พระกริ่งวัดตรีทศเทพ ปี ๒๔๙๑ พิมพ์พระประธาน
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระ วชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก” ทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งขึ้นที่บริเวณ หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ซึ่งครั้งนั้นทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งขึ้น ๒ แบบคือ “พระกริ่งแบบบาเก็ง” และ “พระกริ่งพิมพ์พระประธาน” ด้วย เนื้อทองผสม และโปรดให้จัดทำพิธีเททองขึ้น ๒ ครั้งคือครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน เวลา ๑๖.๐๕ น. จากนั้นทิ้งระยะห่างกัน ๒๘ วัน จึงโปรดทำพิธีเททองครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๙๑ เวลา ๑๐.๒๗ น. หลังจากทำการตกแต่งเสร็จแล้วจึงทรงบัญชาให้ประกอบพิธีสวดมนต์บริกรรมพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยทรงจุดเทียนชัยเริ่มพิธีเมื่อเวลา ๒๐.๐๐ น.
ครั้นเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ ตามขั้นตอนแบบโบราณแล้วได้ทรงโปรดให้นำเฉพาะ “พระกริ่งพิมพ์พระประธาน” ออกมาให้ผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปทำบุญเช่าบูชาทั้งที่ วัดบวรนิเวศวิหาร และที่ วัดตรีทศเทพมหาวรวิหาร เพื่อให้งานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต วัดตรีทศเทพฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหารอุปถัมภ์อยู่สำเร็จลุล่วงด้วยดีจึงกลายเป็นว่า “พระกริ่งพิมพ์พระประธาน” รุ่นนี้ของ “วัดบวรนิเวศวิหาร” กลายเป็น “พระกริ่งวัดตรีทศเทพฯ” ไปโดยปริยาย เนื่องจาก นักสะสมวัตถุมงคลในยุคนั้น ไม่ทราบความเป็นมาในพิธีการสร้างจึงเรียกกันติดปากเป็น “พระกริ่งวัดตรีฯ” ไป
ดังนั้นจึงถือว่าเป็นพระกริ่งที่มีจำนวนไม่มากจนเกินการ และยังพอมีหมุนเวียนให้ นักสะสมกระเป๋าเบา ได้สะสมบ้าง เพราะค่านิยมยังไม่สูงจเกินเอื้อม แม้ในปัจจุบัน “ค่านิยม” อาจจะสูงขึ้นมาบ้างก็ยังพอหามาสะสมได้ และอย่ามองข้าม “พระกริ่งวัดตรีฯ” ที่ชื่ออันถูกต้องก็คือ “พระกริ่งพิมพ์พระประธาน” เนื่องจากรูปแบบจำลองจาก “พระประธาน” ในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งก็คือ “พระพุทธชินสีห์” เฉกเช่นเดียวกันกับ “พระกริ่ง 7 รอบวัดบวรนิเวศวิหาร” ที่เวลานี้ราคาวิ่งทะลุไล่หลัง “พระกริ่งไพรีพินาศปี ๒๔๙๕” ไปมากแล้ว ( ปั่นกันทั้งคู่ ) เพียงแต่ “พระกริ่งพิมพ์พระประธาน” ที่พระหัตถ์มีหม้อน้ำมนต์ ส่วน “พระกริ่ง ๗ รอบ” ไม่มีหม้อน้ำมนต์เท่านั้น ส่วนเนื้อหาก็มี ๒ เนื้อคือ เนื้อเหลืองอมเขียวและอมแดง เฉกเช่นเดียวกันเนื่องจากผู้สร้างก็คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพียงแต่สร้างต่างกรรมต่างวาระคือ “พระกริ่งพิมพ์พระประธาน” สร้างขึ้นในโอกาสหารายได้เพื่อให้งาน ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตวัดตรีทศเทพมหาวรวิหาร สำเร็จลุล่วง ส่วน “พระกริ่ง ๗ รอบ” สร้างในวาระที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมีพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี
|