ในสกุลพระร่วงยืนในแถบพื้นที่ภาคกลางที่มีศิลป์อู่ทอง ไม่มากนักที่จะพบเห็นเป็นพระเนื้อชินเงินอย่าง"พระร่วงยืนกรุบ้านทางพระ" หรือ"พระร่วงตีนเป็ดกรุโคกตาเงิน"ที่คนในพื้นที่นิยมเรียกกัน เพราะลักษณะปลายพระบาทจะแปแยกจากกันและแลดูคล้ายกับสวมรองเท้าบู๊ตอยู่
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าพระร่วงกรุทางพระเป็นพระขึ้นที่ชัยนาท ซึ่งจริงๆเป็นข้อมูลที่ผิดและขัดแย้งในตัวของมันเอง อันว่า"ทางพระ" นั้นเป็นชื่อตำบล๑ในอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และจุดที่พบพระร่วงกรุนี้อยู่ในพื้นที่หมู่ ๓ บ้านทางพระแห่งนี้ ซึ่งในบริเวณแถบนี้เป็นทุ่งนาข้าวและมีโคกวัดร้างกระจายอยู่อย่างมากมาย แต่จุดที่พบพระร่วงตีนเป็ดแตกกรุขึ้นมาคือ"โคกวัดสระมะดัน"หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า"โคกตาเงิน" เพราะเป็นจุดที่"ตาเงิน"เป็นผู้เข้าไปถากถางทำกินก่อนผู้ใด พระร่วงกรุบ้านทางพระจึงหาใช่พระกรุของชัยนาทแต่อย่างใดไม่ ครั้นจะว่าเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกันก็มิได้ เพราะพื้นที่ทั้งสองมีระยะทางที่ห่างไกลกันพอสมควร ซึ่งข้าพเจ้า(ผมเอง)คิดว่าอาจจะเป็นการเรียกชื่อกรุสับสนกันมากกว่าระหว่าง"กรุทางพระ"ซึ่งอยู่ในอ่างทอง กับ "กรุวิหารพระ"ซึ่งอยู่ในชัยนาท
อันวัดสระมะดันสร้างขึ้นในสมัยใดไม่มีใครทราบแต่อาจสันนิษฐานได้ว่ามาโดนทำลายและร้างเอาตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ซึ่งตามหลักฐานบรรดากองตระเวณของทหารพม่าจะปล้นทำลายวัดทุกวัดที่ได้ผ่านไปถึง และจนปัจจุบันแทบไม่เหลือเค้าโครงของวัดให้เห็น นอกจากเนินดินและเศษอิฐบางก้อนเท่านั้น นอกจากนี้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ อบต.ทางพระร่วมกับชาวบ้านสร้างไว้เพื่อเป็นที่ระลึกกราบไหว้ของคนในพื้นที่
การแตกกรุเกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ กว่าๆ(สมัยนั้นผมคิดว่าน่าจะยังพอเหลือซากที่บ่งชี้ว่าเป็นโบราณสถานให้เห็นอยู่บ้าง) เมื่อครั้งนั้นฝนตกหนักน้ำท่วม มีเด็กคนหนึ่ง(ขอสงวนชื่อ)นำควายขึ้นไปพักบนโคก ดินที่ชุ่มฉ่ำน้ำจนนุ่มและเกิดยุบและทลายตัวลง จึงพบแผ่นหินปิดปากกรุไว้โดยบังเอิญ เมื่อเปิดออกจึงพบพระกรุดังกล่าวอยู่ในหลุม เป็นพระที่มีพระศิลปะอู่ทอง-สุวรรณภูมิ(เหตุใดจึงเรียกพระร่วง?) พระในกรุที่พบได้แก่ พระร่วงยืนปางห้ามสมุทรเนื้อสำริดขนาดใหญ่๑เป็นประธาน(เพียงองค์เดียว) พระร่วงปางประทานพร(พระร่วงตีนเป็ด)๑จำนวน ๒๐๐ องค์เป็นประมาณปักดินรายล้อมรอบพระองค์ประธานอยู่ ปรากฎทั้งเนื้อชินเงินและเนื้อตะกั่วสนิมแดง ในจำนวนนี้มีพระที่สมบูรณ์เพียงกึ่ง๑ พระร่วงกรุนี้นอกจากองค์ประธานที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีแล้ว พระร่วงองค์อื่นๆถูกบรรดาคนต้นกรุเมื่อครั้งกระโน้นนำไปเล่นโยนทอยเส้นจนชำรุดเสียหายไปอีกเป็นอันมาก
พระร่วงยืนตีนเป็ดกรุบ้านทางพระ มีอยู่ด้วยกัน๓พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์ปีกแมงดา๑ พิมพ์เล็กหรือพิมพ์ต้อ๑ และในพิมพ์ต้อก็ยังแบ่งเป็นพิมพ์ต้อประคตวงรีอีก๑(นอกนั้นเป็นประคตกระจับแบบซุปเปอร์แมน) ทั้งหมดปรากฎทั้งเนื้อชินเงินและเนื้อตะกั่วสนิมแดงมีทั้งแดงมากแดงน้อย โดยพิมพ์ปีกแมงดาจะมีขนาดความสูงประมาณ๖cm กว้างประมาณ๒cm และพิมพ์ต้อจะมีขนาดความยาวประมาณ๕cm ความกว้างนั้นเล่าไม่แน่นอนเพราะพระถูกตัดปีกออกก่อนบรรจุลงกรุ บางองค์นั้นเล่าเป็นพิมพ์ปีกแมงดาแต่ปีกชำรุดหลุดไปจนเล่นหาเป็นพิมพ์ต้อก็มี บ้างเป็นพิมพ์ปีกแมงดาแต่ถูกตัดแต่งปีกไปบางส่วนจนแลดูแปลกตาก็มี อย่างไรก็ดีด้านหลังขององค์พระทุกองค์จะเว้าเป็นแอ่งกระทะ๑ หรือเป็นลายผ้าบาง๑ หรือหลังหยาบขึ้นเม็ดขรุขระ๑ หรือหลังตันอีก๑ จุดในการพิจารณาก็อยู่ที่ด้านหลัง ต้องมีความเป็นธรรมชาติ
จากปากคำของคนต้นกรุกล่าวว่ามีพระร่วงนั่งขึ้นมาด้วยแต่น้อยมากและอาจมีเพียง๑ ข้อมูลที่แท้จริงนั้นพบพระร่วงตีนเป็ดเนื้อชินเงินมากกว่าเนื้อตะกั่วสนิมแดง๑๐เอา๑
ปัจจุบันพระร่วงกรุนี้ที่สวยสมบูรณ์ซึ่งมีน้อยมากก็กระจัดจายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ก็เป็นที่หวงแหนของชาวบ้านมาก มักจะไม่ยอมขายให้ใครง่ายๆ