พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ทั่วไป

หลวงปู่โต๊ะรุ่น 3 ปี16ที่1งานลำปาง


หลวงปู่โต๊ะรุ่น 3 ปี16ที่1งานลำปาง


หลวงปู่โต๊ะรุ่น 3 ปี16ที่1งานลำปาง

   
 

พระสมเด็จ เนื้อตะกั่ว รุ่น 3 พิมพ์ลายสานวิปัสนา ปี2516 ลป.โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กทม. หลังเรียบ มีเดือยที่ฐาน เนื้อจัดเข้ม  พระองค์นี้สภาพสวยมากๆ สมบูรณ์ หายากมาก  พิมพ์ทรงมาตรฐาน พุทธคุณครบ
 

 
     
โดย : samran   [Feedback +121 -1] [+0 -0]   Wed 4, Jan 2012 21:58:54
 








 

หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ วัดประดู่ฉิมพลี  กรุงเทพฯ

 

ข้อมูลประวัติ

เกิด                         วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2430  ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เป็นบุตรของ นายลอย  นางทับ  รัตนดอน

บรรพชา                เมื่ออายุ 17 ปี พ.ศ.2447  ณ วัดประดู่ฉิมพลี

อุปสมบท               อายุ 20 ปี ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2450 ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม

มรณภาพ               วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2524

รวมสิริอายุ            93 ปี 10 เดือน 22 วัน

 

พระราชสังวราภิมณฑ์ ( โต๊ะ อินทสุวณณเถร ) วัดประดู่ฉิมพลี หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “หลวงปู่โต๊ะ” ท่านเป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุนยังเป็นอัฐศกตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙ ณ.บ้านคลองบางน้อย ตำบลบางพรมหม อำเภอคณฑี เป็นบุตร นายพลอย กับ นางทับ รัตนคอน มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคนหนึ่งชื่อ เฉื่อย เมื่อเยาว์วัยอยู่กับบิดามารดาและได้เล่าเรียนวิชาหนังสือไทยที่วัดเกาะแก้ว ปากคลองบางน้อย ใกล้บ้านเกิด ครั้นมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว ผู้เป็นญาติบวชอยู่กับพระอุดรคณารักษ์ วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ พาท่านมาฝากให้อยู่กับอธิการสุข วัดประดู่ฉิมพลี เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ส่วนนายเฉื่อยน้องชายนั้นมิได้ตามมาด้วย

บรรพชา อุปสมบท

         ท่านมาเรียนหนังสือต่อที่วัดประดู่ฉิมพลีอีกประมาณ ๔ ปี พออายุได้ประมาณ ๑๗ ปี ก็บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดนี้ โดยมีพระอธิการสุขเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียวพระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณะภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปาการะท่านต่อมา

         เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักวัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งมีพระอธิการคำเป็นเจ้าอาวาสปกครองสืบมา พร้อมกับเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรมหมอีกทางหนึ่งด้วย จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ อุตตราษาฒขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะแม นพศก ตรงกับ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๐ เวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) เป็นอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นอนุสาวนาจารย์ มีฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “อินทสุวณโณ” ได้เล่าเรียนปฏิบัติทั้งทางคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ทั้งสองด้าน ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และปีนั้นเองเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีว่างลงอีก เพราะพระอธิการคำมาณภาพทางคณะสงฆ์ จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม

 ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ และสมณศักดิ์
 
         พระอธิการโต๊ะได้บริหารงานของวัด ตลอดจนปกครองพระภิกษุสามเณรสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกด้วยความเที่ยงธรรมสม่ำเสมอ ประกอบด้วยเมตตากรุณาสงเคราะห์อนุเคราะห์ด้วยปัจจัยสี่ให้ได้รับความร่มเย็นทั่วหน้า ทั้งได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรม เป็นอจลพรมหมจรรย์ตลอดมา จึงได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์และสมณศักดิ์สูงขึ้นสูงขึ้นเป็นลำดับ คือ

         พ.ศ. ๒๔๕๕–๒๔๕๗ เป็นเจ้าคณะตำบลวัดท่าพระ
         พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นพระครูสังฆวิชิต ฐานานุกรมของสมเด็จพระวันรัต (เฮงเขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ แต่ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี
         พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูวิริยกิตติ
         พ.ศ. ๒๔๙๗ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทในราชทินนามเดิม (พัด จ.ป.ร.)
         พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระอุปัชฌายะ
         พ.ศ. ๒๕๐๖ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
         พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบบัญชีของวัดประจำตำบล วัดท่าพระ
         พ.ศ. ๒๕๑๑ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
         พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระสังวรวิมลเณร
         พ.ศ. ๒๕๒๑ เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสังวราภิมณฑ์

วัดประดู่ฉิมพลี

         พระราชสังวราภิมณฑ์ท่านอยู่กับวัดประดู่ฉิมพลีมาตั้งแต่เด็ก บรรพชาอุปสมบทที่วัดนี้ และได้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดนี้มาช้านานถึง ๖๙ ปีจนมรณภาพ พูดได้ว่าท่านผูกพันกับวัดประดู่ฉิมพลีอย่างแน่นแฟ้นมาตลอดชีวิต ท่านจึงเป็นธุระดูแลบูรณะปฏิสังขรณ์และทำความเจริญต่าง ๆ ให้แก่วัดของท่านเอง ความเจริญทั้งหลายทุก ๆ ด้านที่บังเกิดแก่วัดประดู่ฉิมพลีในทุกวันนี้ ถ้าจะพูดว่าเป็นผลงานของท่าน ก็ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้

         อันวัดประดู่ฉิมพลีนี้เดิมเรียกว่าวัดสิมพลี เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่นอกคู่กับวัดประดู่ในหรือวัดประดู่ในทรงธรรม จะเป็นวัดมีมาแต่เดิมหรือไม่ไม่ทราบได้ สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาพิชยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้สถาปนาขึ้นเมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสำเร็จบริบูรณ์เอาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นเวลาถึง ๘ ปี

         วัดประดู่ฉิมพลี อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีเนื้อที่เฉพาะเขตอาราม ไม่รวมที่ธรณีสงฆ์ถึง ๑๓ ไร่เศษ จัดว่าเป็นวัดใหญ่และงดงามมั่นคงมาก ผิดกว่าวัดที่เป็น “วัดราษฎร์” ทั่วไป ด้วยเหตุที่ท่านผู้สร้างท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีสูงในแผ่นดิน คือเป็น “ผู้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน” ทั้งยังว่าการพระคลังสินค้าด้วย ภูมิสถานที่ตั้งวัด คิดดูในสมัยก่อนจะต้องสง่างามอย่างยิ่ง ด้วยเขตวัดด้านหน้าจดคลองบางกอกใหญ่ (บางหลวง) ซึ่งเป็นคลองใหญ่ตลอดแนว มีศาลาท่าน้ำ มีลานหน้าวัดกว้างขวาง เขตพุทธาวาสมีกำแพงก่ออิฐถือปูน มีบัวทั้งข้างล่างข้างบนตลอดแนว บนกำแพงทำเป็นเสาหัวเม็ดยอดปริกห้าชั้น ลานหน้าวัดภายในกำแพงปูด้วยแผ่นหินแกรนิตจากเมืองจีนทั้งหมด ตรงกำแพงด้านหน้าเป็นประตูเข้าสู่พุทธาวาส ซึ่งประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักของวัด คือ

         ๑. อุโบสถขนาดใหญ่กว้าง ๖ วา ๒ ศอก ยาว ๑๖ วา ตั้งอยู่ลึกเข้าไปใกล้กับกำแพงด้านใน หรือด้านในขนานกับลำคลอง หน้าวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
         ๒. ถัดอุโบสถออกมาตรงกลางสร้างพระเจดีย์ทรงรามัญ องค์เจดีย์กลม แต่ฐานกบบัลลังก์เป็นแปดเหลี่ยม มีบัวประดับที่เชิงระฆัง ที่เหนือบัลลังก์ และที่ใต้ปลียอด กับ มีเครื่องประดับประดาที่ยอดดังเช่นเจดีย์รามัญทั้งหลายทั่วไป เจดีย์นี้สร้างไว้เหนือเรือนตึกแปดเหลี่ยม ซึ่งเสามีรายและและมีชานโดยรอบทำนองมณฑปแต่เรียกกันว่าวิหาร ภายในวิหารเดิมจะประดิษฐานสิ่งใดไม่ทราบแน่ ปัจจุบันนี้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็นของทำในชั้นหลัง
         ๓. ข้างนอกออกมามีวิหารน้อยมีมุขหน้าหลัง ๒ หลัง อยู่ตะวันออกหลังหนึ่ง ข้างตะวันตกหลังหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศใต้ ลงคลองบางกอกใหญ่ หลังตะวันออกประดิษฐานพระยืน หลังตะวันตกประดิษฐานพระไสยาสน์.
         ๔. หน้าวิหารน้อยทั้งสองนั้นมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุขขนาดย่อมอีกหลังละองค์
         ๕. นอกจากนี้ก็มีหอวัดระฆังและหอพระไตรปิฎก ซึ่งบัดนี้รื้อลงสร้างหอสมุดแทน สังฆาวาสอยู่ลึกลงไปทางข้างใต้ จะเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ เพราะรื้อลงปรับปรุงใหม่เกือบหมดแล้ว เหลือแต่กุฏิใหญ่ที่เป็นกุฏิเจ้าอาวาสหลังเดี่ยว
 

นั่งสมาธิในอุโบสถ วัดประดู่ฉิมพลี
         อาคารอันเป็นอุโบสถวิหารทั้งหมดสร้างตามแบบที่เรียกกันว่าเป็น “พระราชนิยม” ในรัชกาลที่ ๓ คือเป็นแบบที่มุ่งหมายให้ความมั่นคงถาวรยิ่งกว่าอื่น เพราะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตังแต่ในรัชกาลที่หนึ่ง เมื่อแรกสถาปนาพระนครกรุงเทพ ฯ มีอายุล่วงเข้า ๕๐ ปีแล้วเป็นฟื้น เกิดชำรุดทรุดโทรมลงทั่วกัน ถึงคราวต้องบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงรับภาระเป็นอันมาก ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ดังกล่าวนั้น นับเฉพาะวัดก็ถึง ๑๗ วัด

         ซึ่งแต่ละแห่งที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ เรียกได้ว่าเท่า ๆ กับสร้างใหม่ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดโมฬีโลกยาราม วัดอินทาราม เป็นต้น ทั้งยังทรงพระราชศรัธาสร้างขึ้นใหม่ ๓ วัด และพระราชทานทุนอุดหนุนผู้มีศรัทธาให้สร้างขึ้นด้วยอีกถึง ๓๓ วัด การซ่อมสร้างทั้งนั้นย่อมหมดเปลืองทุนทรัพย์จำนวนมาก ถึงเศรษฐกิจการเงินของบ้านเมือง จะกำลังมั่นคงรุ่งเรืองขึ้นมากในเวลานั้น ก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องการประหยัดและความคงทนทานถาวรด้วยเป็นหลัก ดังนั้นการสร้างทำอาคารสถานต่าง ๆ นอกจากจะสร้างทำตามแบบสถาปัตยกรรมไทยแท้อย่างเดิมแล้ว

         จึงได้ทรงสร้างตามแบบที่ทรงพระราชดำริแก้ไขขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือความแข็งแรงมั่นคงเป็นหลักด้วย ตามแบบพระราชนิยมอย่างใหม่นี้ ส่วนของอาคารส่วนใดที่ทำด้วยไม้และพอจะเปลี่ยนเป็นอิฐเป็นปูนได้เป็นเหลี่ยม ส่วนประดับประดาที่เคยใช้ไม้มาวาดเจียนจำหลักจนบอบบาง เช่นช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ก็โปรดให้ลดเสีย หรือใช้อิฐปูนก่อตั้งแทน ลายจำหลักไม้ปิดทอประดับกระจกก็เปลี่ยนเป็นลายปั้นปูนประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ สี หน้าบันอย่างเก่าที่มีไขราคูหา เป็นที่น้ำฝนจะติดขัง นกหนูจะอาศัยทำรังให้รกรุงรังได้ ก็เปลี่ยนเป็นหน้าบันก่อปูนปิดตันหมดเป็นกะเท่เซ น้ำฝนขังติดอยู่ได้เหมือนแบบเก่า ดูตัวอย่างได้ที่วัดที่ทรงสถาปนาและที่ผู้อื่นสถาปนามากมายหลายวัด เช่น วัดราชโอรส วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดา วัดนางรอง วัดอัปสรสวรรค์ วัดจันทาราม วัดสัมพันธวงศ์ (รื้อแล้ว) วัดกลางจังหวัดสมุทรปราการ วัดนางชี วัดเศวตฉัตร วัดมหรรณพาราม วัดกัลยานิมิตร ดังนี้ อุโบสถวัดประดู่ฉิมพลี

 ขอบคุณที่เมตตาเข้ามาเยี่ยมชมครับ

 
โดย : samran    [Feedback +121 -1] [+0 -0]   [ 1 ] Wed 4, Jan 2012 22:00:18





 

พระสวยมากครับ ท่านอาจารย์ เล่นทุกสายเลย...อีกหน่อยจะเป็นเซียนใหญ่ ตัวจริง  นับถือ จากใจครับ...

 
โดย : พระธนบดี    [Feedback +67 -0] [+0 -0]   [ 2 ] Wed 4, Jan 2012 22:42:07

 

สุดยอด

 
โดย : namirach    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Sat 7, Jan 2012 10:31:08

 
หลวงปู่โต๊ะรุ่น 3 ปี16ที่1งานลำปาง : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.