแพร่ธรรมอำเภอสารภี
งานสาธารณูปการที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ก่อสร้างซุ้มประตูวัด กำแพงรอบวัด อุโบสถ ศาลา 200 ปี สร้างสะพานครูบาผัดสามัคคี ข้ามแม่น้ำแม่สลาบ เชื่อมต่อหมู่บ้านตำบลชมพู และหมู่บ้านป่าแดด อ.สารภี
ประกอบกิจกรรมของสงฆ์ตลอดโดยไปร่วมประชุมกับคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่เป็นประจำ
ด้านวัตถุมงคล ครูบาผัด ได้รับการถ่ายทอดการทำตะกรุดกาสะท้อนกลับจากครูบาสม แห่งวัดป่าแดด อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แต่ท่านได้นำมาปรับปรุงพัฒนาปลุกเสกใหม่ ผลิตขึ้นมาอย่างสวยงาม โดยทำจากครั่งพุทธาตายพราย พันกับแผ่นทองแดงบรรจุอยู่ในหลอดแก้ว เสริมอานุภาพพุทธคุณอย่างเข้มขลัง ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ และจะสะท้อนกลับไปหาผู้ที่ปล่อยของมนต์ดำนั้น
ตะกรุดหัวใจพุทธคุณ 108 เขียนอักขระยันต์แบบล้านนาไว้ในแผ่นทองแดง หรือแผ่นเงินบรรจุในหลอดแก้ว คุณสมบัติ แก้คุณไสยทุกชนิด นำไปแช่น้ำดื่มหรืออาบทำให้สิ่งเลวร้ายหลุดพ้นจากตัว หรือแช่น้ำไปประพรมทั่วบ้าน ป้องกันสิ่งชั่วร้ายมาใส่บ้าน ถูกผีเข้าหรือถูกพวกอวิชชาเล่นคุณไสยใส่ แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุต่างๆ นานา
ตะกรุดประสิทธิเวชมหาลาภ 3 กษัตริย์ เขียนพยัญชนะอักขระคาถาล้านนาไว้ในแผ่นเงิน, ทองแดง, ทอง ม้วนอยู่ในหลอดแก้ว อย่างสวยงาม คุณสมบัติ เป็นตะกรุดเมตตามหานิยม
ส่วนตำรับการทำตะกรุดหนังลูกวัวของครูบาผัด เป็นตำราของทางภาคเหนือที่พระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนือหลายท่านทำกัน แต่ตะกรุดชนิดนี้ นานครั้งถึงจะได้ทำ เนื่องจากต้องทำมาจากหนังลูกวัวที่ตายในท้องแม่ ซึ่งหายากกว่าการหาแผ่นโลหะมาทำตะกรุดทั่วไป แต่ถ้าหามาได้และทำถูกต้องตามตำราแล้ว ตะกรุดชนิดนี้เชื่อกันว่ามีอานุภาพทางคุ้มครองป้องกันตัว
ครูบาผัด ถือเป็นพระเกจิอันดับ 1 ใน 9 ของพระเกจิล้านนาแห่งยุค อีกทั้ง ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของพระครูสิริศีลสังวร หรือครูบาน้อย เตชะปัญญโญ พระเกจิชื่อดังแห่งล้านนาอีกรูปหนึ่ง
สำหรับครูบาน้อยเป็นลูกศิษย์ครูบาผัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โดยครูบาผัด ได้เมตตาถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ ให้มากมาย โดยเฉพาะการปลุกเสกตะกรุดมหากาสะท้อนกลับ และตะกรุดหัวใจพุทธคุณ 108
ครูบาผัด เคยกล่าวปรารภว่า "อาตมามีชีวิตผ่านพ้นภัยพิบัตินานาประการ มาจนถึงปัจฉิมวัย รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เกิดมาใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา"
นอกจากนี้ ครูบาผัด มักจะพร่ำสอนลูกศิษย์ทั้งพระภิกษุสงฆ์สามเณรเสมอ ว่า "เราเป็นพระเป็นสงฆ์เป็นสามเณร ต้องขยัน หลับดึก ตื่นเช้า ฟังธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิ และออกบิณฑบาต ปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ อย่าขี้เกียจอย่าคร้าน ทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุดให้มีความสุขสนุกกับงาน เมื่อมีความสุขกับการทำงานทำให้ชีวิตนั้นจะพบแต่ความสุข เพราะได้ทำงาน ให้มีสติก่อนจะทำอะไรให้คิดก่อนทำ ทำก่อนคิดคิดดีทำดี แล้วทุกอย่างก็จะมีผลดีตามมา โดยให้ยึดถึงหลัก 4 ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา การดำรงชีวิตนั้น จะต้องออมอด อดออม และอดทน"
ด้วยความที่เป็นครูบาผัด เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อได้รับนิมนต์ไปประกอบพิธีสงฆ์ยังที่ต่างๆ ท่านจะทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ตั้งจิตอธิษฐานด้วยบารมีพลังจิตอันแน่วแน่ เพื่อให้งานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือวัตถุมงคล สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
แต่ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ เมื่อถูกนิมนต์ไปร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษกงานวัตถุมงคล ครูบาผัดจะสวดมนต์คาถาและนั่งปรกใช้สมาธิพลังจิตอย่างเต็มที่ ใช้พลังจิตบารมีทุ่มเทให้กับงานที่รับกิจนิมนต์ บ่อยครั้งทำให้ท่านอ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งเกิดล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง
ครูบาน้อยในฐานะลูกศิษย์ ตัดสินใจเข้าพิธีนิโรธกรรม เพื่อทำพิธีให้ครูบาผัดหายจากอาพาธ โดยไม่ฉันอาหาร 7 วัน และนั่งสมาธิอยู่ในจุดที่กำหนดไว้ ฉันแต่น้ำ โดยทำประจำทุกเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี ปรากฏว่าได้ผล ครูบาผัดหายจากอาการอาพาธ
อย่างไรก็ดี ครูบาน้อย กำหนดจะเข้าพิธีเข้านิโรธกรรมอีกครั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 แต่ครูบาผัดอาพาธหนัก กระทั่งมรณภาพในที่สุด
เกิดมีปาฏิหาริย์ศพครูบาไม่ไหม้ ศรัทธานับหมื่นแห่ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพพระครูพิศิษฏ์สังฆการ หรือครูบาผัด เจ้าตำรับตะกรุดกาสะท้อน ฮือฮาขนาดไฟลุกโหมอย่างแรงต้องใช้รถดับเพลิงคอยควบคุมเพลิงไว้ไม่ให้ลุกลามไปที่อื่น ศพครูบาผัดกลับไม่เป็นอะไร ทั้งปราสาทนกหัสดีลิงค์และโลงแก้วถูกไฟไหม้จนหมด ประชาชนที่เฝ้าดูถึงกับพากันก้มกราบ สาธุ
|
|