ผมเองก็ใช้กล้องฟูจิรุ่น 602Z และ 9600 อยู่ เวลาถ่ายมาโครไม่ควรตั้งให้ถ่ายที่ Auto ผมมีบทความเกี่ยวกับการถ่ายรูปเขียนได้สักพักแล้ว แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ ลองอ่านดู เผื่อจะมีข้อความที่เป็นประโยชน์แก่คุณบ้างจะได้ลองแก้ไขดู
การถ่ายรูปพระเครื่องด้วยกล้องดิจิตอล
ปัจจุบันกล้องถ่ายรูปมีการวิวัฒนาการไปมาก หลายคนมีกล้องถ่ายรูปดิจิตอลเป็นของตนเอง นักนิยมพระบางท่านเห็นรูปพระเครื่องสวยๆ จากนิตยสาร หรือตำรับตำราพระเครื่อง แล้วนึกกันว่า เราจะถ่ายรูปพระเครื่องที่มีอยู่ให้สวยกันได้อย่างไร ผู้ที่กำลังตัดสินใจว่าจะซื้อกล้อง จะได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ต้องมีในการ พิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อกล้องดิจิตอลมาใช้งานอีกด้วย ที่จริงแล้วหลักการในการถ่ายรูปไม่ว่าจะเป็นกล้องใช้ฟิลม์ หรือกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ก็มีหลักการในการถ่ายรูปเช่นเดียวกัน เพียงแต่วิธีการ และอุปกรณ์ที่ใช้งานบางตัว จะแตกต่างกันออกไป บทความนี้ขอให้ท่านอ่าน แล้วทำความเข้าใจให้ชัดเจน อย่าได้ข้ามไป สำหรับผู้ที่ยังไม่มีประสพการณ์ ยกเว้นท่านที่พอรู้ในการใข้กล้องมาพอสมควรบ้างแล้ว
ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้ชำนาญการพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องกล้องถ่ายรูป เพียงแค่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องกล้อง เรียนรู้ด้วยตนเองจากตำราต่างๆ และได้เคยใช้กล้องมาบ้าง และเนื่องมาจากว่า กล้องดิจิตอลไม่ต้องเสียเงินซื้อฟิลม์มาใช้ และไม่จำเป็นต้องนำฟิลม์ไปล้าง ซึ่งจะได้ชมผลงานทันทีที่ถ่ายรูป ดังนั้นเมื่อตนเองมีข้อสงสัย ก็ลองผิดลองถูก ทดลองตั้งค่าต่างๆเล่นดูได้หลากหลายๆรูปแบบ จนพอจะจับแนวทางได้ ก็เลยนำประสบการณ์ของตนเองมาบอกเล่า โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มี หรือกำลังจะมีกล้องดิจิตอล แล้วใคร่รู้ว่าเขาถ่ายรูปพระกันอย่างไร
กล้องดิจิตอลที่มีคุณสมบัติจะถ่ายรูปพระเครื่องได้นั้น ก่อนอื่นจะต้องมีปุ่มตั้งถ่าย มาโคร ( ถ่ายใกล้ ) หรือ ซุปเปอร์มาโครได้ ปุ่มที่ว่านี้เป็นปุ่มที่มีสัญลักษณ์ เป็นรูปช่อดอกไม้ดังรูป และที่สำคัญที่สุดจะต้องดูจากสเปคของกล้องด้วยว่า ระยะใกล้สุดของกล้องที่สามารถโฟกัสระยะชัดในการถ่ายมาโครได้เป็นเท่าใด ซึ่งกล้องแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันออกไป เช่นในกล้องที่มีราคาแพง มีความสามารถสูงๆสามารถโฟกัสได้ตั้งแต่ 1 ซ.ม. ไปถึง 10 ซ.ม. ในกล้องที่ราคาถูกลงไปก็อาจมีความสามารถลดลงในการโฟกัส คือตั้งแต่ 10 ซ.ม. ไปถึงห่างกว่านั้น แล้วแต่รุ่นของกล้อง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เมื่อติดตั้งกล้องเข้ากับแท่นถ่ายรูป โดยหันเลนซ์คว่ำลง เหนือพระที่จะถ่ายรูป ระยะห่างระหว่างหน้าเลนซ์ลงมาถึงพระที่จะถ่าย ซึ่งยิ่งถ้าใกล้ ภาพที่ได้ก็จะมีขนาดใหญ่ และสามารถจะเก็บรายละเอียดของพระที่จะถ่ายได้ชัดเจน ยิ่งถ้าขนาดความละเอียดของกล้อง (จำนวนพิกเซล Pixel ) นั้น ยิ่งถ้ามีความละเอียดสูงมากเป็น สิบล้านพิกเซล ( Pixel ) ด้วยแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถถ่ายภาพพระเครื่องที่มีขนาดเล็กจิ๋วได้ใหญ่ขึ้นอีกด้วย แต่จะต้องไม่ลืมว่า เมื่อเลนซ์สามารถเข้าใกล้พระที่จะถ่ายได้มาก ตัวเลนซ์ก็จะไปบังแสงรอบข้างที่ส่องตกลงที่องค์พระ ทำให้ส่วนหนึ่งขององค์พระมืดลง หรือเป็นเงาทาบ ทำให้ไม่น่าดู
อันต่อมาที่ต้องคำนึงถึงก็คือ กล้องนั้นๆจะต้องมีความสามารถ ในการตั้งค่าการเปิดรูรับแสงของเลนซ์ ซึ่งกล้องราคาถูกมักจะไม่สามารถปรับรูรับแสงที่ว่านี้ได้ โดยกล้องจะเปิดรูรับแสงอัตโนมัติให้ ซึ่งทำให้เราควบคุมความชัดลึกไม่ได้ ความหมายของคำว่า ความชัดลึก พูดง่ายๆก็คือ เมื่อเราตั้งโฟกัสความชัดของพระไว้ที่พระเนตร (หน้าตา)หรือ พระนาสิก (ปลายจมูก ) ภาพที่ได้จะมีความชัดที่หน้าตา หรือ ปลายจมูก แต่ระดับตัวซุ้มเรือนแก้วซึ่งสูงกว่า และระดับของพื้นผนังซึ่งอยู่ต่ำกว่า และรายละเอียดที่มีระดับต่างจากหน้าตาที่โฟกัสไว้อาจจะอยู่นอกระยะชัดที่โฟกัสไว้ ทำให้ส่วนนั้นเบลอ ซึ่งเรียกภาพอย่างนี้ว่ามีความชัดลึกของภาพต่ำ ทางแก้ก็คือถ้าต้องการให้ภาพที่ได้มีความชัดลึกของภาพสูง ก็ให้ตั้งค่าเปิดรูรับแสงของภาพให้เล็กๆ ( F11 หรือ F16 ) เท่าที่จะสามารถทำได้ และเมื่อเราตั้งค่าการเปิดรูรับแสงให้เล็กแล้ว เพื่อให้ภาพที่ถ่ายได้ ได้รับแสงที่พอควร กล้องก็จะต้องใช้เวลาในการเปิดรูรับแสงนานขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย เวลาในการเปิดรูรับแสงที่นานขึ้นกว่า 1 ส่วน 60 วินาฑี จะทำให้ภาพสั่นไม่ชัด ปัญหานี้จึงต้องแก้ด้วยการยึดกล้องเข้ากับแท่นถ่ายรูป พร้อมทั้งไม่ใช้นิ้วกดชัตเตอร์ แต่จะใช้โหมดการตั้งถ่ายตนเอง ในกรณีที่กล้องไม่สามารถใช้สายลั่นชัตเตอร์ได้
อันเนื่องมาจากว่า แสงที่ตกกระทบวัตถุ แล้วสะท้อนเข้าเลนซ์กล้องถ่ายรูปแล้วตกลงบนฟิลม์ หรือจอรับภาพไวแสงในตัวกล้อง แล้วได้ภาพที่สว่างพอดีได้นั้น อยู่ที่ว่ารูรับแสงเปิดไว้เล็กหรือใหญ่ เมื่อเราเปิดรูรับแสงไว้เล็กๆ เวลาที่ต้องใช้ในการเปิดรูรับแสงก็ต้องนานขึ้น เพื่อชดเชยให้ได้แสงที่พอดี กลับกัน ถ้าเราเปิดรูรับแสงให้ใหญ่ เวลาที่ใช้ในการเปิดรูรับแสงก็ต้องสั้นลง กล้องโดยมากที่สามารถตั้งค่าโหมด การเปิดรูรับแสงของเลนซ์ได้ เช่น A , S และ M และ Auto และ P ( Program )
โหมด A ( Aperture Priority ) ปกติเพื่อให้ภาพเกิดความชัดลึกสูงๆ ให้ตั้งไปที่ A ซึ่งจะบอกให้กล้องรู้ว่า เราจะตั้งค่าการเปิดรูรับแสงให้ ซึ่งจะต้องตั้งไว้ที่รูรับแสงที่เล็กๆ เช่นที่ F16 หรือเล็กกว่านั้น ส่วนเวลาที่ใช้ในการเปิดรูรับแสงนั้น ให้กล้องคำนวณให้เรา
โหมด S ( Shutter Priority ) ในโหมดนี้กล้องจะให้เรา ตั้งเวลาในการเปิดรูรับแสงให้ก่อน ตัวเลขของเวลาในการเปิดรูรับแสงนี้มีหน่วยเป็น 1 ในเศษส่วนของวินาฑี จนถึงเป็นวินาฑี จากนั้นกล้องจะคำนวณว่าจะเปิดรูรับแสงเท่าใดให้เรา เมื่อเป็นเช่นนี้ รูรับแสงเราไม่ได้เป็นผู้กำหนด ดังนั้นเราไม่สามารถควบคุมความชัดลึกของภาพได้ เนื่องจากกล้องกำหนดให้เรา ฉนั้นการถ่ายในโหมดนี้จึงไม่เหมาะ
โหมด M ( Manual ) โหมดตั้งค่าเอง โดยกล้องจะให้เรากำหนดค่าเองทั้งขนาดการเปิดรูรับแสง และเวลาที่จะใช้ในการเปิดรูรับแสง ผู้ใช้โหมดนี้จะต้องมีประสพการณ์ หรือมีมิเตอร์วัดแสงไว้วัดแสง แล้วตั้งค่ามิเตอร์กำหนด อนึ่งการตั้งค่าที่ไม่เหมาะสมถูกต้องจะทำให้ ภาพที่ได้สว่าง เกินไป หรือมืดเกินไปได้ ดังนั้นผู้ไม่มีความชำนาญ ไม่ควรใช้โหมดนี้
นอกจากนี้ยังมีโหมด P ( Program ) หรือ Auto ซึ่งกล้องจะวัดแสงและคำนวณค่าของการเปิดรูรับแสง และเวลาในการเปิดรูรับแสงให้เราโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็จะมีปัญหาว่าไม่สามารถควบคุมความชัดลึกของภาพได้ ในกล้องบางยี่ห้อ บางรุ่นไม่สามารถใช้งานเมื่อตั้งถ่ายรูปแบบมาโครได้ รวมทั้งโหมดนี้ก็ไม่เหมาะที่จะใช้งานดังกล่าว
ที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของกล้องที่จะต้องมีเพื่อความสะดวกในการถ่ายรูปพระ นอกจากกล้องแล้วเครื่องมือที่จำเป็นในการถ่ายรูปก็คือขาตั้งกล้อง หรือแท่นถ่ายรูป ซึ่งจะต้องยึดกล้องเข้ากับแท่นแล้วหันหน้าเลนซ์คว่ำลง แท่นถ่ายรูปที่สะดวกในการใช้งานควรจะมีขนาดกว้างพอสมควร เพราะนอกจากวางพระที่จะถ่ายแล้ว จะต้องวางกระจกสะท้อนแสง ที่จะตบแสงลบเงาที่เกิดขึ้น หรือสะท้อนแสงจากภายนอกเข้าไปยังองค์พระ ในส่วนที่แสงหลักส่องไปให้ความสว่างแก่องค์พระไม่ทั่วถึง ทำให้มองดูแล้วรู้สึกอึดอัด เช่นที่ด้านล่างขององค์พระ ถ้าไม่มีกระจกตบแสงเข้าไปยังจุดที่ว่านี้ ภาพที่ได้ก็จะไม่เห็นขอบล่างแต่จะเห็นขอบมืดหายไปเฉยๆ มีผู้ผลิตแท่นถ่ายรูปออกมาจำหน่าย ราคาไม่แพงและใช้ได้ดี กระจกสะท้อนแสงควรหาขนาดให้ใหญ่พอควร พลิกขึ้นลงสะดวก และต้องมีฐานที่มั่นคงไม่ล้มง่ายๆ บางทีอาจจะต้องเสริมขาตั้งให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถตบแสงลบเงาที่เกิดขึ้นในซอกแขนขององค์พระได้
การถ่ายภาพพระด้วยกล้องดิจิตอลเป็นการถ่ายภาพ พระที่วางอยู่บนโฟม หรือฟองน้ำในกล่องใส่พระพลาสติก ที่สำคัญ เพื่อไม่ให้กล้องวัดแสงรอบข้างองค์พระผิด ในกรณีที่ขนาดขององค์พระมีขนาดไม่ใหญ่ สีของฟองน้ำควรจะเป็นสีเทา หรือสีดำด้านสนิท เพราะถ้าหากพื้นที่ในการวัดแสง หลุดจากองค์พระ สีโทนนี้ จะไม่ค่อยมีผลกับการวัดแสงโดยรวมเหมือนกันกับสีโทนสว่าง อาจจะใช้วิธีพ่นสีที่ต้องการลงบนแผ่นฟองน้ำ แล้วตากแดดให้แห้ง ภาพที่ถ่ายได้จะมี ฉากหลัง ( BackGround ) เป็นฟองน้ำรูพรุน แต่หากเราไม่ชอบฉากหลังที่ว่านี้เราสามารถนำเอาภาพที่ได้นี้ไปเปลี่ยนฉากหลังเป็นสีอื่นภายหลัง ด้วยโปรแกรม Photoshop ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าเมื่อถ่ายรูปออกมาแล้วฉากหลังจะสวยหรือไม่ อนึ่ง การที่ใช้ฟองน้ำรองพระที่จะถ่ายรูป มักจะไม่ค่อยพบปัญหากับ การที่พระจะหันหน้าไม่ตรง หรือกะโดกกระเดก หากพระหันหน้าไม่ตรงให้จับพระยกขึ้น แล้ววางใหม่อีกทีก็แก้ปัญหาได้แล้ว
หากเราถ่ายรูปพระโดยให้พระวางอยู่บนกล่องกระจกซึ่งยกพื้นขึ้นมา แล้วมีกระดาษสีวางอยู่ด้านล่าง ใช้เป็นฉากหลัง
แบบเดียวกับการถ่ายรูปโดยกล้องใช้ฟิลม์ก็ย่อมได้ แต่มีข้อเสียว่า เมื่อเอาพระวางบนกระจก หากด้านหลังองค์พระไม่เรียบ พอวางบนกระจกแข็ง พระก็จะกระโดกกระเดก ทำให้ต้องเสียเวลาหนุนพระให้หันหน้าตรงกับเลนซ์อีกที
เมื่อมีอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้นี้พร้อม ก็มาเริ่มเตรียมอุปกรณ์กันเลย ก่อนอื่นให้เอากล้องยึดเข้ากับตัวแท่นถ่ายรูป โดยให้หน้าเลนซ์คว่ำลงเป็นแนวระนาบกับพื้น ไม่ให้เอียง ซ้ายหรือขวา และปรับความสูงของขายึด โดยให้หน้าเลนซ์อยู่สูงจากพื้น อย่างน้อย 20 ซ.ม. ทั้งนี้ก็เพราะกล้องบางตัวบางยี่ห้อ เมื่อเปิดสวิชกล้องให้ทำงาน มอเตอร์ในเลนซ์จะขับให้ตำแหน่งของเลนซ์ยื่นลงมาด้านล่างอีก ร่วม 2 - 3 ซ.ม. หากเลนซ์เคลื่อนลงมายังไม่สุด แต่มาติดพื้นเสียก่อน กล้องอาจจะเสียหายได้ หรือไม่เช่นนั้น หากตัวเลนซ์เคลื่อนลงมากดบนพระที่วางอยู่ข้างใต้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ลองนึกเอาเอง
แท่นถ่ายรูปควรวางอยู่บนโต๊ะที่แข็งแรงไม่กระโดกกระเดก ไม่ควรอยู่ใกล้ถนนที่มีรถวิ่งผ่าน แรงเสทือนของรถวิ่งจะทำให้ภาพพระสั่นไหวได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กล้องเปิดรูรับแสงจับภาพ หากเป็นการใช้แสงภายนอกโดยตรง ก็ให้หันขายึดกล้องไปด้านตรงข้ามกับแสงที่ส่องมา โดยให้ตัวกล้องหันไปในทิศทางที่แสงส่องมา
ให้เตรียมกระจกสะท้อนแสงกรอบพลาสติค ประมาณ 5 อัน ดังรูป ที่จะใช้เพื่อตบแสงลบเงาให้องค์พระด้านที่ไม่ได้รับแสง ขนาดของกระจกควรเป็น 20 ซ.ม. X 12 ซ.ม. ถ้ากระจกเล็กไป แสงสะท้อนที่กระทบกระจกแล้วสะท้อนไปที่องค์พระอาจส่องไม่ทั่วถึงทั้งองค์ บางทีอาจต้องเสริมฐานของกระจกสะท้อนแสงให้สูงขึ้น หรือหากล่องมาหนุนให้สูงก็ได้
เปิดสวิชกล้องถ่ายรูป กดสวิชที่ปุ่ม มาโคร หรือปุ่ม ซุเปอร์มาโคร เพื่อเตรียมถ่ายรูปใกล้ พร้อมกันนั้นเมื่อมองในช่องมองภาพ หรือที่จอภาพจะเห็นว่ากล้องสามารถโฟกัสสิ่งที่อยู่หน้าเลนซ์ได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นเลื่อนปุ่มโหมดในการถ่ายรูปไปที่ A
ในการถ่ายรูปพระเครื่องนั้น องค์พระจะมีแสงภายนอกมาตกกระทบ และก็จะมีแสงสะท้อนส่วนหนึ่งเข้ามายังเลนซ์ด้วย ทำให้เห็นภาพพระส่วนที่มีแสงสะท้อนไม่ชัด ทางแก้ก็คือใช้ฟิลเตอร์ Porarize ซึ่งใช้ตัดแสงสะท้อนสวมหน้าเลนซ์ แล้วหมุนให้ฟิลเตอร์ตัวนี้ทำมุมที่เหมาะสม จะเห็นด้วยตาเลยว่าแสงสะท้อนนั้นหายไป ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้ต้องเป็นฟิลเตอร์แบบ Circular Poralize เท่านั้น ( ยังมีฟิลเตอร์ แบบ Linear Porarize ด้วย ) ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพง นอกจากนั้นก็ยังมี อีกวิธีหนึ่งก็คือ ปรับปุ่มชดเชยการรับแสงให้รับแสงให้น้อยลง ราว 0.3 Ev – 0.7 Ev ซึ่งจะมีผลให้แสงสะท้อนลดลงเป็นส่วนใหญ่ได้เช่นกัน แถมวิธีนี้ไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม
เลื่อน ปุ่มปรับขนาดรูรับแสงไปที่ F11 หรือ เล็กกว่านั้น เพื่อให้ภาพที่จะถ่ายมีความชัดลึกสูง
จากนั้นนำพระที่จะถ่ายวางลงบนฟองน้ำในกล่องพลาสติค แล้วสอดเข้าไปข้างใต้เลนซ์ พยายามให้องค์พระอยู่ตรงกลางจอภาพ สามารถเห็นองค์พระทั่วทั้งองค์ หากไม่สามารถเห็นองค์พระได้ทั้งหมด ก็ให้เลื่อนกล้องขึ้น แต่หากต้องการให้องค์พระใหญ่ขึ้น หรือต้องการถ่ายเจาะเฉพาะส่วน ก็ให้เลื่อนกล้องลงโดยระวังไม่ให้ระยะระหว่างหน้าเลนซ์ถึงจุดที่จะโฟกัส ใกล้เกินกว่าที่กล้องจะสามารถโฟกัสได้ จากนั้นเลื่อนปุ่มการโฟกัสให้จับไปที่ใบหน้าขององค์พระ
เมื่อมาถึงขั้นนี้ให้เช็คโหมดการวัดแสงที่ตั้งไว้ ว่าเป็น ( แบบแบ่งเป็นส่วนๆ ให้น้ำหนักในส่วนที่ระบุมากกว่า ) Multi , ( แบบเฉลี่ย ) Average และ ( แบบจุด ) Spot ขอให้อ่านบทความข้างล่างนี้ แล้วตั้งค่าโหมดการวัดแสงให้ถูก
สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ว่าจะตั้งค่าการวัดแสงเป็นโหมดใดจะดีที่สุดนั้น ที่จริงแล้ว การวัดแสงแบบ Spot นั้นถูกต้องที่สุด ถ้าสีขององค์พระใกล้เคียงกันทั่วทั้งองค์ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าการวัดแสงแบบนี้นั้น เครื่องวัดจะวัดที่ตรงกลางของจอภาพเป็นกรอบไม่ใหญ่นัก ข้อสำคัญที่ต้องระวังไว้ด้วยก็คือ จุดในการวัดแสงไม่ได้เลื่อนไปตามจุดที่จะใช้โฟกัสปรับความชัด ถ้าองค์พระไม่ได้อยู่ตรงกลาง การวัดแสงที่ได้ก็จะผิดพลาด กลายเป็นการวัดแสงที่ฟองน้ำไป แต่ถ้าโหมดการวัดแสงเป็นแบบ 2 อย่างแรก ก็ไม่ค่อยมีผลแตกต่างกันมากนัก แต่จะเป็นการเอาค่าการวัดแสงในส่วนอื่น เอามาผสมเฉลี่ยคิดด้วย
มาถึงขั้นตอนนี้ ให้เรากดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่ง เพื่อให้กล้องวัดแสง และทำการโฟกัส แล้วลองมองดูภาพพระในช่องมองภาพ หรือ จอมองภาพ ว่าเห็นภาพพระชัดหรือไม่ ตำแหน่งในการโฟกัสถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกให้จัดตำแหน่งการวางใหม่ จากนั้นดูภาพพระอีกทีว่าภาพพระทั้งองค์สว่างทั่วถึงกันดีหรือไม่ ส่วนที่มืดไปให้เอากระจกสะท้อนแสงมาวางตรงกันข้าม หรือเฉียงๆกับแหล่งกำเนิดแสง แล้วหมุนให้กระจกรับแสงที่ส่องมา แล้วสะท้อนไปยังองค์พระส่วนที่มืด โดยเฉพาะด้านข้างองค์พระส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับแหล่งกำเนิดแสง และด้านฐานขององค์พระ ในซอกแขนลึกๆ หรือใต้คางที่เกิดมีเงาดำทาบอยู่ ก็ให้ใช้กระจกสะท้อนแสง วางรับแสงลบเงาให้ทุกส่วนไม่มีเงาดำ บางทีอาจจำเป็นต้องเสริมฐานของกระจกเงาสะท้อนแสงให้สูงขึ้นเพื่อตบแสงให้สาดลึกลงไปในซอกแขนที่นูนขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ
หากกล้องใดมีความสามารถในการ “ถ่ายคร่อม” หรือ Auto Bracketing ได้ ก็ให้เปิดใช้ความสามารถนี้ เพราะจะเป็นความสะดวกที่กดชัตเตอร์ทีเดียว ภาพที่ได้จากการถ่ายคร่อม จะได้ภาพชุดที่มีการเรียงระดับความสว่างไว้ให้เราเลือกเอาภาพที่ดีที่สุดภายหลัง เพราะกล้องดิจิตอลไม่เสียเงิน ในการซื้อฟิลม์ ภาพใดที่ไม่ดีเราก็ลบทิ้งเสีย การตั้งค่าความสว่างที่จะให้แ |