รูปเหมือนหลวงปู่แหวนที่เททองหล่อที่วัดดอยแม่ปั๋ง
นับเป็นรูปเหมือนพิมพ์เดียวของหลวงปู่ที่ได้ประกอบพิธีเททองที่วัดดอยแม่ปั๋ง คณะผู้จัดสร้างก็คือคณะของนายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ ซึ่งสร้างเจดีย์ถวายหลวงปู่ครับ
เนื้อโลหะที่นำมาหล่อพระรุ่นนี้ไม่ได้เป็นเนื้อโลหะที่ผสมสำเร็จจากโรงงาน แต่เป็นเนื้อโลหะที่นำเอาแผ่นโลหะอันเป็นมงคลที่ผ่านการปลุกเสกหรือลงอักขระเลขยันต์มาแล้ว ทั้งจากคณาจารย์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้
๑. ตะกรุดเก่าเป็นอันมาก หนักหลายกิโลกรัม ที่นักสะสมรุ่นเก่าได้นำมาขอหลวงปู่แหวนเสกซ้ำอีก ก่อนที่จะนำไปใส่ในเบ้าหลอม
๒. ทองชนวนพระกริ่งอรหังและพระชัยวัฒน์อรหังที่หล่อถวายหลวงปู่ปลุกเสก เมื่อ เดือนมกราคม ๒๕๑๗
๓. ทองชนวนพระชัยวัฒน์ท่านเจ้ามา วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) ที่เป็นเกจิอาจารย์เรืองนามในอดีตที่สำคัญยิ่งรูปหนึ่ง
๔. แผ่นทองแดง ๑๐๘ แผ่นลงยันต์ ๑๐๘ ตามตำรับการสร้างพระกริ่งโบราณ
๕. แผ่นเงิน ๑๔ แผ่น ลงนะปถมัง
๖. แผ่นโลหะพิเศษ ๓ แผ่นคือ แผ่นทอง แผ่นนากและแผ่นเงิน ที่หลวงปู่ได้เมตตาลงอักขระให้เป้นพิเศษ
ในการหล่อได้ประกอบพิธีสุมทองที่วัดดอยแม่ปั๋ง ไม่ได้ใช้กรรมวิธีหล่อสร้างแบบสมัยใหม่ โดยคืนวันสุมทองคือวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๗ หลวงปู่แหวนได้นั่งอธิษฐานจิตปลุกเสก แผ่นโลหะและเนื้อผงโลหะทั้งปวงที่จะนำมาใช้ในการหล่อครั้งนี้ โดยโยงสายสิญจ์จากกุฏิหลวงปู่แหวนไปยังศาลาการเปรียญไปวงรอบชนวนโลหะทั้งหลายและโยงไปยังรอบมณฑลพิธีที่กำลังสุมทองอีกบริเวณหนึ่งด้วย
สำหรับฤกษ์เททองนั้น คือเวลา ๑๑.๑๙ น. ของวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๗ ซึ่งตรงกับวันพุธขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๕ ปีขาล อันถือเป็นเทวีฤกษ์ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของดวงจันทร์ ซึ่งจะบันดาลส่งผลดีเด่นถึง ๓ ทาง คือมีเมตตามหานิยมอย่างสูง ปกปักษ์รักษาและอุปถัมภ์ค้ำชูโดยเทพชั้นสูง ส่วนใครคิดร้ายเป็นศัตรูจะถึงกาลพินาศไปเอง
ในขณะที่มีการเททองนั้น หลวงปู่ได้เมตตานั่งอธิษฐานจิต เพื่อประจุพลังความศักดิ์สิทธิ์จากกุฏิท่านส่งไปยังบริเวณพิธี โดยผ่านสายสิญจ์ตลอดเวลา
เมื่อถึงเวลาได้ฤกษ์ พระครูสันติวรญาณ หรือหลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์สำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้จุดเทียนชัยและเททองแทนหลวงปู่แหวน เพราะ หลวงปู่แหวนท่านไม่ยอมเททองหล่อรูปตัวท่านเอง จึงให้หลวงปู่สิมรับเททองแทน
ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ ซึ่งนำโดยพระอาจารย์หนู สุจิตโต เจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปัญโญ รองเจ้าอาวาส ก็สวดชยันโตและสวดธรรมจักรกัปวัตนสูตร เสร็จแล้วหลวงปู่สิมก็ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ตามเบ้าหุ่นมงคลวัตถุทั้งหมด จากนั้นก็ขนกลับกรุงเทพฯ เพื่อตกแต่งที่โรงงานบ้านนายช่างใกล้วัดบ้านเสาธง
นับว่าการหล่อสร้างรูปเหมือนหลวงปู่แหวนขนาดเล็กรุ่นนี้ ได้ประกอบพิธีกรรมอย่างเต็มฉบับ สมบูรณ์แบบครบถ้วนทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์
เมื่อช่างได้ตกแต่งองค์พระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เจาะรูใต้ฐานบรรจุของวิเศษ ๓ สิ่งไว้คือ
๑. ผงไตรมาสของเจ้าคุณนรรัตน์ฯ ซึ่งท่านได้ปลุกเสกให้ในพรรษาปี ๒๕๑๑
๒. ผงไตรมาสของหลวงปู่แหวน ซึ่งปลุกเสกในพรรษาปี ๒๕๑๖
๓.เส้นเกศาของหลวงปู่แหวน
รูปเหมือนของหลวงปู่แหวนที่สร้างครั้งนี้ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่นั่งสมาธิเต็มองค์อยู่ในพัทธสีมา ผนังลายใบโพธิ์ ด้านหลังมีอักษรไทยลานนาตามแบบที่หลวงปู่เขียนให้อยู่ด้านบน เขียนว่า "พุทโธอรหัง" อันเป็นคาถาที่หลวงปู่ท่านมักแนะนำให้ใครต่อใครบริกรรมเพื่อทำสมาธิเป็นประจำส่วนด้านล่างเป็นอักษรภาษาไทยว่า "หลวงปู่แหวน สุจิณโณ"
องค์พระขนาดฐานกว้าง ๑.๔ ซม. สูง ๒.๓ ซม. นับว่ามีขนาดกำลังดีสามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง ได้มีการตอกโค๊ดไว้สามแห่ง คือที่ด้านหลังตรงกลางตอกตราธรรมจักร ด้านล่างตอกเลข "๑๗" และใต้ฐานตอกตราเจดีย์
จำนวนการสร้างทั้งหมด ๕,๐๐๐ องค์ เท่าจำนวนพรรษาแห่งพระพุทธศาสนา ตามความนิยมเชื่อถือของคนแต่โบราณและเท่าจำนวนพรรษาที่พลังจิตของหลวงปู่แหวนสามารถประจุอยู่ได้อย่างสบาย กล่าวคือหลวงปู่ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอว่าที่ท่านเสกหรืออธิษฐานจิตให้แต่ละครั้งนั้น อยู่ได้นานถึง ๕,๐๐๐ พรรษา (บางท่านก็ได้ยินว่า ๕,๐๐๐ กัปป์)
เมื่อบรรจุผงวิเศษ และเส้นเกศาของหลวงปู่เสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณธงชัย อุดมความสุข นำไปถวายหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ปลุกเสกพร้อมเหรียญเมตตา เสร็จจากหลวงปู่สิมปลุกเสกแล้ว ได้นำไปถวายให้หลวงปู่แหวนปลุกเสก ที่วัดดอยแม่ปั๋ง โดยเก็บไว้ในกุฏิเป็นเวลานานถึงกว่า ๑ เดือน....