ครูบาศรีวิชัย หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ นักบุญแห่งล้านนาไทย พระมหาเถระ ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างถนนทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศไทย (ล้านนา) ว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน "ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ
ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ เฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ
- นายไหว
- นางอวน
- นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
- นางแว่น
- นายทา
ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ช่วง พ.ศ. 2414-2431) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน
ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วเนาวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา 5 เดือน กับ 22 วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478
ที่มา : วิกิพีเดีย |