พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
อู้ได้ซะป๊ะเรื่อง

ประวัติบ้านยั้งเมิน อ.สะเมิง

   
 

ประวัติบ้านยั้งเมิน

 

          ประวัติความเป็นมาของบ้านยั้งเมินนี้ผู้เขียนได้พยามเขียนขึ้นจากการศึกษาเอกสาร และจากข้อมูลที่ได้ฟังจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วนำมารวบรวมเรียบเรียงเป็นประวัติความเป็นมาของบ้านยั้งเมิน ซึ่งบางส่วนก็สันนิษฐานเอาจากข้อมูล และสภาพท้องถิ่นที่พบเห็น

                ก่อนที่จะศึกษาประวัติบ้านยั้งเมิน ควรทราบความหมาย และที่มาของคำว่ายั้งเมินเพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าสู่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ 

  1. ความหมายและที่มาของคำว่า ยั้งเมิน

๑.๑  ความหมายคำว่า ยั้งเมิน

                คำว่า ยั้งเมิน ไม่มีกำหนดไว้ในพจนานุกรมฉบับใดใด แต่หากเป็นภาษาถิ่น

หมายถึง พักนาน หยุดนาน ซึ่งมาจากคำสองคำรวมกัน คือ ยั้ง กับ เมิน

                                ยั้ง หมายถึง หยุด พัก

                                เมิน  หมายถึง  นาน

                เมื่อนำคำสองคำดังกล่าวนี้มารวมกัน ยั้งเมิน จึงหมายถึง หยุดพักนาน

๑.๒ ที่มาของคำว่า ยั้งเมิน

                คำว่า ยั้งเมิน มีที่มาจาก ๒ ทาง คือจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่ใน

ท้องถิ่นเรื่องตำนานพระเจ้าเลียบโลกและจากตำนานเรื่อง กว๋างคำ (กวางทอง)

๑.๒.๑ จากคำบอกเล่าหรือเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกับมาในท้องถิ่น  คำว่ายั้งเมินมีที่มาจาก

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก หรือตำนานที่เล่าและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตกทอดสืบต่อกันมาว่า สมัยพุทธกาลเมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม ตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์ได้เสด็จออกโปรดเวไนยสัตว์ในชมพูทวีป ตามชนบทต่างๆ หนึ่งในเส้นทางเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ พระองค์ได้เสด็จผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาอันไกลโพ้น พุทธองค์ก็ทรงเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ตามที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ ในวันนั้นเองด้วยที่พระองค์เสด็จด้วยระยะทางอันยาวไกลและเนิ่นนาน สายสะพายบาตร ของพุทธองค์จึงขาดไม่สามารถเสด็จต่อไปได้ จึงต้องหยุดพัก ณ หมู่บ้านแห่งนี้เพื่อหาเส้นฝ้ายมาทำสายบาตร แต่หาจนทั่วหมู่บ้านหาเท่าไหร่ก็ไม่มีฝ้าย ซึ่งระยะเวลาที่พุทธองค์หยุดพักเพื่อหาฝ้ายมาทำสายบาตรครั้งนั้นนานพอสมควร จึงเป็นเหตุให้หมู่บ้านดังกล่าวต่อมาได้ชื่อว่าบ้านยั้งเมิน และยังมีเรื่องเล่าต่อมาว่า เมื่อหาฝ้ายที่บ้านยั้งเมินไม่ได้พุทธองค์ก็เสด็จไปหาหมู่บ้านอื่นๆ ใกล้เคียงและครั้งนั้นพระพุทธองค์ก็หาฝ้ายเพื่อมาทำสายบาตรได้จากหมู่บ้านแม่สาบซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน จากที่พระพุทธองค์หาฝ้ายทำสายบาตรที่บ้านยั้งเมินไม่ได้ครั้งนั้นจึงเป็นเหตุให้ บ้านยั้งเมินปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทำผ้าฝ้ายไม่มีคุณภาพตรงกันข้ามบ้านแม่สาบเป็นหมู่บ้านที่ปลูกฝ้ายได้สวยมีคุณภาพ

              ๑.๒.๒  จากตำนานเรื่อง กว๋างคำ (กวางทองคำ) ซึ่งเป็นตำนานเกี่ยวกับที่มาชื่อหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอสะเมิง ซึ่งบันทึกหรือจารในคัมภีร์ใบลาน เป็นอักษรล้านนา (ปัจจุบันอยู่ที่วัดแสนทอง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ) ในตำนานนี้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับนายพรานซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ วันหนึ่งนายพรานออกไปล่าสัตว์ตามกิจวัตรที่เคยปฏิบัติวันนี้นายพรานออกไปล่าสัตว์บริเวณดอยคำ (ดอยคำ เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของดอยสุเทพ ในเขตพื้นที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) แต่วันนี้พิเศษกว่าวันอื่นๆ คือนายพรานไปเจอกวางซึ่งมีขนสีเหมือนทองคำอร่ามไปทั่วร่างกาย สวยงามยิ่งนัก(ต่อจากนี้ผู้เขียนจะเรียก กวางตัวนี้ว่า กว๋างคำ ตามภาษาท้องถิ่น กว๋าง = กวาง, คำ = ทองคำ) นายพรานจึงกลับมาตามพรรคพวกออกไปล่ากว๋างคำตัวดังกล่าว

                        กว๋างคำเมื่อถูกนายพรานตามล่าก็หนีขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อกว๋างคำผ่านไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งต่อมาก็เป็นเหตุให้เกิดเป็นที่มาของชื่อสถานที่นั้นๆ เช่น เมื่อพรานล่ากว๋างคำมาได้ระยะทางไกลพอสมควร  กว๋างคำเกิดวิ่งหายลับตามไปตามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ แม้แต่กลิ่นนายพรายก็ยังตามหาไปเรื่อยๆจนกระทั่งมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งสุนัขของนายพรานก็ได้กลิ่นกว๋างคำ(ได้กลิ่น ภาษาท้องถิ่น พูดว่า สาบกลิ่น) จึงเป็นเหตุให้บริเวณนั้นต่อมาเมื่อมีผู้คนอาศัยตั้งเป็นหมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า บ้านแม่สาบ เป็นต้น บ้านยั้งเมินก็เช่นเดียวกัน เมื่อนายพรายล่ากว๋างคำผ่านสถานที่หมู่บ้านต่างๆและสามารถจับกว๋างคำได้แล้วก็นำเนื้อกว๋างคำมาชำแหละย่างที่บริเวณลำห้วยแห่งหนึ่งซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ห้วยย่าง (ห้วยย่างอยู่ในเขตพื้นที่บ้านยั้งเมิน ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่) การย่างเนื้อให้แห้งเป็นการถนอมอาหารให้สามารถเก็บเนื้อไว้ได้นานไม่เน่าเสีย  ด้วยระยะเวลาที่เนิ่นนาน และระยะทางที่ไกลแสนไกลในการตามล่ากว๋างคำ (ระยะทางจากดอยคำ ถึงบ้านยั้งเมิน ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร)พรานทั้งหลายก็คงเหน็ดเหนื่อยพอสมควร จึงถือโอกาสพักผ่อนไปด้วยในช่วงเวลาที่รอเนื้อกว๋างคำแห้ง จากระยะเวลาที่นายพรายพักเหนื่อยในการเดินทางซึ่งนานพอสมควร ต่อมาเมื่อบริเวณนั้นมีการตั้งถิ่นฐาน หมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า บ้านยั้งเมิน

                        จากข้อสันนิษฐาน คำบอกเล่า หรือตำนานก็ตาม คำว่ายั้งเมินจะมีที่มาอย่างไร และมีข้อเท็จจริงเพียงใดก็ไม่มีเอกสาร หลักฐานยืนยันชัดเจน หรือสามารถยืนยันความถูกต้องได้ ดังนั้นที่มาของคำว่ายั้งเมินจึงมีที่มาจากคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาและจะเล่าสืบต่อกันไปจนกว่าจะมีผู้ที่สามารถค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยันความเป็นมาที่ถูกต้องได้

                       

  1. ประวัติความเป็นมาของบ้านยั้งเมิน

ประวัติความเป็นมาของบ้านยั้งเมินนั้นไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานแน่ชัดว่า

ชนกลุ่มหรือชนเผ่าใดตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้มาก่อน แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี ตำนาน 

ความเชื่อ ต่างๆที่พบในปัจจุบันสามารถแบ่งพัฒนาการของชุมชนได้เป็น 3 ยุค ดังนี้

 

๒.๑  ชุมชนโบราณในอดีต

          จากคำบอกเล่า หรือตำนานที่มาของชื่อหมู่บ้านก็คงสันนิษฐานได้ว่า บริเวณบ้าน

ยั้งเมินแห่งนี้มีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้เขียนศึกษาเอกสาร ตำนานต่างๆ และความเป็นไปได้ที่มีเอกสารหลักฐานยืนยันได้พอสมควร ว่าชุมชนเกิดขึ้นบริเวณนี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งเป็นช่วงที่พระนางจามเทวี ปกครองนครหริภุญไชย และเกิดการทำสงครามกับขุนหลวงวิรังคะซึ่งเป็นหัวหน้าปกครองชนเผ่าลัวะตั้งชุมชนถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ (สรัสวดี อ๋องสกุล, ๒๕๓๙, หน้า ๕๓) และการทำสงครามครั้งนั้นขุนหลวงวิรังคะพ่ายแพ้ ซึ่งตามคำบอกเล่าพบว่าการแพ้สงครามครั้งนั้นขุนหลวงวิรังคะจึงปลิดชีพตัวเองด้วยเสน้า(เสน้าเป็นอาวุธชนิดหนึ่งคล้ายหอกแต่มีขนาดใหญ่กว่า) ทำให้ลัวะขาดหัวหน้าผู้ปกครองต้องหนีกระจัดกระจายอพยพไปตามป่าเขาและสถานที่ต่างๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าการอพยพของลัวะครั้งนั้นน่าจะอพยพมาถึงบ้านยั้งเมินด้วย และได้ตั้งชุมชนขึ้นตามไหลเขา เชิงเขาต่างๆ  โดยมีบ้านยั้งเมินเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงเห็นว่าบริเวณนี้ลัวะเคยตั้งชุมชนอาศัยอยู่มาก่อน พอที่จะบ่งชี้พัฒนาการของชุมชนยุคแรกเริ่มได้บ้าง ถึงแม้จะมีอยู่น้อยมาก ดังนี้

                                (๑)  โบราณสถาน ได้แก่ วัดร้างต่างๆในเขตพื้นที่บ้านยั้งเมินซึ่งมีหลายแห่งตามเชิงเขา  บริเวณลั๊วรำวง

                                                1. วัดร้าง(วัดห่างลั๊วะ)

                                                2. ลั๊วรำวง

                                (๒) วัตถุโบราณ เช่น กล้องยาสูบดินเผา ซึ่งพบในบริเวณไร่นาของชาวบ้าน และบริเวณที่ใกล้กับวัดร้าง

                                (๓) ความเชื่อ  เนื่องจากลัวะเคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นเวลานาน ความเชื่อของลัวะจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความเชื่อเรื่องขุนหลวงวิรังคะ โดยในหมู่บ้านยั้งเมินจะมีป่าละเมาะบริเวณเกือบท้ายหมู่บ้าน ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกดงก๋รรม หรือดงเจ้านาย และเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของเจ้าพ่อข้อมือเหล็กสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านหรือเจ้าบ้าน พร้อมกับบริวาร มีหน้าที่ดูแล ปกปักรักษาหมู่บ้าน ผู้คนในหมู่บ้านซึ่งนับว่าเป็นลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาลสัตว์เลี้ยง พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์  โดยในดงก๋รรมนี้จะมีพื้นที่กว้างพอสมควร มีศาลาใหญ่เป็นศูนย์กลางอยู่หนึ่งศาลา ชาวบ้านเรียกว่า หอเจ้านาย ตรงกลางเป็นพื้นที่ว่างสำหรับทำกิจกรรมเรียกว่า ข่วงเจิง (ข่วงเจิง หมายถึง บริเวณที่ใช้สำหรับฟ้อนเชิงฟ้อนดาบ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ประเภทหนึ่งของชาวล้านนาและเหตุที่เรียกบริเวณว่างในดงก๋รรมว่าข่วงเจิง เพราะเป็นที่สำหรับฟ้อนเชิงฟ้อนดาบของเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก) และนอกจากเชื่อเรื่องเจ้าข้อมือเหล็กแล้วชาวบ้านยั้งเมินยังเชื่อและนับถือขุนหลวงหมะลังก๊ะ (วิรังคะ) อีกด้วย

                                จากที่กล่าวมาจึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้มีชุมชนลัวะเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ก่อนที่ชนเผาอื่นจะเข้ามาอยู่อาศัย

 

๒.๒ ชุมชนยุคที่ ๒

          ลัวะกลุ่มที่อพยพเข้ามาสมัยขุนหลวงวิรังคะแพ้สงครามพระนางจามเทวีก็ยังคงตั้ง

บ้านเรือนชุมชนอาศัยอยู่บริเวณนี้เรื่อยมาอย่างมีความสุข และพัฒนาชุมชนให้เจริญรุ่งเรือง เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาโดยเห็นได้จากมีวัดวาอารามร้างหลายแห่งตามป่าเขาซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัดร้างหรือภาษาถิ่นเรียกว่าวัดห่างลัวะโดยมีวัดยั้งเมินเป็นศูนย์กลาง

 ย้อนกลับไปคราวเมื่อขุนหลวงวิรังคะพ่ายแพ้สงคราม ยังมีลัวะบางกลุ่มที่ไม่

อพยพหลบหนี ยังคงรวมตัวกันปักหลักตั้งชุมชนอาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ(สรัสวดี อ๋องสกุล, ๒๕๓๙, หน้า ๕๓)  จนกระทั่ง พ.ศ. ๑๘๐๒  ได้เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ พญามังราย กษัตริย์องค์ที่ ๒๕ แห่งราชวงค์ลาว กษัตริย์ผู้ครองเมืองเงินยาง ได้ขยายอำนาจเข้ายึดครองรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อย เข้ามาเป็นอาณาที่เป็นปึกแผ่นมั่นคง   เมืองต่างๆที่พญามังรายรวมรวมเข้าด้วยกันได้สำเร็จได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มแคว้นโยน เมื่อแคว้นโยนของพญามังรายเป็นอาณาที่เป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว พญามังรายก็วางแผนขยายอาณาเขตการปกครองลงมาถึงแคว้นหริภุญไชยซึ่งอยู่ทางทิศใต้ด้วย เพราะแคว้นหริภุญไชยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งพญามังรายสามารถเข้าตียึดครองแคว้นหริภุญไชยได้สำเร็จใน พ.ศ. ๑๘๓๕ แคว้นหริภุญไชยจึงถูกผนวกเข้ากับแคว้นโยน  โดยมีลัวะกลุ่มที่อาศัยอยู่เชิงดอยสุเทพสมทบกำลังช่วยเหลือพญามังรายในการเข้าตียึดครองหริภุญไชย  เมื่อสองแคว้นใหญ่ถูกรวมเข้าด้วยกันจึงก่อรูปเป็นอาณาจักรเรียกว่า อาณาจักรล้านนา (สรัสวดี  อ๋องสกุล, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๒ - ๑๐๖) ลัวะที่อาศัยอยู่ในเวียงนพบุรีก็ค่อยๆ สลายความเป็นชนเผ่า กลมกลืนกลายเป็นชนพื้นเมือง และอยู่ภายใต้การปกครองของพญามังราย ซึ่งก็อยู่อย่างเป็นปกติสุขตลอดมา โดยพญามังรายสร้างเวียงกุมกามเป็นเมืองหลวง (พ.ศ. ๑๘๓๗) และต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงมาสร้างใหม่ในที่ที่มีชัยภูมิดีกว่าและให้ชื่อว่า เวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่

 

๒.๓ ชุมชนยุคที่ ๓

          เมื่อพญามังรายรวบรวมเมืองต่างๆเข้าเป็นแคว้นล้านนาที่เป็นปึกแผ่นแล้ว ก็มี

กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองครแห่งราชวงค์มังรายสืบมาหลายสมัยหลายพระองค์  ไพร่ฟ้าแผ่นดินก็อยู่กันอย่างปกติสุข จนถึงสมัยเจ้าฟ้าเมกุฎ พม่าได้ลุกรานเข้ามาในแว่นแคว้นล้านนา ทัพของเจ้าฟ้าเมกุฎเกิดความพ่ายแพ้แก่พม่า  อันเป็นการสิ้นสุดราชวงค์มังรายโดยมีเจ้าฟ้าเมกุฎเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงค์มังราย และพม่าก็เข้าครอบครองเมืองเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นปกติสุข ผลมาจากศึกสงครามทำให้ล้านนาเชียงใหม่เกือบจะกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนต่างหนีกระจัดกระจายไปในที่ต่างๆเอาตัวรอดจากการรุกรานข่มเหงรังแกจากพม่า

                                จนกระทั่งในสมัยพระเจ้ากาวิละ ได้รับสถาปนาให้ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ได้เข้ามากอบกู้เมืองเชียงใหม่โดยกวาดต้อนรวบรวมไพร่พลจากเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ในช่วงนี้เองชาวไทยลื้อและ กะเหรี่ยงบางส่วนที่ถูกกวาดต้อนมาด้วย ได้อพยพมาย้ายถิ่นมาอยู่ในพื้นที่อำเภอสะเมิง กลุ่มที่เป็นไทยลื้อได้ตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านท่าศาลา บ้านดงช้างแก้ว ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่และบ้านแม่สาบ  ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่  ส่วนกะเหรี่ยง ได้ตั้งชุมชนกระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามป่าเขา ซึ่งสันนิษฐานว่า รวมทั้งบริเวณบ้านยั้งเมินนี้ด้วย นอกจากนี้ในสมัยเจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์หรือเจ้าชีวิจอ้าว ได้ยกทัพไปรบกับพม่าทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนและได้กวาดต้อนผู้คนซึ่งเป็นกะเหรี่ยงกลับมาด้วยโดยผ่านมาทางบ้านดงสามหมื่น อำเภอแม่แจ่ม และผ่านมาทางอำเภอสะเมิง สันนิษฐานว่าน่าจะผ่านมาทางบ้านยั้งเมินกะเหรี่ยงที่เข้ามาครั้งนั้นจึงมาตั้งรกรากที่บ้านยั้งเมินซึ่งเป็นเส้นทางที่อพยพผ่านสมทบกับกลุ่มที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว และได้บุกเบิกทำไร่ไถนา หาเลี้ยงชีพอย่างมีความสุขเรื่อยมา

                                จากเหตุการณ์ครั้งนั้นสันนิษฐานได้ว่า กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนกลุ่มที่สองที่อพยพย้ายถิ่นหรือถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งชุมชนอาศัยอยู่

 

๒.๔ ชุมชนปัจจุบัน

                                เมื่อเชียงใหม่มีสังคมที่เป็นปึกแผ่น พัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้านต่างๆ ไพร่ฟ้าประชาชนที่อาศัยอยู่มาก่อนก็ดำรงชีพอย่างมีความสุข  ผู้คนเมืองอื่นๆ ก็อพยพย้ายถิ่นเข้ามาหาความอุดมสมบูรณ์ ไพร่พลเมืองล้านนาจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงทำให้เกิดความหนาแน่นของประชากร แม้ผู้คนจะกระจัดกระจายขยายออกไปอาศัยอยู่ตามนอกเมืองแล้วก็ตาม จึงทำให้เกิดการขยับขยายอพยพย้ายถิ่นของคนในเมืองและบริเวณใกล้เคียงเข้ามาสู่ป่าสู่เขาเพื่อแสวงหาความอุดมสมบูรณ์ในการดำรงชีวิต และบ้านยั้งเมินก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการอพยพ เพราะบ้านยั้งเมินมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งเพียบพร้อมไปด้วยป่าไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาพันธุ์ จตุบท ทวิบาทต่างๆ เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานชุมชนที่อยู่อาศัย ประกอบสัมมาชีพ

                                จากความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจึงมีผู้คนชาวเมืองได้อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านยั้งเมิน ซึ่งไพร่พลที่อพยพเข้ามานั้นมาจากอำเภอสันป่าตองบ้าง แถวประตูสวนดอกเวียงเชียงใหม่(อำเภอเมือง เชียงใหม่)บ้าง แม้กระทั่งจากเมืองน่าน(จังหวัดน่าน)ก็อพยพเข้ามา ด้วยเหตุที่ถูกแซกแซงจากการอพยพของคนพื้นเมืองมากขึ้นส่งผลให้กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่มาก่อนและไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนพื้นเมืองต้องโยกย้าย อพยพถอยร่นทิ้งไร่นา ที่อยู่อาศัยออกไปตั้งถิ่นฐานไกลออกไปอีกตามป่าเขา และกลุ่มที่ปรับตัวได้ยอมรับวัฒนธรรมวิถีคนเมืองก็ยังคงอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเดิม ในที่สุดบ้านยั้งเมินก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ซึ่งที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมือง จนถึงปัจจุบัน

 

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านยั้งเมินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

สภาพโดยทั่วไปประมาณ 80 % ประกอบไปด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน แบบลอนลูกฟูก คือสูงๆ ต่ำๆ เทือกเขาเหล่านี้วางตัวมีแนวยาวไปทางทิศเหนือทิศใต้

                ขุนเขาน้อยใหญ่เหล่านี้จัดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำที่สำคัญตัดผ่านสองสาย คือ น้ำแม่ขาน และน้ำแม่จุม และมีแม่น้ำสาขาต่างๆ ลักษณะเช่นนี้จึงเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ชุมชน ดังจะพบว่าการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณบ้านยั้งเมินนี้มีความหนาแน่นกว่าบริเวณอื่นๆ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

อาณาเขต               ทิศเหนืออาณาเขตติดต่อ ตำบลโป่งสา อำเภอปาย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทิศใต้อาณาเขตติดต่อ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันออกอาณาเขตติดต่อ ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันตกอาณาเขตติดต่อ ตำบลแม่แดด และตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

 

ประชากร ๓,๐๙๓ คน ๗๗๖ หลังคาเรือน

ประเพณีท้องถิ่น บ้านยั้งเมินมีวัฒนธรรม จารีตประเพณี หลากหลายสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีการแฮกนา การเอาขวัญข้าว เลี้ยงผีปู่ย่าและเจ้านายเดือนเก้า มัดมือควาย ตานก๋วยสลาก ปอยหลวง เลี้ยงผีขุนน้ำ เลี้ยงผีฝาย มัดมือเดือนเก้า ตานข้าวใหม่(เดือนสี่ตานข้าวจี่ข้าวหลาม) ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า ตานผางประทีป(เดือนยี่เป็ง) และประเพณี อื่นๆ อีกมากมายที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่าง

เศรษฐกิจ ชาวบ้านยั้งเมินส่วนใหญ่ทำการเกษตรโดยปลูกพืชหมุนเวียนกันไปทุกฤดูกาล

 

เอกสารอ้างอิง

 

สรัสวดี  อ๋องสกุล. (2539). ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง.

สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอสะเมิง. (2535). สะเมิงปริทัศน์. 1(1) ,หน้า 79-81

อำเภอสะเมิง. (2546). 100 ปี อำเภอสะเมิง(พ.ศ. 2445-2545). มปพ.

 
     
โดย : เอก ยั้งเมิน   [Feedback +2 -0] [+0 -0]   Sun 29, Jan 2012 12:33:17
 
 

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบประวัติบ้านยั้งเมิน อ.สะเมิง ซึ่งเขียนขึ้นจากเอกสารหลักฐานต่างๆที่ชัดเจน เป็นห่วงว่าคนอ่านหากอ่านในที่อื่นๆจะเข้าใจผิดว่า ชื่อบ้านยั้งเมินมาจากการที่ครูบาศรีวิชัยสายบาตรขาดแล้วมาพัก ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะชื่อบ้านยั้งเมินมีมาก่อนแล้วและเมื่อครูบาศรีวิชัยมาบ้านยั้งเมินมาบูรณพระธาตุวัดยั้งเมินมีระยะเวลาไม่กี่สิบปี (ทวดเล่าให้ฟังยังอุ้มคุณย่าไปใส่บาตรท่าน, คุณตาก็เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเป็นเด็ก ได้ยินพระตี้ฆ้องแล้วร้องป่าวว่า ตุ๊เจ้าศีลธรรมา) ท่านมาจากบ้านเมืองแปง อ.ปาย ผ่านมาสร้างพระธาตุวัดจันทร์ อ.กัณลยานิวัฒนา (แม่แจ่มสมัยนั้น) ฉะนั้นชื่อยั้งเมินไม่มาจากที่ครูบาสายบาตรขาดแน่นอน

 
โดย : เอก ยั้งเมิน    [Feedback +2 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Sun 29, Jan 2012 12:41:35

 
ประวัติบ้านยั้งเมิน อ.สะเมิง : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.