ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ จังหวัดลำพูน เข้าใจผิดๆ กันมาเป็นเวลานานเกือบชั่วอายุคนหนึ่ง เพราะว่าสมัยนั้นหานักคิดนักเขียนเหนือที่คุ้นชินกับภาษาเหนือแทบไม่มีในวงการพระ โดยเฉพาะผู้ตั้งชื่อ พระเลี่ยง และ พระรอด คนเหนือรุ่นเก่าจะรู้ว่า คำว่า เลี่ยง และ รอด ไม่มีในคำเมืองแท้ หรือภาษาเหนือ แต่ผู้เขียนก็พอเข้าใจดียิ่งว่า ผู้ที่ตั้งชื่อพระเนื้อดินองค์เล็ก (ขนาดใหญ่ก็มี แต่น้อย) นั้น คงเป็นเพราะว่าพบพระพิมพ์นี้ครั้งแรกที่กรุวัดประตูลี้ วัดประตูนี้ได้มาจาก ?ประตูลี้? อดีตเป็นหนึ่งใน ?จตุรพุทธปราการ? ก็คือ เป็นประตูเมืองหริภุญไชยที่ใช้สำหรับหลบหนีศัตรูที่ยกกองกำลังเข้ามารุกราน และเมื่อสู้ไม่ได้ประตูนี้เป็นประตูหนีภัย คำว่า เลี่ยง หรือชื่อพระเลี่ยงมาจากคำว่า ?ลี้? นั่นเอง และที่ตั้งชื่อเป็น พระเลี่ยง ถ้าเป็นคนเหนือน่าจะเป็นผู้ที่ใช้ภาษากลางเป็นภาษาที่สอง จำนำเอาภาษากลางคือ ?เลี่ยง? มาตั้งเป็นชื่อ พระวัดประตูลี้ โดยมีคำว่า ?รอด? อันมี พระรอด เป็นเหตุจูงใจคือ มีรอดแล้วต้องมีเลี่ยงอะไรทำนองนี้
แต่คำว่า ?รอด? นั้น เป็นที่รู้กันอยู่แล้วทั้งภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ว่า ไม่ใช่ ?คำเหนือ? หรือคำเมือง คำเหนือในความหมายนี้ก็คือ ?ลอด? ตัวอย่างเช่น ?ลอดมอก? แปลว่า เล็กมาก แต่เรียกกันมาอย่างนี้ไม่รู้นานเท่าใด เราก็ต้องเรียกกันต่อไปแม้จะเข้าใจแล้วว่าไม่ถูกต้อง ย้อนกลับมาศึกษาพิจารณาพระเลี่ยงให้ถึงที่สุดก่อน ก็มีนักเขียนคนเหนือ บางท่านกล่าวว่า คำว่า ?เลี่ยง? มาจากคำเมืองว่า ?เหลี้ยม? ซึ่งแปลว่า แหลม เนื่องจากพระเลี่ยงมีลักษณะสัณฐานเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วเป็นมุมแหลมยาว ทัศนะวิจารณ์ดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้องเช่นกัน เป็นการตั้งชื่อลากเข้าหาความหมายในประเด็นที่ต้องการ ในแง่ของการวิวัฒน์ทางภาษานั้น อาจจะมีความเป็นไปได้ แต่น้ำหนักที่พระเนื้อดินเผาพิมพ์นี้มีชื่อว่า ?พระเลี่ยง? ขึ้นกรุวัดประตูลี้นั้นดีกว่า มีน้ำหนักถูกต้องกว่า เพียงแต่ไปใช้ภาษากลาง ด้วยเหตุนี้กระมังคนทั่วไปทุกรุ่นจึงนิยมในชื่อ พระเลี่ยง มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ความจริงหัวประเด็นที่จั่วไว้เป็นชื่อเรื่องในบทความนี้ ก็มีอะไรผิดๆ อยู่เหมือนกัน เช่น คำว่ ?หริภุญไชย? คำๆ นี้หรือพยางค์นี้เป็นปราชญ์ลานนาท่านหนึ่งตั้งเป็นชื่อเมืองๆ หนึ่งที่กลายเป็นแว่นแคว้นของชนชาติมอญ คนเหนือเรียกว่า เม็ง คนใต้ เรียกว่า ?รามัญ? ดั้งเดิมของเขาคือ ?เตลง? เป็นชาวอินเดียใต้อยู่ที่รัฐ ?เตลงคานอ? ตั้งอยู่ทางทิศใต้เฉียงมาทางตะวันออกของประเทศอินเดีย มีประวัติว่าอพยพหนีภัยสงครามมาตามลุ่มน้ำสาละวิน อิรวดี และลำน้ำโขง บางสายมาตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมือง หริภุญไชย นั้นเป็นแต่เพียงชื่อ ?นิยายธรรม? หรือ หนังสือธรรม ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในเทศนาธรรม ตามธรรมเนียมบรรพชิตปฏิบัติในสมัยโบราณเท่านั้น เช่นเดียวกับเรื่องราวของพระนางจามเทวีและสถานที่เรียกว่า ?จตุรพุทธปราการ? ซึ่งก็คือ วัดสี่มุมเมือง ต่อมาได้มีการให้เกียรตินักประพันธ์ผู้แต่ง จึงใช้ หริภุญไชย เป็นชื่อเมืองเก่าโบราณที่พบแต่ซากและศิลปกรรมบริเวณจังหวัดลำพูน และนักโบราณคดีที่ไม่มีประกาศนียบัตร และหรือปริญญาบัตร ยกขบวนไปวิเคราะห์ตามรูปแบบภาษา แล้วลากเข้าไปสนับสนุนประเด็นที่ตนต้องการจะให้สมจริง ชื่อจริงของเมืองหริภุญไชยที่กลายเป็นแว่นแคว้นใหญ่เอาการนี้ก็คือ เมืองละปูน เดิมคงไม่ใช่ชื่อนี้ เพราะว่าแถบนี้เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าไตโบราณเผ่าหนึ่ง นิยมเรียกกันในสมัยหลังๆ ว่า เมืองลัวะ หรือ บ้านลัวะ คำว่า ลัวะ นี้ก็คือชื่อชนเผ่าอื่นๆ ได้เคยเรียกในยุคสมัยต่างๆ กันว่า ละ ละวะ ลัวะ และ ลาว พวกแขกและธรรมทูตจากอินเดียและลังกาเรียกว่า ละโว้ ส่วนเมืองละปูนนั้นน่าจะมาจากคำว่า ?เมืองลวะปุระ? แบบเดียวกับเมืองลโวทยะปุระในจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชาโบราณที่ใช้เรียก กรุงละโว้ หรือ ลพบุรี ในปัจจุบัน ด้วยข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้สรุปในชั้นหนึ่งได้ว่า เมืองละปูน คือ เมืองลวปุระ ซึ่งอาจจะได้ชื่อนี้ก่อนและหลังระยะเวลาที่ได้พบศิปกรรม และโบราณสถานที่สืบเนื่องศิลปะสมัยทวาราวดี และสมัยลพบุรี ประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นต้นมา
แท้จริงนั้น พระเลี่ยง ก็คือ พระพิมพ์สมัยทวาราวดี ที่ดั้งเดิมมีผู้ตั้งชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระพุทธคยา อันเป็นสังเวชนียสถาน 4 หรือสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธคยา ที่พบในแหล่งโบราณสถานสมัยทวาราวดีโดยทั่วไป เท่าที่ผู้เขียนเคยเห็นมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกพิมพ์ทรงเป็นรูปงบน้ำอ้อยหรือทรงกลม องค์พระจำลองแบบพระบรมศาสดาอยู่ตรงกลาง เหนือขึ้นไปเป็นรูปพระสถูปเจดีย์พุทธคยาทรงเหลี่ยมหรือนิยมเรียกว่า ทรงปราสาท ล้อมรอบองค์พระก็ยังมีพระเจดีย์องค์เล็ก รวมกันประมาณ 5 องค์ เป็นอย่างต่ำ (รวมองค์ยอดและองค์ด้านข้างๆ องค์พระทั้งสองข้างด้วย องค์พระมักจะประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วบ้าง ฐานเขียง และฐานบัวก็มีอีกแบบหนึ่ง โดยรวมเป็นรูปสามเหลี่ยม องค์ประกอบภายในพิมพ์พระก็ดูเหมือนๆ กัน ในยุคต่อมาก็มี พระเลี่ยง พระสามหอม พระเลี่ยงหลวง ซึ่งความจริงก็คือ พระพิมพ์พุทธคยา ที่ คุณเชียร ธีรศานต์ พยายามตั้งชื่อนี้ไว้เป็นอนุสรณ์ แต่ไม่มีใครนิยมได้แต่ระลึกถึงท่านด้วยความเคารพที่นับได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาพระพิมพ์พระเครื่องเมืองลำพูนอย่างมีระบบของวงการพระเครื่อง และมักจะพบเสมอในพระพิมพ์แบบพุทธคยา คือ เดียรถีย์นิครณ์สองตนนั่งขนาบอยู่ข้างๆ องค์พระบรมศาสดา รายละเอียดอื่นๆ คงจะนำไปกล่าวในโอกาสต่อไป ที่กล่าวแล้วว่า พระเลี่ยง ก็คือ พระพิมพ์พุทธคยา นั้น เป็นเพราะว่าโดยรวมองค์พระสถิตอยู่ตรงกลางพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วมุมแหลมยาว ด้านล่างแคบ หรือกว้างส่วนหนึ่งเศษๆ ของด้านยาวของพิมพ์ทรงรูปสามเหลี่ยม องค์พระประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย ขัดเพชร บนฐานบัว มีเศียรช้างค้ำอยู่ 3 เศียร ขนาบด้วยเดียรถีย์นิครณฑ์ นั่งชันเข่าประนมกรอยู่คล้อยไปทางด้านหลังองค์พระนิดๆ เหนือเศียรเดียรถีย์ที่นั่งขนาบอยู่ทั้งสองข้าง เป็นเจดีย์องค์เล็กเรียงตัวกันขึ้นไปจนจะถึงพระสถูปเจดีย์พุทธคยาที่ประดิษฐานอยู่ภายในยอดจั่ว เหนือซุ้มประภามณฑล และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว พบว่ายังคงดำรงหรือสืบเนื่องศิลปะพระพิมพ์พุทธคยาสมัยทวาราวดี แต่ปรากฏว่าองค์พระเลี่ยงกลับเป็นพระทรงเครื่อง ปรากฏใส่มงกุฎชฎาภรณ์ กุณฑล (ตุ้มหู) ต่อสายกับสร้อยสังวาลย์ และที่ต้นพระกร พบกำไลหรือพาหุรัดทองกรทั้งสองข้าง แต่เห็นเพียงแนวรางๆ หมายความว่า เป็นพระเครื่องฝ่ายพุทธมหายาน ที่พบมากกว่าเป็นศิลปะนิยมสมัยลพบุรี ในแบบ ?พระอาทิพุทธะ? หรือ ทิพยบุตร แสดงว่าได้รับอิทธิพลในด้านศิลปะจากศิลปะสกุลช่างสมัยลพบุรี ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะได้รับมาจากทางไหนๆ ก็ตาม ทรงเครื่องแบบ ?มงกุฎชฎาภรณ์? ของพระเลี่ยงที่ดูคล้าย ?เทริดขนนก? นั้น เป็นสิ่งที่ฟ้องชัดเจนแล้วว่า พระเลี่ยงเป็นพระพิมพ์พระเครื่องลูกผสมศิลปะสกุลช่างขอมลพบุรีกับศิลปะสมัยทวาราวดีอย่างมิต้องสงสัย นอกจากนี้เครื่องราชาภรณ์อื่นๆ เช่น หู หรือพระกรรณที่ยาวประบ่า เนื่องจากประกอบกันกับสายร้อยติดกับสร้อยสังวาลอันเป็นแบบแผนที่พบมากในพระพิมพ์พระเครื่อง และพระพุทธรูปศิลปะขอมสมัยลพบุรี รวมทั้งพาหุรัดทองกร หรือกำไลข้อพระกรกับต้นพระกร ที่พบแนวปรากฏอยู่รางเลือนแทบทุกองค์
พุทธลักษณะเป็นพระพิมพ์ศิลปะลูกผสม ดังกล่าวแล้วนี้ในลักษณะเชิงช่างโดยรวม นักพุทธศิลป์วิจารณ์หลายท่านยังวิเคราะห์อีกว่า ลักษณะดังกล่าวอันมีเศียรช้างค้ำก็ดี รูปแบบของพระเจดีย์องค์เล็กก็ดี ตลอดจน ?บัวเม็ด? อันเป็นลวดลายที่ฐานบัลลังก์องค์พระก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเชิงช่างและศิลปะนิยมในศิลปะพุกาม คำว่าศิลปะเมืองพุกามนี้ขออธิบายไว้นิดหนึ่งว่า เป็นการเรียกแบบให้เกียรติประเทศเพื่อนบ้าน แท้จริงแล้วเป็นศิลปะของมอญ พม่านั้นไม่ใช่ชาตินิยมศิลปะ แม้กระทั่งภาษาดั้งเดิมก็ใช้ภาษามอญเขียนและพัฒนาใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ และมอญฝั่งพม่ากับมอญหริภุญไชยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอดีต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พบศิลปะมอญนิยมในพระเลี่ยง แต่สำหรับศิลปะสกุลช่างสมัยลพบุรีนั้นเช่นกัน ลพบุรีหรือกรุงละโว้ มีความสัมพันธ์กับหริภุญไชยมานานตั้งแต่ครั้งแคว้นทวาราวดีรุ่งเรืองก็ว่าได้ ในตำนานก็มีร่องรอยโดยกล่าวถึงพระนางจามเทวีว่าเสด็จมาจากกรุงละโว้ และเป็นธิดาเจ้ากรุงละโว้ แถมมีพระสวามีเป็นกษัตริย์เมืองราม ซึ่งก็คือแคว้นละโว้อโยธยา อันเกิดขึ้นหลังกรุงละโว้เสื่อมอำนาจ และในตำนานก็กล่าวถึงความสัมพันธ์สองหรือสามครั้ง ครั้งสุดท้ายตกอยู่ในราวสมัยพญาอาทิตยราชย์ ที่กล่าวว่าขอมลพบุรียกกองทัพมาตีเมืองหริภุญไชย แต่กลับพ่ายแพ้ยับเยิน แถมทหารขอมก็ถูกจับเป็นเชลย แล้วถูกบังคับให้ไปเป็นแรงงานในการสร้างพระเจดีย์ อะไรทำนองนี้ ด้วยเหตุนี้พระเลี่ยงจึงน่าจะมีอายุความเก่าแก่ตกอยู่ในระหว่างปลายๆ สมัยลพบุรีและแคว้นละโว้-อโยธยากำลังจะรุ่งเรือง หรือก่อนพระนครศรีอยุธยาจะสถาปนาโดยท้าวอู่ทอง เมื่อปี พ.ศ.1893 อย่างแน่นอน
พระเลี่ยง หรือ พระพิมพ์พุทธคยา เท่าที่ค้นพบแล้วมี 2 ขนาด นิยมเรียกกันในหมู่นักนิยมสะสมพระพิมพ์พระเครื่องกรุเก่ารุ่นก่อนๆ ว่า พระเลี่ยงหลวง กับ พระเลี่ยงธรรมดา พระเลี่ยงหลวงมีขนาดใหญ่กว่า รายละเอียดแตกต่างออกไปตามฝีมือและเชิงช่างของช่างฝีมือแต่ละคน พบขึ้นกรุมาแล้วอย่างน้อย 5 กรุ ได้แก่ พระเลี่ยงหลวง กรุประตูลี้ ขึ้นมาพร้อมกับพระเลี่ยงแบบธรรมดาหรือแบบพิมพ์นิยม, พระเลี่ยงหลวง กรุวัดพระธาตุหริภุญไชย, กรุวัดดอนแก้ว, กรุวัดพระคง, กรุวัดมหาวัน ส่วนพระเลี่ยง พิมพ์เล็กนิยม ไม่มีข้อมูลว่าขึ้นมากี่กรุ แต่กรุที่นิยมได้แก่ พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ และกรุวัดมหาวัน ยังมีพระเลี่ยง กรุวัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่ ที่ขึ้นกรุมาพร้อมกับพระสามหอม อันเป็นพระพุทธคยาอีกพิมพ์หนึ่ง ในทัศนะผู้เขียนแน่ใจว่ายังพบขึ้นมาอีกหลายกรุ แต่ไม่มีใครบันทึกไว้ เพราะว่าพบพระเลี่ยงแต่ละกรุไม่มาก อยู่ในลักษณะกระจัดกระจาย จึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อสร้างพระเลี่ยงแล้ว อาจจะนำพระไป ?ฝากกรุ? ไว้ในกรุอื่นๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธทั้งหลายในอดีต โดยเฉพาะสมัยพระธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ข้อที่จะต้องตั้งไว้เป็นข้อสังเกตพิเศษสำหรับ พระเลี่ยง พิมพ์นิยม ก็คือเป็นพระเนื้อดินเผาที่ขึ้นกรุมาพร้อมกันกับพระพิมพ์พระเครื่องและอื่นๆ อีกหลายอย่าง เนื่องจากโดยรวมแล้ว กรุวัดมหาวัน เป็นกรุพระพิมพ์พระเครื่องหลักที่มีประวัติการขึ้นกรุชัดเจนกว่ากรุอื่น แม้ว่า พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ จะเป็นที่นิยมมากกว่า แต่วัดประตูลี้ก็หลงเหลือแต่ซากอิฐ หิน ดิน ปูนกลาดเกลื่อน ในสมัยที่มีผู้ขุดค้นพบพระเลี่ยง แต่กรุวัดมหาวันนั้นประวัติชัดเจนกว่า ที่สำคัญได้มีการค้นพบ พระแว่นน้ำอ้อย อันเป็นพระพิมพ์พุทธคยาสมัยทวาราวดี อันดูเหมือนเป็น ?แม่แบบ? หรือต้นกำเนิดพระพิมพ์พุทธคยาสมัยต่อๆ มา นอกจากนี้ยังมีพระเลี่ยงหลวงที่มีรูปแบบและองค์ประกอบหลักคล้ายคลึง พระเลี่ยง พิมพ์เล็ก นิยมมากที่สุด พระอื่นๆ ก็มี พระกล้วย พระกวาง พระสิบสอง พระแปด พระสาม พระรอด พระลือ พระรอดหลวง พระคง พระบาง พระสิกขี พระรอดใบมะขาม พระรอดเกสร พระเปิมเล็กน้อย ดอกธาตุ พระแผ่นเงินแผ่นทอง หม้อใส่เถ้ากระดูกผี ดินปั้นเป็นลูกกลม เนื้อเป็นดินเหนียวแบบเดียวกับเนื้อดินสร้างพระรอด เข้าใจกันว่าเป็นดินสร้างพระรอด จำได้แค่นี้แหละ
ที่ผู้เขียนให้ตั้งเป็นข้อสังเกตนี้ ก็เพื่อจะบอกท่านว่า จริงอยู่กรุพระวัดมหาวัน เป็นกรุที่พบพระรอดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีพระพิมพ์อื่นๆ ขึ้นกรุมาด้วยเป็นจำนวนมาก ที่จำไม่ได้อาจจะถึงครึ่งหนึ่งของที่เอ่ยขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงและสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแบบใหม่ในสมัยที่หริภุญไชยได้ยอมรับเอาศิลปะสมัยลพบุรีเข้าผสมนั้น ได้มีการสร้างพระพิมพ์พระเครื่องหลายพิมพ์ หลายแบบ อย่างลูกผสม อาจจะมีพระกรุเก่าถูกเก็บรักษาไว้มาแต่เดิมอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้ว โดยเฉพาะพระรอดสร้างในคราวเดียวจำนวนมาก อย่างอื่นๆ ถ้าไม่เป็นพระเก่าเก็บ หรือสร้างไว้ไม่มาก อีกทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่า มีการสร้างพระพิมพ์พระเครื่องสืบเนื่องต่อๆ กันมาแทบทุกยุคสมัยหริภุญไชย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งปรากฏศิลปะสมัยทวาราวดีเป็นสิ่งบ่งชี้สมัยลพบุรี? โดยมีศิลปะสมัยพุกาม ซึ่งมีประวัติว่า พระเจ้านอรธา มหาราชพม่าได้ขยายอำนาจเข้ามาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-18 หรือก่อนหน้านั้นนิดๆ ศิลปะจีนแบบพระกัจจายน์และสิงห์หนึ่งที่มีพระวรกายอวบอ้วน อันเป็นศิลปะนิยมในศิลปะจีน เมื่อผสมเชิงช่างและศิลปะเข้ากันได้อย่างกลมกลืนแล้ว ปรากฏลักษณะโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองแทบจะมองไม่ออกเลยว่าเป็น ?ลูกผสม? นิยมเรียกกันในสมัยปัจจุบันว่า ?ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย? แม้ว่าหริภุญไชยนั้นจะเป็นภาษาที่แต่งขึ้นในนิยายปรัมปรา คือหนังสือชินกาลมาลินีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานจามเทวี และ เทวีวงศ์ แต่ก็อนุโลมให้ดูเหมือนจริงเป็นที่ยอมรับกันแล้ว ทั้งหมดที่ได้บรรยายมิได้หมายความว่าจะเป็นที่ยุติ เพราะมีเรื่องที่จะต้องค้นคว้าอีกมากมาย แต่ตอนนี้คงได้แค่นี้ก่อน สวัสดีครับ!
( ที่มา : ลานโพธิ์ ฉบับที่ 997 เดือนเมษายน 2551 : ศิลปะสกุลช่างหริภุญไชย? พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ จังหวัดลำพูน? ภาพและเรื่องโดย..แสงเมือง ล้านนา )
|