ขันน้ำพระพุทธมนต์ที่ระลึกสมโภชหออินทขิล วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ปี 2557
พิธีมหาพุทธาภิเศก พระผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิธี อาทิ. หลวงพ่อประสิทธิ์ วัดป่าหมู่ใหม่ พระอาจารย์เปลี่ยน ปฺญญาปทีโป
ประวัติความเป็นมา
เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง เป็นหลักเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชจะสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 1839 โดยตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองได้ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของวัดอินทขีลสะดือเมือง หรือวัดสะดือเมือง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2343 พระเจ้ากาวิละซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับกองทัพของรัชกาลที่ 1 ทำการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ ต่อจากนั้นได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ได้ ย้ายเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง จากวัดอินทขีลสะดือเมือง หรือวัดสะดือเมือง มาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงกาลปัจจุบัน
เสาอินทขีลของเมืองเชียงใหม่ถูกสร้างขึ้นด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การสร้างเมืองในสมัยก่อนจะต้องมีเสาหลักเมือง เป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อความศรัทธา และจะต้องตั้งอยู่ศูนย์กลางของเมือง ที่เรียกว่า สะดือเมือง เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง ว่ากันว่าเสาหลักเมืองเป็นเสาแห่งความมั่นคงตามดวงชะตาที่จะกำหนดความเจริญและความเสื่อมของเมือง
ปัจจุบัน เสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ ของวัดเจดีย์หลวง ในส่วนของตัวเสาหลักอินทขิลนี้ สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ที่ฝังอยู่ใต้ดิน
ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น
ในทุกๆ ปี ช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีงานพิธีบูชา เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองนี้ ซึ่งเรียกว่า เข้าอินทขิล ถือเป็นการบูชาและพิธีฉลองหลักเมืองของชาวเชียงใหม่
กล่าวได้ว่า เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง เป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองเชียงใหม่และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานควบคู่กับการสร้างเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า เสาอินทขิลเป็นเสาหลักที่สร้างความมั่นคง การอยู่ดีมีสุข ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวเชียงใหม่เอง หรือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศต่างนิยมมากราบไหว้ขอพร เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว
|