บางขลัง...เมืองโบราณที่ถูกลืม
คำว่า “บางขลัง” เป็นชื่อของตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งในเขต อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนก็ได้
บางขลัง เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำฝากระดาน หรือลำน้ำแม่มอก ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจาก ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง
ลำน้ำสำคัญนี้ ไหลมาหล่อเลี้ยงชาวบางขลังมาแต่ในอดีต หลักฐานที่ยืนยันว่า บางขลังเป็นเมืองโบราณร่วมพันปีมาแล้ว ปรากฏในจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึง พ่อขุนผาเมือง และ พ่อขุนบางกลางหาว ร่วมกันปราบกบฏขอมสบาดโขลญลำพง และมีข้อความกล่าวถึงเมืองบางขลัง ในด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๔ ว่า
...พลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด พาพ่อขุนผาเมืองผดาจกันและกัน พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีสัชนาลัย...พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดเอาพลมา...บางขลังเวนบางขลังแก่พ่อขุนผาเมือง แล้วพ่อขุนผาเมืองเอาเม้อเมืองราด เมืองสากอได...
เมืองบางขลังในอดีต จะร้างไปเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด หากแต่พิจารณาตามแหล่งที่ตั้งเมืองบางขลัง ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีสัชนาลัย กับเมืองสุโขทัย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองสวรรคโลก หรือเมืองเก่าในอดีต
เบื้องทิศตะวันตกของเมืองบางขลัง โอบล้อมด้วยเทือกเขาเล็กๆ ชาวบ้านเรียกเทือกเขาเดื่อ หรือเขาวงเดื่อ
ณ ที่นั้น ยังมีซากบ่อศิลาแลง และโบราณสถานอยู่ เชื่อกันว่า บางขลังเป็นเมืองหน้าด่าน หรือเมืองนักรบของเมืองเก่าสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) ต้องทำศึกกับชาวล้านนา หรือเมืองอื่นทั่วๆ ไป
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เมืองบางขลัง เป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมิรู้จบสิ้น ก็คือ พระเครื่อง “กรุบางขลัง”
ความมหัศจรรย์ของพระกรุนี้ ลือกันว่า เมื่อชาวบ้านแถบนั้นเข้าป่าหาสมุนไพร ดั้นด้นเข้าป่าไปถึงถ้ำ อันเป็นสถานที่บรรจุพระกรุบางขลัง ที่มี พระร่วงนั่ง กรุบางขลัง แล้ว ถ้าหยิบของมีค่า หรือพระกรุบางขลังติดตัวออกมาจากถ้ำแล้ว จะไม่ความสามารถนำกลับบ้านได้ บางคนเดินหลงทาง บางคนก็ถูกอภินิหารต่างๆ หลอกพรางตา ทำให้เห็นดินฟ้าอากาศแปรปรวน มืดทะมึนไม่เห็นทางที่จะกลับบ้านได้ เว้นแต่ว่า จะเอาพระกรุบางขลังกลับไปคืนไว้ที่เดิม จึงจะหาทางกลับบ้านได้
ข่าวลือนี้ ทำให้ผู้คนสนใจอย่างมาก มีผู้ทดลองด้วยตนเอง ผลสุดท้าย เมื่อกลับถึงบ้านก็จะมีอาการเหม่อลอย เหมือนคนไม่มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
อีกทั้งจะเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ คือ ตอนขุดหาพระ ลมฟ้าลมฝนมืดมา คนขุดก็ยังขุดไปเรื่อยๆ เกิดฝนตกน้ำไหล ว่ายน้ำหนีภัยกันยกใหญ่ ต่อชั่วครูจึงรู้ว่า ว่ายน้ำอยู่บนดิน (ว่ายบก) แถวหน้าอกบาดเจ็บเป็นรอยครูดกับพื้นดิน จนเจ็บระบมทั่วร่างกาย ปรากฏการณ์ฝนตกเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น
ชาวบ้านเลื่องลือกันทั้งตำบลว่า “เมื่อยังไม่ถึงเวลา บรรพบุรุษผู้สร้าง ยังไม่ประสงค์จะให้ใครนำออกเผยแพร่”
การเปิดกรุพระเมืองบางขลัง ในอดีต พระเครื่องมีจำนวนมาก โดยจะฝังอยู่ใต้ฐานเจดีย์ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ขุดได้ทั้งพระเครื่อง พระพุทธรูป เรือสำเภาทองคำ สุพรรณบัตรทองคำ ที่มีคำจารึกอีกด้วย
พระเครื่องที่ขุดพบ มีด้วยกันหลากหลายพิมพ์ เกือบทั้งหมดสร้างด้วย เนื้อชินเงิน มีจำนวนน้อยมากที่สร้างด้วยเนื้อตะกั่วสนิมแดง รวมอยู่ด้วย
พระที่ขุดพบ คือ พิมพ์พระนางพญา พิมพ์พระสังกัจจายน์ พิมพ์พระร่วงนั่งคางเครา และพิมพ์ที่ถือว่าเป็นพิมพ์นิยมที่สุดของกรุนี้ คือ พิมพ์พระร่วงนั่งบางขลัง
พุทธลักษณะ พระร่วงนั่งกรุบางขลัง เป็นพระพิมพ์นั่งปางสมาธิ พระเกศสวมพระมงกุฎ พระหัตถ์ขวาวางทับบนพระหัตถ์ซ้าย พระอุระ (อก) ยกนูนสูงเล็กน้อย
ลักษณะการประทับ ทอดพระบาทซ้ายทับพระบาทขวา แบบลอยองค์ โดยไม่มีฐานรองรับองค์พระ ลักษณะของเนื้อชินเงิน ส่วนมากจะเป็นเนื้อชินผสม ที่ออกสีดำจัดคล้ำมากกว่าพระเนื้อชินเงินของเมืองอื่นๆ มีคราบปรอทขาวเล็กน้อย เพียงบางๆ เท่านั้น ที่ปรากฏตามผิวองค์พระ ขนาดองค์พระ กว้าง ๒.๐ ซม. สูง ๓.๕ ซม.
พุทธคุณ เป็นพระเครื่องที่เพียบพร้อม ดีครบถ้วนทุกด้าน โดยเน้นหนักทางด้านแคล้วคลาด ป้องกันสรรพภัยต่างๆ ได้ดียิ่ง
โดยภาพรวม องค์พระแม้พุทธศิลป์จะหย่อนความงามไปบ้าง แต่ก็เป็นที่ยอมรับของชาวบางขลัง และชาวสุโขทัย มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แทบทุกพิมพ์ เพราะพระที่แตกกรุออกมาทั้งหมด มีจำนวนไม่มากนัก การแสวงหาจึงค่อนข้างยากพอสมควร |