ชินราชใบเสมา พิมพ์กลาง เลี่ยมนาคเก่าห้อยเหลือสภาพแค่นี้เองครับ
หายากนะเนี่ย
น่ารักเหลือเกินครับ
ทดสอบ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหญ่ เป็นพระอารามหลวงที่ยิ่งใหญ่ของขอมใน พ.ศ.๑๖๐๐ ยุคที่ขอมเรืองอำนาจ สมัยต่อมาอาจมีการสร้าง รื้อถอน แก้ไขต่อเติม ทับของเดิม เอาไว้เรื่อยกันมา จุดเด่นของวัดนี้ คือ พระปรางค์ใหญ่ ภายในได้บรรจุปฏิมากรรมรูปเคารพสมัยลพบุรี อายุมากถึง ๙๕๕ ปี โดยมีเป็นจำนวนมาก เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๓๐ ได้มีคนร้ายลอบเข้าไปเปิดกรุในพระปรางค์ ได้สมบัติโบราณอันมีค่ามากมาย รวมทั้งพระพุทธรูปและพระเครื่องอีกจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์ในครั้งนั้น คือ ที่มาของสุดยอดพระเครื่องพิมพ์หนึ่ง ที่แสดงออกของศิลปะลพบุรี ด้วยฝีมืออันยอดเยี่ยม ปรากฏโฉมเป็นครั้งแรกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่พบเห็น คือ พระหูยาน รวมทั้งพระพุทธรูปที่ขึ้นมาจากกรุเดียวกันนี้อีกหลายองค์ พระหูยาน ที่ได้ขุดพบนี้ นับเป็นการขุดพบเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่า พระหูยาน กรุเก่า เป็นพระต้นสกุล พิมพ์หูยาน ที่ยังไม่เคยมีการพบเห็นพระพิมพ์นี้จากที่อื่นใดมาก่อนเลย ต่อมา ได้มีผู้ขุดพบพระพิมพ์นี้จากกรุวัดอื่นๆ ที่อยู่ในตัวเมืองลพบุรี อีกหลายแห่ง แต่อายุและศิลปะ ยังน้อยกว่ากรุแรก เช่น กรุวัดรามอินทรา, กรุวัดปืน และอีกหลายวัดที่ไม่ปรากฏหลักฐานมาก่อน นอกจากนี้ ยังขุดพบ พระหูยาน ที่เมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง ซึ่งต่างรับเอาอิทธิพลของพระเครื่องพิมพ์นี้ไปสร้างต่อๆ กันมา จนถึงสมัยอยุธยา รวมทั้งทุกวันนี้ก็ยังมีวัดต่างๆ นิยมสร้าง พระหูยาน ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบ พระย้อนยุค โดยมีจุดประสงค์คือ เพื่อสืบทอดพระศาสนาในรูปแบบให้ทำบุญบูชา พระหูยาน เท่าที่ปรากฏอยู่ในวงการครั้งแรก แยกออกได้เป็น ๓ พิมพ์ คือ ๑.พระหูยาน พิมพ์บัว ๒ ชั้น ๒.พระหูยาน พิมพ์บัวชั้นเดียว (หรือ “หน้ายักษ์”) และ ๓.พระหูยานพิมพ์พิเศษ พุทธลักษณะของ พระหูยาน เป็นพระปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) องค์พระประทับนั่งบนบัวเล็บช้างห้ากลีบ พระศกทำเป็นแบบผมหวี พระเกศทำเป็นมุ่นผมขมวดปมไว้ ๒ ชั้น ดูคล้ายกับมอญโพกผ้า สัญลักษณ์สำคัญของพระพิมพ์นี้คือ ใบหูทั้ง ๒ ข้างจะยานยาวเป็นพิเศษ จนเกือบติดบ่า อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พระหูยาน โดยเฉพาะรายละเอียดด้านพระพักตร์นั้น งดงามคมชัดมาก ชนิดที่เห็นพระเนตรพระกรรณอย่างชัดเจน เรียกกันง่ายๆ ว่า “งามเห็นหูตากะพริบ” นั่นเอง พระพักตร์ของ พระหูยาน หน้ายักษ์ นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่างยุคโบราณจงใจแสดงความยิ่งใหญ่ ในความเป็นมหาอำนาจทางทหารในยุคนั้น โดยฝากศิลป์ไว้กับพระพิมพ์นี้ดุจดั่งราวกับว่าท่านเป็น ขุนศึกแห่งกรุงละโว้ ท่านปรมาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์ กล่าวถึงว่า ทำไมจึงเรียกว่าพิมพ์ หน้ายักษ์ ในพระพักตร์ของพระพิมพ์นี้ ไว้ดังนี้...เพราะอยู่ในลักษณะที่เคร่งเครียด ในการแสดงออกทางพระพักตร์ ยังให้ความประทับใจเร้าอารมณ์แก่ผู้พบเห็น จนบางครั้งเราอาจเห็นท่านแย้มยิ้ม ราวกับเทพเจ้าแห่งความปรานี โดยเห็นรอยพระสรวลที่แสยะกว้าง จึงเรียกว่า หน้ายักษ์ ก็เพราะทำให้เราเห็นท่านดุดันราวกับขุนศึกผู้อยู่ในอารมณ์เคร่งเครียดปาน นั้น พระหูยาน พิมพ์ บัวชั้นเดียว ยังแยกย่อยออกมาตามพิมพ์ทรงและขนาดขององค์พระได้ ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก พระหูยาน พิมพ์ “บัวชั้นเดียว” นี้ ยังมีการพบได้อีก ในพ.ศ.๒๕๐๘ เรียกว่า พระกรุใหม่ เป็นพระพิมพ์เดียวกันทั้งหมด มีรายละเอียดเหมือนกันทุกประการ ต่างกันที่เวลาที่ขุดพบ จากการขุดพบครั้งแรก ถึงกรุสุดท้าย ห่างกันถึง ๕๘ ปี ในสนามพระ พระกรุเก่า ส่วนมากจะพบเห็นเป็นพิมพ์ใหญ่เกือบทั้งหมด พิมพ์กลางมีน้อยมาก ยิ่งพิมพ์เล็กด้วยแล้ว แทบเป็นตำนาน ไม่เห็นของจริงที่เป็นพระแท้ๆ เลย ส่วนมากจะพบเห็นแต่พระกรุใหม่ ที่มีทั้งพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์กลาง จำนวนมาก ส่วนพิมพ์เล็กพอมีบ้าง แต่มีจำนวนน้อย เซียนพระหลายท่านบอกว่า ลักษณะของใบหน้า พระหูยาน มีส่วนเหมือนกับ ใบหน้าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ปราสาทบายน เมืองเสียมราฐ เขมร มากที่สุด เป็นใบหน้าที่อิ่มเอิบแบบผู้มีบุญบารมีสูง ยิ้มเล็กน้อย และแฝงไว้ด้วยความเมตตาเป็นที่ตั้ง จนมีผู้กล่าวกันว่า เป็น รอยยิ้มแบบบายน อิทธิพลของรูปลักษณะพระโพธิสัตว์แห่งปราสาทบายน ในสมัยขอมโบราณ ช่วงที่มีความเจริญสูงสุด และได้แผ่อาณาจักรมาจนถึงเมืองละโว้ ได้ถูกถ่ายทอดลงสู่องค์ พระหูยาน อย่างเต็มรูปแบบ พระหูยาน ทั้ง ๓ พิมพ์ ๒ กรุ มีขนาดต่างกันเล็กน้อย ดังนี้ พิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒.๗ ซม. สูง ๕.๕ ซม. พิมพ์กลาง กว้าง ๒.๕ ซม. สูง ๕.0 ซม.พิมพ์เล็ก กว้าง ๒.๒ ซม. สูง ๔.๕ ซม. ส่วนพุทธคุณนั้น เป็นที่เชื่อถือกันมานานปีแล้วว่า ครบถ้วนทุกด้าน โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี เป็นเลิศสุดๆ ตามแบบฉบับของเมืองลพบุรี ท่านที่นิยม พระหูยานราคาถูกๆ ควรระวัง ของจริงแท้มีน้อย และหายาก ให้ตรวจสอบอย่างละเอียดชัดเจนก่อนเสียเงินเช่าบูชา