พระปิดตา รุ่น ทองแสนล้าน รุ่นสุดท้ายทันอธิษฐานจิตเสกของหลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล นอกจากมรดกธรรมคำสอนที่เผยแผ่ไว้แก่ศิษยานุศิษย์ให้เอาใจใส่การปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว มรดกวัตถุธรรมในแบบวัตถุมงคลพระผงกรรมฐานเพื่อเป็นอนุสสติเครื่องระลึกถึงสังฆรัตนะด้วยประการหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงพระปิดตา หรือพระภควัมปติ หลายท่านคงนึกถึงพระขนาดเล็ก ๆ มีลักษณะเด่น คือ พระอ้วนลงพุง พระกรหรือมือปิดส่วนต่าง ๆ เช่น ใบหน้า หู สะดือ และทวาร ซึ่งพระภาวนาจารย์ พระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ทุกยุคทุกสมัยต่างนิยมสร้างขึ้นจากคำเล่าขานต่าง ๆ ในอดีต หรือความเชื่อในเรื่อง พุทธคุณ มหาอุตม์ เมตตาค้าขาย เสริมสิริมงคลแก่ผู้บูชา “พระภควัมบดี” หรือ “พระภควัมปติ” อันเป็นอีกนามหนึ่งของพระมหากัจจายนะ เป็นอัครสาวกรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง นอกจากนี้ ท่านยังมีรูปร่างและผิวกายงดงามมาก จนได้ชื่อว่า “พระภควัมปติ” อันมีความหมายว่า “ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า” ด้วยเหตุที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดอยู่เนือง ๆ ไม่เว้นแม้เทวดายังสรรเสริญ ท่านเห็นว่าจะเป็นการไม่สมควรเกิดความมัวหมองต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภควัมบดีจึงอธิษฐานจิตให้ร่างกลายเปลี่ยนเป็นอ้วน เตี้ย พุงพลุ้ย จวบจนนิพพาน ความที่พระภควัมปติเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ จึงเป็นพุทธคุณด้านเมตตาประการสำคัญ จึงเป็นที่มาของ “ปางเข้านิโรธสมาบัติ” หรือ “พระปิดตา” ที่เห็นในปัจจุบัน พระโบราณาจารย์จึงได้จำลองลักษณะแห่งพระภควัมปติในรูปพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์แห่งคุณวิเศษไว้ 3 ประเภท คือ 1. พระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ 2. พระปิดทวารทั้ง 9 อันเป็นการปิดกั้นอาสวะกิเลสแห่งทวารเข้าออกทั้ง 9 ของร่างกาย และ 3. พระปิดตามหาอุตม์ อันเป็นการป้องกันสรรพภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง พระเดชพระคุณ พระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) ได้สร้างพระปิดตา หรือพระภควัมปติมาหลายรุ่น ในโอกาสที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล เจริญอายุมงคลสมัยย่างเข้าสู่ปีที่ 97 ได้มีการจัดสร้าง พระปิดตา “ภควัมปติ” ปรารถนาแจกเป็นวัตถุมงคลสำหรับปี พ.ศ.2563 โดยกำหนดเดิมจะเริ่มมอบเป็นของขวัญแก่สานุศิษย์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป แต่เกิดเหตุการณ์อันเป็นที่น่าเศร้าที่ พระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) ได้ละสังขารเข้านิพพานไปก่อนแจก จึงได้นำมามอบในโอกาสทำบุญปัญญาสมวาร (50 วัน) แห่งการละสังขาร เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2563 พระปิดตาองค์นี้มีลักษณะงดงาม ขัดสมาธิราบ ทรงจีวรลายดอกพิกุลตามอย่างศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปฐมฤกษ์ วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เดือนยี่เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ (เดือนยี่เป็ง) พระพรหมมงคล วิ. (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) ได้กระทำพิธีอธิษฐานจิตมวลสารในมงคลฤกษ์ “จันทร์ซ้อนจันทร์” ลงปฐมฤกษ์บล็อกพระปิดตา วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เดือนยี่เหนือ แรม 15 ค่ำ อธิษฐานจิตกรวยดอกไม้และมวลสาระสำคัญอีกครั้งเป็นทุติยฤกษ์ ณ วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร และวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (เดือนยี่เหนือ ขึ้น 6 ค่ำ) พระเทพปริยัติมงคล (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) เจ้าอาวาสวัดจองคำ จังหวัดลำปาง เมตตาอธิษฐานจิตมวลสาร ตะกรุดทองคำ ตะกรุดเงิน เป็นตติยฤกษ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบเป็นมงคลวัตถุของขวัญปีใหม่ พุทธศักราช 2563 จึงถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายที่หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล ได้ทันอธิษฐานจิต หลังจากได้แช่น้ำมันเกสรดอกไม้ 9 กลิ่น และน้ำมันจันทน์แล้ว ได้นำไปถวายพระวิปัสสนาจารย์ได้อธิษฐานจิต ดังนี้ 1. พระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ) วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 2. พระเทพปริยัติมงคล (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) วัดจองคำ อ.งาว จ.ลำปาง 3. พระเทพมงคลโมลี (หลวงปู่บุญส่ง สุขปฺปตฺโต) วัดล้านนาญาณสังวราราม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 4. พระภาวนาธรรมาภิรักษ์ วิ. (หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย) วัดสุทธาวาส วิปัสสนา อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 5. พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ. (หลวงพ่อสุพัน อาจิณฺณสีโล) วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 6. พระภาวนารัตนญาณ วิ. (ครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต) วัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 7. พระครูปลัดนันทวัฒน์ (ครูบาคัมภีรธรรม พระอาจารย์พยุงศักดิ์ ธีรธมฺโม) วัดป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีจำนวนการสร้างมีบล็อกหลัง 2 บล๊อก คือ 1. บล็อกด้านหลัง “มงคลอายุ ๙๗ ปี ฝังตะกรุดเงิน 2 ดอก” จำนวน 1,039 องค์ ได้หยุดทำต่อเพราะการละสังขารเข้านิพพานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ และเปลี่ยนบล็อกด้านหลังเป็น “พ้นทุกข์ วิมุตติสุข” จำนวน ดังนี้ 1. เนื้อผงมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ปัดทองคำแท้ ฝังตะกรุดคู่ (ตะกรุดทองคำ100% ตะกรุดเงิน100%) จำนวน 199 องค์ 2. เนื้อผงมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ฝังตะกรุดเงิน ๒ ดอก จำนวน 999 องค์ 3. เนื้อผงมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ฝังตะกรุดเงิน 1 ดอก จำนวน 3,999 องค์ 4. เนื้อผงมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีตะกรุด จำนวน 7,999 องค์
ขอบพระคุณข้อมูลโดยเชียงใหม่นิวส์ & เสธ.กบ มา ณ ที่นี้ด้วย ครับ