ภาพถ่ายหลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี ( ฟิล์มอ่างทอง )
หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี (พระวินัยธร) ปาฏิหาริย์สรีระ (หลวงพ่อซวง) พระเกจิแห่งวัดชีปะขาวพระผู้มีพลังจิตอันแก่กล้า ผู้ทรงฉายาเทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์บุรี
หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี (พระวินัยธร) พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม พระบริสุทธิสงฆ์ผู้มั่นคงในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเน้นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานอันบริสุทธิ์และพลังจิตอันแก่กล้า จนสำเร็จอภิญญาสมาบัติ 'หลวงพ่อซวง อภโย' วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อดีตพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม ชาวบ้านในชุมชนยกย่องเปรียบเสมือนบิดา โดยเรียกขานท่านว่า 'พ่อใหญ่' จนติดปาก ส่วนศิษยานุศิษย์ที่อยู่ต่างถิ่นแดนไกล ให้สมญานามว่า 'เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์'
หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว "เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์" อัตโนประวัติหลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว มีนามเดิมว่า ซวง พานิช เกิดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2442 ที่บ้านพัก ณ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเฮง และนางอ่ำ พานิชอายุ 26 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดโบสถ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดชีปะ ขาว มีหลวงพ่อเฟื่อง วัดสกุณาราม (วัดนก) อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม จ.อ่างทอง ผู้สร้างพระพิมพ์สมเด็จวัดนกอันลือลั่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อภโย จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชีปะขาว จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส
สำหรับวัดชีปะขาว หรือวัดชีผ้าขาว เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ กาลต่อมา น้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรี เป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม แล้วโปรดให้ลงเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่ง พร้อมกับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดศรีสุดาราม" ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
หลวงพ่อซวง ได้รับการถ่ายทอดการฝึกกัมมัฏฐานเบื้องต้นจากพระอาจารย์คำ วัดสิงห์ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี นอกจากเรียนกัมมัฏฐานเบื้องต้น หลวงพ่อซวงยังได้เรียนการทำธงพระฉิมและการสักยันต์บุตร-ลบอีกด้วย หลังจากนั้นได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์คำให้ไปเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นได้ร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อแป้น ก่อนท่านแนะนำให้เรียนวิปัสสนาและวิทยาคมต่างๆ อาทิ วิชาทำแหวนชิน และการทำยาเปรี้ยวกับหลวงพ่อฤทธิ์ วัดบ้านสวน (วัดน้อย) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย
หลวงพ่อซวง เป็นพระเถระผู้มีจริยาวัตรอันงดงาม สมถะ ไม่ยึดติดรูปสมบัติ ฉันอย่างง่ายๆ ไม่ยอมรับปัจจัยใดๆ เป็นการส่วนตัว ท่านจะยกให้เป็นสมบัติของสงฆ์จนหมดสิ้น นอกจากนี้ ท่านยังได้ปฏิเสธการรับสมณศักดิ์และตำแหน่งใดๆ ที่เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีสมัยนั้น (พระราชสิงหวรมุนี วัดสังฆราชาวาส) มอบให้ท่าน อย่างไรก็ตาม พระราชสิงหวรมุนี ได้ขอร้องให้ท่านรับตำแหน่งพระวินัยธร ซึ่งขณะนั้นว่างลงพอดี ท่านจึงจำเป็นต้องน้อมรับอย่างปฏิเสธมิได้ท่านเน้นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานอันบริสุทธิ์และพลังจิตอันแก่กล้า
พระเครื่องหลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี ด้านวัตถุมงคล หลวงพ่อซวง จัดสร้างไว้หลายประเภท ทั้งประเภทหล่อโบราณ เนื้อโลหะ เช่น พระลีลาหรือพระกำแพงเขย่ง เหรียญหล่อรูปเหมือนใบเสมา รูปหล่อ สมเด็จหล่อ พระกลีบบัวเนื้อปรอท นอกจากนี้ ยังมีรูปถ่ายอัดกระจก พระเนื้อผง พระปรอท พระบูชา ผ้ารอยเท้าหลวงพ่อซวง ธนบัตรขวัญถุง นางกวัก ตะกรุด รูปถ่าย แหวนหูมุ้งหรือแหวนชิน ธงพระฉิมหรือผ้ายันต์เม็ดมะม่วง ผ้ายันต์สิงห์คู่ พระเครื่องประสบการณ์ดีทางคงกระพัน ล็อกเกต ฯลฯ
ก่อนที่จะมรณภาพ ท่านได้บอกกับคณะกรรมการวัดว่า ถ้าต้องการให้โบสถ์หลังใหม่ ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่นั้นแล้วเสร็จ อย่าเพิ่งฌาปนกิจสังขารของท่าน มิฉะนั้นโบสถ์จะสร้างไม่เสร็จ คณะกรรมการวัดจึงปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของท่าน โดยเก็บรักษาสังขารของท่านไว้ในหีบไม้อย่างมิดชิด ประดิษฐานไว้บนศาลาการเปรียญ เพื่อให้คณะศิษย์และชาวบ้านได้บูชากราบไหว้ และร่วมทำบุญสร้างโบสถ์หลังใหม่ ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานโบสถ์หลังใหม่ก็สร้างเสร็จตามคำประกาศิตของหลวงพ่อ
หลวงพ่อซวง มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2510 ที่โรงพยาบาลจังหวัดสิงห์บุรี สิริอายุได้ 69 ปี พรรษา 45 หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว 26 ปี เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2536 คณะกรรมการวัดได้เปิดหีบไม้ที่บรรจุสรีระสังขารของหลวงพ่อซวง เพื่อทำพิธีฌาปนกิจ เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้น พบว่าสรีระสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา แต่มีเนื้อหนังมังสาอยู่ครบถ้วน แต่แห้งและแข็งเหมือนหิน คณะกรรมการวัด จึงเปลี่ยนใจ ไม่ประกอบพิธีฌาปนกิจ โดยนำร่างที่ไม่เน่าเปื่อยบรรจุไว้ในโกศขนาดใหญ่ และสร้างมณฑปเป็นที่ประดิษฐานไว้ภายในวัดชีปะขาว เพื่อเป็นที่ บูชากราบไหว้ของคณะศิษย์และชาวบ้านทั่วไป
|